รีวิว Mitsubishi Xpander 2022 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ใส่เกียร์ CVT ลื่นปรื๊ดกว่าเดิม

รีวิว Mitsubishi Xpander 2022 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ใส่เกียร์ CVT ลื่นปรื๊ดกว่าเดิม

รีวิว Mitsubishi Xpander 2022 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ใส่เกียร์ CVT ลื่นปรื๊ดกว่าเดิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     Mitsubishi Xpander 2022 โฉมไมเนอร์เชนจ์ใหม่ เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะนอกจากนี้มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยลงตัวยิ่งขึ้นแล้ว ยังหันไปใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT เป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยในเรื่องของการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวลและลดอัตราสิ้นเปลืองลง แต่ของจริงจะเป็นอย่างไรไปติดตามได้ในบทความนี้ครับ

xpander_38

     Mitsubishi Xpander โฉมไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok International Motor Show 2022 เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะประกาศราคาจำหน่ายตามมาอีกครั้งในวันที่เราได้ทำการทดสอบพอดิบพอดี โดยมีราคาตัวท็อปสุด (รุ่น GT) อยู่ที่ 895,000 บาท เทียบกับคู่แข่งอย่าง Toyota Veloz ที่มีราคาตัวท็อป (รุ่น Premium) ถูกกว่ากันเล็กน้อยอยู่ที่ 875,000 บาท ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า Xpander มีอะไรที่จะสู้เขาได้บ้าง

     สำหรับ Mitsubishi Xpander รุ่นปี 2022 ใหม่ มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่นย่อย ประกอบด้วย

  • รุ่น GLS-LTD
  • รุ่น GT

     โดยทั้ง 2 รุ่น ล้วนแต่มีห้องโดยสารแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง พร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร พ่วงเกียร์อัตโนมัติ CVT จะแตกต่างกันก็เพียงอุปกรณ์มาตรฐานติดรถทั้งภายนอกและภายในเท่านั้น

ภายนอก

     แม้ว่าจะเป็นเพียงการปรับไมเนอร์เชนจ์กระตุ้นยอดขายกลางอายุตลาด แต่มิตซูบิชิก็ได้มีการปรับรูปลักษณ์ของ Xpander ในหลายส่วนจนเรียกว่าเป็นการ “บิ๊กไมเนอร์เชนจ์” เลยก็ว่าได้ ไล่มาตั้งแต่กันชนหน้า, ไฟหน้า, กระจังหน้า, ฝากระโปรงหน้า และแก้มข้างด้านหน้า ขณะที่ด้านท้ายถูกยกเครื่องใหม่เช่นกัน ทั้งไฟท้าย, ประตูท้าย, กันชนท้าย, สปอยเลอร์ ฯลฯ รวมไปถึงกาบข้างบริเวณชายประตูและล้ออัลลอย

xpander_50

     ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ Xpander โฉมไมเนอร์เชนจ์ มีความยาวด้านหน้าเพิ่มขึ้น 75 มม. ด้านท้ายเพิ่มขึ้น 45 มม. ทั้งยังมีการปรับปรุงช่วงล่างด้านหลังด้วยการเพิ่มขนาดกระบอกโช้กอัปเพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในการขับขี่ แถมยังมีความสูงเพิ่มขึ้นจากเดิม 15-20 มม. ส่งผลให้มีความสูงจากพื้นถนนอยู่ที่ 220 มม. ใกล้เคียงกับรถเอสยูวี จึงสามารถรองรับการลุยน้ำท่วมหรือขับผ่านพื้นที่ทุรกันดารได้ดีกว่าเดิม

     สำหรับ เอ็กซ์แพนเดอร์ รุ่น GT ที่เราได้มีโอกาสทดสอบในครั้งนี้ ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานภายนอก เช่น ไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ฮาโลเจน (ซึ่งยุคนี้ควรจะหันไปใช้ไฟหน้าแบบ LED ได้แล้ว), ไฟหรี่แบบ LED, ไฟตัดหมอกคู่หน้า, ไฟท้ายแบบ LED-illumination Tube ที่ออกแบบให้เป็นรูปทรงตัว T ดูมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น, กระจกหน้าที่เพิ่ม Sound Insulation Film ช่วยลดเสียงรบกวน, กระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า พร้อมไฟเลี้ยว LED, ระบบปัดน้ำฝนแบบปรับตั้งหน่วงเวลา, เสาอากาศแบบครีบฉลาม และล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 205/55 R17

xpander_48

     แม้ว่าดีไซน์ของ เอ็กซ์แพนเดอร์ ใหม่ จะถูกออกแบบให้มีความทันสมัย มีเส้นสายที่โฉบเฉี่ยวและดูลงตัวกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด แต่น่าเสียดายที่มันยังคงใช้ไฟหน้าแบบฮาโลเจน แทนที่จะเป็นแบบ LED ตามสมัยนิยม แถมยังไม่มีไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (DRL) มาให้อีกต่างหาก ถ้าเทียบกับราคาจำหน่ายที่ตั้งไว้เฉียด 9 แสนบาท ก็ทำให้เอ็กซ์แพนเดอร์ลดความน่าใช้ลงไปเยอะ (แต่ทางมิตซูบิชิเองก็แอบกระซิบมาว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างการสั่งไฟหน้าแบบ LED มาเป็นออปชันเสริมให้กับลูกค้า โดยจะเป็นการติดตั้งภายหลังที่ดีลเลอร์ ส่วนจะต้องเพิ่มเงินอีกเท่าไหร่คงต้องไปคุยกับเซลส์กันเอาเอง)

ภายใน

     ภายในห้องโดยสารของ เอ็กซ์แพนเดอร์ ใหม่ ถูกปรับปรุงชนิดยกเครื่องไม่แพ้ภายนอก เพราะไม่ว่าจะเป็นแผงคอนโซลและแผงประตูล้วนแต่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยมิตซูบิชิมุ่งเน้นให้ห้องโดยสารดูโปร่งสบาย มีความทันสมัย ควบคู่ไปกับความหรูหราน่าสัมผัสมากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่ามิตซูบิชิทำออกมาได้ดี ไม่เล่นลวดลายฉูดฉาดจนเกินงามเหมือนกับรถหลายยี่ห้อ ทำให้ห้องโดยสารของเอ็กซ์แพนเดอร์ดูมีความอบอุ่น สบายตา เหมาะกับสไตล์รถครอบครัวเป็นอย่างดี

xpander_25

     ในรุ่น GT จะถูกตกแต่งด้วยโทนสีน้ำตาล-ดำ ตัดกับชิ้นส่วนสีเงินในบางจุด ติดตั้งเบาะนั่งหนังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน (Heat Guard Function) ตกแต่งด้วยลวดลายตะเข็บคู่เพิ่มความพรีเมียม โดยเบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบปรับระดับด้วยมือ พร้อมกลไลปรับสูง-ต่ำฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 2 สามารถปรับเลื่อนหน้า-หลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่โดยสารให้กับผู้โดยสารแถวที่ 3 และสามารถปรับเบาะแยกแบบ 60:40 รวมถึงพนักพิงที่ปรับแยกได้แบบ 40:20:40 ซึ่งแปลว่าผู้โดยสารแถวที่ 2 สามารถพับส่วนที่เป็น 20 ลงมาเพื่อใช้เป็นที่วางแขน ซึ่งมีหลุมวางแก้วน้ำ 2 ตำแหน่งมาให้ด้วย

     ส่วนเบาะนั่งแถวที่ 3 เป็นแบบปรับพับแยก 50:50 และสามารถปรับเอนพนักพิงได้ ส่วนคุณภาพในการนั่งโดยสารต้องยอมรับว่าหากเป็นผู้โดยสารผู้ใหญ่ จะมีความรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แม้ว่าจะสามารถปรับเลื่อนเบาะนั่งแถวที่ 2 ไปทางด้านหน้าเพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาก็ตาม ซึ่งจุดนี้พบว่า Veloz ทำได้ดีกว่านิดหน่อยในแง่การจัดการพื้นที่โดยสารแถว 3 (แต่ก็ดีกว่าเพียงนิดเดียวเท่านั้น)

xpander_03

     ขณะที่ระบบปรับอากาศตอนหลังสำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2 และ 3 จะถูกติดตั้งไว้เหนือเพดานบริเวณแถวที่ 2 สามารถปรับแรงลมได้ 3 ระดับ ให้ความเย็นฉ่ำทั่วทั้งห้องโดยสารแม้ในวันที่มีอากาศร้อนๆ เหมาะกับสภาพอากาศในบ้านเราเป็นอย่างดี

     ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานของ Xpander รุ่น GT ก็มีให้แบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยแบบ 3 ก้านหุ้มหนังดีไซน์ใหม่ สามารถปรับระดับได้ 4 ทิศทาง, เรือนไมล์แบบ High Contrast พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 4.2 นิ้ว, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชัน Max Cool (แถมยังสามารถปรับลมให้แอร์เป่าเท้าได้ ซึ่ง Veloz ทำไม่ได้), กุญแจอัจฉริยะ KOS พร้อมปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control, ระบบเบรกมือไฟฟ้าพร้อม Brake Auto Hold, ช่องเชื่อมต่อ USB ด้านหน้า 1 ตำแหน่ง พร้อมช่องชาร์จไฟ USB-A และ USB-C สำหรับผู้โดยสารตอนหลังอย่างละ 1 ช่อง และกล่องเก็บของขนาดใหญ่ระหว่างเบาะนั่งคู่หน้า ซึ่งสามารถใช้เป็นที่เท้าแขนได้แบบสบายๆ

xpander_24

     ด้านระบบความบันเทิงของรุ่น GT ถูกติดตั้งหน้าจอแบบสัมผัสขนาด 9 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านสาย USB (ไม่มีระบบ Wireless) ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 6 ตำแหน่งรอบห้องโดยสาร ซึ่งคุณภาพเสียงถูกจัดอยู่ในระดับพอฟังได้เท่านั้น หากเป็นพวกหูเทพที่ต้องการแบบแยกเครื่องดนตรีได้ชัดเจน หรือชอบเบสตึ้บๆ ก็อาจขัดใจไปเสียหน่อย

     ส่วนระบบความปลอดภัยก็มีให้แบบครบๆ ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ASC, ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HSA, ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ ESS, ระบบไฟ Welcome Light และ Coming Home Light, ระบบล็อกประตูอัตโนมัติเมื่อรถมีความเร็ว, ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า, กล้องมองภาพด้านหลังขณะถอยจอด (Rear View Camera), จุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX 2 ตำแหน่ง และถุงลมนิรภัยคู่หน้า 2 ใบ เป็นต้น

xpander_11

     น่าเสียดายที่ เอ็กซ์แพนเดอร์ ไม่มีระบบความปลอดภัยขั้นสูงประเภทระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ, ระบบตรวจจับจุดอับสายตา หรือระบบตรวจจับเส้นแบ่งเลนมาให้ แถมยังมีถุงลมนิรภัยเพียงแค่ 2 ใบเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดเสียเปรียบพอสมควรเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยมาให้ครบครันมากกว่า ซึ่งอันนี้คงต้องยอมรับว่า เอ็กซ์แพนเดอร์ เป็นโปรดักส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเอาใจชาวอินโดนีเซียเป็นหลัก ซึ่งระบบความปลอดภัยอาจเป็นเรื่องรองเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ (แต่ใน Veloz ก็ดันมีให้ทั้งถุงลม 6 ใบ, ระบบเตือนจุดอับสายตา BSM และระบบเตือนรถเคลื่อนผ่านขณะถอยหลัง RCTA นี่สิ)

เครื่องยนต์

     ระบบขับเคลื่อนของ Mitsubishi Xpander ไมเนอร์เชนจ์ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะแม้ว่าจะยังคงใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร MIVEC ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที แต่ได้มีการเปลี่ยนจากเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด มาเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT (หรือที่มิตซูบิชิเรียกว่า Eco-Dynamic CVT) ส่งผลให้การเปลี่ยนเกียร์ทำได้ราบรื่นไร้รอยต่อ และช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองลงได้

xpander_26

     นอกจากนี้ การหันไปใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ของ Xpander ยังส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ฉับไวขึ้น โดยมิตซูบิชิระบุว่าสามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้ในเวลา 13.4 วินาที เทียบกับเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีดเดิม ที่ใช้เวลาราว 15.4 วินาที ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการทำงานของระบบเกียร์ CVT ล้วนๆ

การขับขี่

     การทดสอบครั้งนี้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยัง อ.หัวหิน บนเส้นทางที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ซึ่งมีระยะห่างของอัตราทดเกียร์ค่อนข้างกว้าง ทำให้การเปลี่ยนเกียร์ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร คราวนี้เมื่อหันมาใช้เกียร์ CVT ก็ทำให้การตอบสนองเป็นไปอย่างนุ่มนวลไร้รอยต่อ แต่ถึงกระนั้นแรงดึงของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ไร้ระบบช่วยอัดอากาศ ก็ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้รีบร้อนนัก เพราะอัตราเร่งระดับ 13-14 วินาที ก็เทียบได้กับรถระดับอีโคคาร์พิกัด 1.2 ลิตรเท่านั้นเอง เรียกว่าพอสำหรับการใช้งานโดยทั่วไป

xpander_39

     จุดเด่นอีกอย่างของ Xpander ไมเนอร​์เชนจ์ คือ ช่วงล่างที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเราจะนั่งโดยสารกันเพียง 2 คนก็ตาม ทำให้การโดยสารเป็นไปอย่างผ่อนคลายไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล และยังถือเป็นเซ็ตติ้งที่เหมาะสมสำหรับรถครอบครัวสไตล์นี้อยู่แล้ว ขณะที่การยึดเกาะถนนก็ทำได้ดีพอประมาณ ภายใต้ข้อจำกัดของยางประหยัดน้ำมัน Bridgestone EP150 ที่ติดตั้งมาให้จากโรงงาน (ถ้ายอมกัดฟันเปลี่ยนเป็นยางสปอร์ตหรือยางนุ่มเงียบตัวท็อปๆ จะขับสนุกกว่านี้เยอะ เพราะช่วงล่างของ Xpander ทำมาได้ดีอยู่แล้ว)

     เดิมที Xpander ก็เป็นรถเอ็มพีวีระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่โดดเด่นในการความเงียบของห้องโดยสารอยู่แล้ว แต่ในรุ่นไมเนอร์เชนจ์มีการปรับปรุงเพื่อลดเสียงรบกวนยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระจกบังลมหน้าแบบป้องกันเสียงรบกวน ที่มีฟิล์มชนิดพิเศษอยู่ในเนื้อกระจก ทำให้เสียงลมปะทะจากด้านหน้าเบาลง ทั้งยังเพิ่มวัสดุป้องกันเสียงรบกวนบริเวณประตู, หลังคา และพื้นห้องโดยสาร ช่วยป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีกว่าเดิม

xpander_28

สรุป

     Mitsubishi Xpander ใหม่ มีการปรับปรุงดีขึ้นกว่าเดิมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยมากขึ้น การหันไปใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT ก็ช่วยให้สมรรถนะดีขึ้นกว่าเกียร์ 4 สปีดเดิมอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน เช่น เบาะนั่งหุ้มหนังสะท้อนความร้อน, ระบบเบรกมือไฟฟ้าพร้อม Brake Auto Hold รวมถึงของกระจุกกระจิกต่างๆ ก็ช่วยให้ Xpander ไมเนอร์เชนจ์มีความน่าใช้ขึ้นกว่าเดิม

     แต่ถึงกระนั้น หากมองในแง่อุปกรณ์มาตรฐานติดรถของ Xpander ก็อาจด้อยกว่าคู่แข่งไปบ้าง แถมยังมีราคาจำหน่ายตัวท็อปขึ้นไปเกือบจะแตะ 9 แสนบาท ก็คงขึ้นอยู่กับคุณผู้อ่านแล้วว่าจะพิจารณาจุดใดเป็นสำคัญในการเลือกรถคันใหม่ของคุณเอง

ราคาจำหน่าย Mitsubishi Xpander 2022 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่

  • รุ่น GLS-LTD ราคา 799,000 บาท
  • รุ่น GT ราคา 895,000 บาท

 

อัลบั้มภาพ 46 ภาพ

อัลบั้มภาพ 46 ภาพ ของ รีวิว Mitsubishi Xpander 2022 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ใส่เกียร์ CVT ลื่นปรื๊ดกว่าเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook