เช็กด่วน! รถ 8 ยี่ห้อติดตั้งถุงลมเสี่ยงตาย "Takata" หลังพบยังเหลืออีกกว่า 6 แสนคัน
สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 8 บริษัท เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐานจาก Takata ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังพบว่ายังมีรถยนต์ในไทยที่มีการใช้งานถุงลมนิรภัยดังกล่าวกว่า 6 แสนคัน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 8 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า, บีเอ็มดับเบิลยู, นิสสัน, โตโยต้า, มิตซูบิชิ, มาสด้า, เชฟโรเลต และฟอร์ด ที่ได้มีการขายรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทยมากว่าสิบปี เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งในประเทศไทย ซึ่งได้รับการยืนยันจากการชันสูตรว่าเกิดจากเศษโลหะของชิ้นส่วนถุงลมนิรภัยที่ตกมาตรฐาน ยี่ห้อทาคาตะ (Takata) นั้น สภาองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องบริษัทรถยนต์ 8 ยี่ห้อ ให้ทำการเปลี่ยนถุงลมยี่ห้อนี้ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียถึงชีวิต ให้กับผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ ยังมีรถยนต์ในไทยที่ยังมีการใช้งานอยู่ กว่าหกแสนคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยอันตรายนี้
ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัย Takata เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และได้มีการเรียกคืนรถจำนวนเกือบ 100 ล้านคันเพื่อเข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมาตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ประเทศไทยมีรถจำนวนกว่า 1.7 ล้านคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยดังกล่าว และได้มีการเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนถุงลมไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีรถอีกกว่า 6 แสนคันที่ยังไม่ได้เข้ารับการเปลี่ยนถุงลม
ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์ หัวหน้าสาขาวิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยเคยมีกรณีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ซึ่งจากการชันสูตรยืนยันได้ว่าเป็นการเสียชีวิตจากชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากถุงลมนิรภัย หนึ่งในการชันสูตรศพกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เคยเกิดขึ้น ได้พบบาดแผลผู้เสียชีวิตฉีกขาดเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 ซม. บริเวณกลางหน้าอกด้านบน ลึกไปจนถึงกระดูกสันหลังช่วงคอ และพบชิ้นส่วนโลหะฝังตัวในกระดูกสันหลัง โดยสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวที่ทะลุบริเวณคอและหน้าอกส่วนบน ทั้งนี้ชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวมีลักษณะเข้าได้กับชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นยี่ห้อทาคาตะ
ชีพ น้อมเศียร ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมฯ ได้รับรายงานปัญหาถุงลมนิรภัยบกพร่องดังกล่าวตั้งแต่เริ่มมีข่าวการประกาศเรียกคืน (Recall) ในต่างประเทศ และจากการตรวจสอบพบรถที่มีถุงลมนิรภัยบกพร่องจำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน ในปี 2561 กรมฯ จึงร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากมีการติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถแก้ไขชุดถุงลมนิรภัยไปได้จำนวน 1,045,336 คัน คิดเป็นร้อยละ 60.6 แต่ยังคงเหลือรถอีกจำนวน 680,480 คัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัย
นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังเตรียมดำเนินการในระยะที่ 2 คือ บูรณาการข้อมูลรถที่ยังไม่ได้แก้ไขชุดถุงลมนิรภัยเข้ากับฐานข้อมูลการชำระภาษีของกรมฯ เมื่อรถที่อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยทำการชำระภาษีผ่านช่องทางใดก็ตาม จะมีการแจ้งเตือนให้นำรถไปเปลี่ยนชุดถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่า ระบบจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2565 นี้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ จะใช้สื่อช่องทางต่าง ๆ ของกรมฯ ในการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถได้รับทราบข้อมูลโดยเร็ว
ทั้งนี้ เจ้าของรถสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านเว็บไซต์สภาองค์กรของผู้บริโภค https://www.tcc.or.th/appeal/warning-airbag, เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก, เว็บไซต์ www.checkairbag.com หรือนำรถเข้าไปที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือติดต่อผ่านฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ หรือติดต่อสายด่วน 1584 เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ