วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ตรวจสอบได้เองง่ายๆ ค้างกี่ใบรู้หมด จ่ายค่าปรับได้ทันที
วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่ามีใบสั่งจราจรค้างจ่ายกี่ใบ พร้อมทั้งดำเนินการชำระค่าปรับผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที
จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลแถลงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายจราจร และไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด จนอาจทำไปสู่การถูกออกหมายจับ ซึ่งปัจจุบันมีผู้กระทำผิดไม่ไปชำระค่าปรับเป็นจำนวนมาก ทั้งยังคงมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาจราจรตามมา โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา และสามารถตรวจสอบย้อนหลังใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ (ระยะเวลา 1 ปี) โดยเน้นกรณีกระทำผิดซ้ำซากก่อน
ทั้งนี้ ยังคงมีประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่าตนเองได้รับใบสั่งจราจร เช่น กรณีเปลี่ยนที่อยู่, มีการซื้อ-ขายรถยนต์ไปแล้วแต่ยังไม่โอนเป็นชื่อเจ้าของใหม่ และอื่นๆ โดยปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำเว็บไซต์ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ ptm.police.go.th ที่สามารถแสดงประวัติการได้รับใบสั่งจราจร ตรวจสอบการค้างชำระค่าปรับ และดำเนินการชำระเงินได้ทันที
วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำตามขั้นตอนดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/eTicket
- ลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยกรอกหมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ
- ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้
- ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม “ค้นหา” (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งได้)
- หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)
- ดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ, ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม
เมื่อทำตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว หน้าจอจะแสดงรายการใบสั่งจราจรที่ออกให้กับผู้ใช้งาน หากมีใบสั่งจราจรค้างชำระ หน้าจอจะแสดงรายละเอียดของใบสั่งจราจรนั้นๆ เช่น สถานที่และเวลาเกิดเหตุ, ข้อหาที่กระทำความผิด, ค่าปรับและโทษปรับทางอาญา (หากมี)
หากต้องการชำระค่าปรับใบสั่งจราจร สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197