ถุงลม (ไม่) นิรภัย
หากจะมีอุปกรณ์สักชิ้นในรถยนต์ ที่เจ้าของไม่อยากใช้งานมันเลยตลอดอายุการใช้รถคันนั้น ๆ อุปกรณ์ชิ้นนั้น คือ ถุงลมนิรภัย หรือ Airbag ครับ เพราะเมื่อไหร่ที่อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำงาน หมายความว่ารถของคุณชนแล้ว!
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเฟซบุ๊กของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้ใช้รถ นั่นก็คือเรื่องของถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ทั้งหมด 8 ยี่ห้อในบ้านเรา ว่าเป็นถุงลมที่ไม่ปลอดภัย
โดยปัญหาของ “ถุงลม (ไม่) นิรภัย” ยี่ห้อที่ว่านี้ ถูกติดตั้งในรถเกือบ 100 ล้านคันทั่วโลก และเคยมีเคสอุบัติเหตุที่ชนไม่หนัก แต่ถุงลมทำงาน จนทำให้ผู้ที่อยู่ในรถบาดเจ็บและเสียชีวิตมาแล้ว ฉะนั้นบอกเลยว่านี่คือสิ่งที่เจ้าของรถห้ามปล่อยผ่าน
ปกติแล้วเราจะได้ยินข่าว ค่ายรถเรียกคืนอะไหล่บางชิ้นหรือที่เรียกว่า Recall ซึ่งในกรณีนี้ก็เช่นกันครับ เพราะที่ผ่านมาบรรดาค่ายรถทั้ง 8 ยี่ห้อได้ก็ได้ร่อนจดหมายให้กับเจ้าของรถนำรถเข้ามาเปลี่ยนถุงลมฟรีตั้งแต่ปี 2018 แล้ว
ข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า ในเมืองไทยมีรถที่ติดตั้งถุงลมเจ้าปัญหานี้ราว 1.7 ล้านคัน และเจ้าของรถได้นำรถเข้ามาแก้ไขอุปกรณ์ชิ้นนี้แล้วประมาณ 1 ล้านคัน เท่ากับว่าเหลืออีกเกือบ 7 แสนคัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยน
ซึ่งรถทั้ง 8 ยี่ห้อ ประกอบไปด้วย ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู นิสสัน โตโยต้า มิตซูบิชิ มาสด้า เชฟโรเลต และฟอร์ด ส่วนจะเป็นรุ่นไหนบ้าง สามารถนำเลขตัวถังของรถคุณไปกดเช็กได้เลยที่ www.checkairbag.com ครับ
ท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แล้วใช้รถ 1 ใน 8 ยี่ห้อนี้ก็ลองเข้าไปเช็กกันดูนะครับ ส่วนท่านที่ไม่ได้มีรถ 1 ใน 8 ยี่ห้อนี้ก็ขออนุญาตแนะนำว่า หากมีจดหมายจากบริษัทรถยนต์ของท่านเรียกให้เข้าไปเปลี่ยนอะไร ก็ควรรีบนำรถเข้าไปเปลี่ยนเช่นเดียวกัน
การเรียก Recall ของบริษัทรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ใด ๆ ทั้งหมดเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัยทั้งสิ้นนะครับ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นมีทางใดที่ช่วยป้องกันได้ก็ควรทำให้เร็วที่สุดครับ
ผู้เขียน: ธันยเดช เกียรติศิริ