ขับรถทางไกลทุกครั้ง ต้องระวังสิ่งนี้ให้ดี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและทีมงาน Tonkit360 มีโอกาสได้ขับรถแบบ Road Trip เส้นทางกรุงเทพฯ ขึ้นเหนือไปสุดที่เชียงใหม่ ซึ่งผมเป็น 1 ใน 2 ของผู้ที่ทำหน้าที่ขับ สลับมือกับ “พี่เดื่อ ธีรพัฒน์” ในทริปนี้ ถือเป็นการได้ขับรถทางไกลแบบระยะทางไกลจริง ๆ ของผมอีกครั้งในรอบหลาย ๆ ปีครับ เพราะก่อนหน้านี้ ไกลสุดก็ระยอง, เขาใหญ่ และลพบุรี อยู่ประมาณนี้
หลังจากทั้งเป็นคนนั่งและคนขับทริปไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทางรวมแตะ 1,400 กิโลเมตร ก็ขออนุญาตรวมรวมสิ่งที่ควรสังเกตและระมัดระวังในการขับรถระยะไกลมาฝากกันครับ
ระวังง่วง
หากเราสังเกตคำเตือนระหว่างเส้นทางหลวงยาว ๆ แบบนี้ เราจะเห็นป้ายเตือน “ระวังหลับใน” และ “ง่วงให้จอดพัก” อยู่เป็นระยะนะครับ บอกเลยว่าอาการหลับในขณะขับรถคือสิ่งที่อันตรายมาก ๆ สมัยวัยรุ่นผมเคยขับรถทางไกลแบบนี้ แล้วรู้สึกถึงอาการวูบแบบนี้มาแล้ว ยังดีที่ครั้งนั้นยังรู้สึกตัวและไม่ได้เกิดเหตุอะไร แต่ความ “ง่วง” บอกเลยครับว่าจะพาคนทั้งรถไปสู่อุบัติเหตุได้
โดยเฉพาะทางตรงยาว ๆ ที่ขับทำความเร็วได้ต่อเนื่องหลายสิบกิโลเมตรนี่ตัวดีเลยครับ เนื่องจากหากเกิดอะไรขึ้นมาความเร็วระดับนั้น (อย่างน้อยต้องมี 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หากหลุดขอบถนนหรือตกขอบทาง เรื่องใหญ่แน่นอนครับ เฉพาะนั้นหากเป็นคนขับก็ต้องมั่นใจว่าพักผ่อนให้เพียงพอ รู้ตัวว่าง่วงให้จอดทันที และหากไม่ได้เป็นคนขับก็นอนตุนเอาไว้ก่อนดีที่สุดครับ
ระวังรถใหญ่
เส้นทางสายเหนือโดยเฉพาะจากจังหวัดตากขึ้นไป เริ่มที่จะมีเส้นทางขึ้นเขาเยอะ คล้าย ๆ กับเส้นทางเข้าสู่เส้นอีสาน ที่มักจะมีรถบรรทุกหรือรถที่ขนของหนักใช้เส้นทางร่วมด้วย แน่นอนว่ารถที่หนักก็มักจะหลบซ้ายให้แซงขึ้นไปเป็นปกติอยู่แล้ว ในทริปนี้่ผมโชคดีที่เจอพี่ ๆ ร่วมทางรถบรรทุกซึ่งน่ารักมาก ส่วนใหญ่จะหลบซ้าย พร้อมให้สัญญาณไฟเปิดทางให้เราแซงขึ้นไป
แต่มันก็มีบางจังหวะเหมือนกันที่รถบรรทุกที่หนักน้อยกว่า พยายามขยับออกขวาเพื่อแซงรถบรรทุกคันที่หนักกว่าแบบกะทันหันเกินไป ทำให้รถของเราที่ขับมาเลนขวาต้องชะงักและเบรกตัวโก่งก็มี ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ต้องระวังในการขับทางไกลครับ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงจังหวะยูเทิร์นของเหล่ารถบรรทุกหรือกระทั่งรถเล็ก เราที่มาทางตรงก็ควรต้องชะลอความเร็วเอาไว้ก่อน
ระวังรถแช่ขวา
ตามกฎหมายจราจร การขับรถแช่ขวาถือว่ามีความผิดนะครับ ความคิดของคนขับรถประเภทที่ว่าขับแช่ขวาไม่เป็นไร เพราะคิดว่าตัวเองใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด บอกเลยว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ตามมาตรา 34 บัญญัติว่าถนนที่มีการแบ่งเส้นจราจรมากกว่า 2 เลนขึ้นไป ผู้ขับขี่ต้องขับชิดขอบทางด้านซ้าย หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ในการขึ้นเหนือทริปนี้ ช่วงที่ผมขับ สังเกตว่าผมเจอรถช้าที่วิ่งเลนขวาแล้วไม่หลบซ้ายกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเข้าใจได้นะครับว่า เลนซ้ายถนนอาจไม่ดีเพราะรถหนักวิ่ง แต่การที่มีรถเร็วกว่า (ไม่จำเป็นว่าจะมาเร็วมาก เร็วน้อย) วิ่งมาเพื่อเตรียมจะแซง ตามมารยาทรถช้าที่อยู่ข้างหน้าควรจะต้องหลบซ้าย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องระวังครับ
ระวังความเร็วเกิน
สิ่งที่ต้องระวังสิ่งสุดท้าย คือเรื่องของการตรวจจับความเร็ว รถยนต์ยุคนี้หากขับทางไกลหรือทางโล่ง ก็อดไม่ได้ที่จะต้อง “เหยียบ” แต่การเหยียบก็ต้องอยู่ภายใต้กฎจราจรด้วย ที่ผ่านมาผมเคยโดนใบสั่งถ่ายรูปส่งมาที่บ้านเป็นประจำ แต่เส้นทางสายเหนือจะมีจุดที่เจ้าหน้าที่คอยตรวจจับความเร็วอยู่นะครับ เพราะเขาจะมีกล้องดักจับอยู่เป็นระยะ
ตามกฎจราจรที่อัปเดตล่าสุด ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่มีทางเดินรถตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถขึ้นไป สำหรับรถยนต์ทั่วไป เลนขวาจะต้องวิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. และสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. และตลอดเส้นทางก็จะมีป้ายบอกเรื่องจุดตรวจจับความเร็ว หรือโซนที่ให้ลดความเร็ว หากทำตามนี้ได้ ก็หมดห่วงเรื่องโดนพี่ตำรวจโบกแน่นอนครับ
ส่วนบางคนอาจจะเลือกใช้ Cruise Control ล็อกความเร็วเอาไว้ตามกฎหมาย แต่สำหรับผม มองว่ากับระยะทางยาว ๆ แบบนี้ มันจะยิ่งเสี่ยงที่เผลอและง่วงได้ ฉะนั้น ความคุมความเร็วด้วยเท้าตัวเองเป็นดีที่สุดครับ