พ.ร.บ. คืออะไร ทำแล้วคุ้มครองอะไรบ้าง?

พ.ร.บ. คืออะไร ทำแล้วคุ้มครองอะไรบ้าง?

พ.ร.บ. คืออะไร ทำแล้วคุ้มครองอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หลาย ๆ คนคงเคยสงสัยว่า ทำไมเราต้องทำ “พ.ร.บ.รถยนต์” ด้วย ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร Tonkit360 ขออาสาพาไปรู้จักสิทธิประโยชน์ของ พ.ร.บ.รถยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกัน

พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร ?

     เป็น “ประกันรถยนต์ภาคบังคับ” ที่กฎหมายบังคับให้รถทุกประเภทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ต้องทำประกัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535 เสียก่อน จึงต่อทะเบียนรถได้ เหตุที่ต้องทำประกันภัยประเภทนี้ ก็เพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ โดยไม่คำนึงว่า บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่กระทำความผิดหรือไม่

ความคุ้มครองเบื้องต้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์

ค่าเสียหายเบื้องต้น

     ความคุ้มครองในส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องรอพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก โดยคุณจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น ภายใน 7 วัน ประกอบด้วย

     (1) กรณีได้รับบาดเจ็บ รับค่าชดเชยคนละ 30,000 บาท

     (2) กรณีสูญเสียอวัยวะ รับค่าชดเชยคนละ 35,000 บาท

     (3) กรณีเสียชีวิต รับเงินค่าทำศพคนละ 35,000 บาท

     (4) กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา รับค่าชดเชยคนละไม่เกิน 65,000 บาท

     (5) กรณีได้รับบาดเจ็บแล้วสูญเสียอวัยวะ รับค่าชดเชยคนละไม่เกิน 65,000 บาท

ค่าสินไหมทดแทน

     เป็นวงเงินชดเชยที่คุณได้รับภายหลังที่มีการพิสูจน์แล้วว่า คุณไม่ได้เป็นฝ่ายทำผิด (ต้องเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น) มีรายละเอียด ดังนี้

     (1) ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ เบิกตามจริงหรือไม่เกิน 80,000 บาท

     (2) ค่าชดเชยในกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาท

     (3) ค่าชดเชยในกรณีสูญเสียอวัยวะ

  • สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือ ตาบอด อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป 300,000 บาท
  • สูญเสียมือตั้งแต่ข้อมือ หรือแขน หรือเท้าตั้งแต่ข้อเท้า หรือขา หรือสายตา (ตาบอด) หรือหูหนวกเป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูดหรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว หรือเสียอวัยวะอื่นใด 250,000 บาท
  • สูญเสียนิ้วตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป ไม่ว่านิ้วเดียว หรือหลายนิ้ว 200,000 บาท

     (4) ค่าชดเชยการรักษาตัว (IPD) กรณีผู้ป่วยใน วันละ 200 บาท แต่ต้องไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท

     รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด คุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 304,000 บาท/คน

ถ้าไม่ทำ พ.ร.บ.รถยนต์ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

กรณีไม่ประสบอุบัติเหตุ

     แม้รถที่คุณใช้จะไม่ประสบอุบัติเหตุ คุณก็มีความผิดตามกฎหมายจราจรอยู่ดี โดยมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ รถคันดังกล่าวจะไม่สามารถต่อทะเบียนรถประจำปีได้ ทั้งยังโดนปรับ 400-1,000 บาท

กรณีประสบอุบัติเหตุ (คุณเป็นฝ่ายผิด)

     ในกรณีนี้ คู่กรณีของคุณสามารถใช้สิทธิ์ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ (กรมการประกันภัย และสำนักงานประกันภัยจังหวัดทั่วประเทศ)

     หลังจากนั้น สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถจะมาไล่เบี้ยคืนจากคุณ (เจ้าของรถที่ไม่มี พ.ร.บ.) โดยบวกเงินเพิ่มอีก 20% พร้อมปรับฐานฝ่าฝืนไม่ทำ พ.ร.บ. และฐานนำรถที่ไม่มี พ.ร.บ. มาใช้ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

     สำหรับค่าเสียหายที่เกิดกับรถของคู่กรณีนั้น เมื่อคุณไม่ได้ทำประกันภาคสมัครใจ เป็นผลให้คุณต้องรับผิดชอบค่าซ่อมทั้งหมดด้วยเงินของตนเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook