"Reliability" กับรถคันโปรด
จั่วหัวคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ ขออนุญาตใช้คำภาษาอังกฤษนำหน้าก็แล้วกันนะครับ reliability หรือความไว้เนื้อเชื่อใจ คือสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ไม้เว้นแม้กระทั่งการขับรถ เราก็ต้องไว้เนื้อเชื่อใจ “รถ” คันนั้น ๆ ด้วย ว่าจะต้องขับไปได้อย่างปลอดภัยไร้ปัญหาตลอดเส้นทาง
ช่วงต้นสัปดาห์รุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเพิ่งนำรถแบรนด์ยุโรปเข้าไปตรวจเช็ก หลังระบบคอมพิวเตอร์มีสัญญาณไฟโชว์ที่มีแนวโน้มว่ารถจะมีอาการผิดปกติ ทว่าหลังจากตรวจเช็กอย่างละเอียดแล้ว ชิ้นส่วนทุกอย่างของรถไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ แต่ไฟโชว์ที่ว่าก็ยังติด ๆ ดับ ๆ อยู่เป็นระยะ ซึ่งแน่นอนในฐานะเจ้าของรถ ย่อมมีความเชื่อใจกับรถคันนี้น้อยลง
สมัยวัยรุ่นที่ผมมีโอกาสได้นำรถของที่บ้านมาใช้ เป็นมาสด้า 323 ซีดาน ปี 1998 เกียร์ธรรมดา ช่วงที่ผมใช้รถคันนั้น น่าจะผ่านการใช้งานมา 5-6 ปี นับจากออกจากโชว์รูม ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นรถที่ใหม่อยู่ ทว่าสิ่งที่ผมเจอคือปัญหาเบาดับ สิ่งที่เช็กได้ตอนนั้นคือการตั้งไฟที่อ่อนเกินไป ทว่าปัญหานี้ก็แก้ไม่หาย เพราะอาการเบาดับเกิดขึ้นอีกเป็นระยะ
ความรู้สึกในตอนนั้นคือกังวลว่ามันจะไปดับกลางทางอีกหรือไม่ หรือหากเราจะขับรถคันนั้นไปไหนทางไกล ๆ ก็เริ่มคิดหนักแล้วว่าจะไปมีปัญหาระหว่างทางหรือไม่ ซึ่งความรู้สึกนั้นแหละครับ คือการเริ่มจะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในเจ้ารถคันนั้นแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงรถมันอาจจะไม่ได้เสีย หรือไม่ได้มีปัญหาใด ๆ อย่างที่เรากังวลก็ได้
ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของหัวข้อที่ผมจั่วหัวในสัปดาห์นี้นั่นเอง เพราะผมได้ยินศัพท์ reliability ครั้งแรกก็จากวงการรถแข่งนี่แหละครับ ตั้งแต่ติดตามการแข่งขันเอฟวันในยุคก่อน เรื่อยมาจนมีโอกาสได้ทำข่าว จวบจนถึงปัจจุบัน เราก็มักจะเห็นคำนี้อยู่ในบทสัมภาษณ์ของนักแข่งหรือทีมบอสอยู่บ่อยครั้ง
อย่างเอฟวันสนามล่าสุดที่แคนาดา เฟร์นานโด อลอนโซ่ ให้สัมภาษณ์แบบไม่ค่อยพอใจว่า “We had a reliability issue on car 14.” ขณะที่ ลูอิส แฮมิลตัน ที่กลับมายืนโพเดียมได้อีกครั้งบอกว่า “We got really good reliability”
ในเอฟวันยุคที่เฟอร์รารี่ และไมเคิล ชูมัคเกอร์ ครองความยิ่งใหญ่ น้อยครั้งมากที่รถของ “ชูมี่” จะมีปัญหาหรือแข่งไม่จบ ขณะที่ทีมคู่แข่งอย่าง แม็คลาเลน-เมอร์เซเดส และวิลเลียมส์-บีเอ็มดับเบิลยู ในยุคนั้นเราจะรับรู้กันว่าเครื่องยนต์พวกเขาแรงก็จริง แต่ในวันแข่งที่ต้องวิ่งยาว ๆ ในฐานะคนดูยังมีเสียวว่าช่วงท้ายรถจะมีปัญหาจนต้องจอดหรือไม่
มันคือเรื่องของความรู้สึกของผู้ที่ทำหน้าที่ขับล้วน ๆ ครับ ในสนามแข่งนักขับต้องการที่จะไปอยู่หัวแถว และไปให้ได้เร็วที่สุด ฉะนั้น หากตัดความกังวลตรงนี้ออกจากหัวได้ มีความเชื่อมั่นว่าคนกับรถจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ส่งผลต่อดีสมาธิในสนามแข่ง โดยเฉพาะการแข่งใน Race Day ที่มีปัจจัยแวดล้อมมากมายถาโถมเข้ามา
การขับรถบนท้องถนนก็เช่นกัน ผมเชื่อว่านอกจากสมรรถนะของรถที่ดีแล้ว เราจะต้องไว้เนื้อเชื่อใจรถคันนั้น ๆ ด้วย ลองสังเกตง่าย ๆ เวลาคุณจะต้องขับรถทางไกล เหตุใดคุณถึงเลือกใช้รถคันนั้น ๆ ขับไป ทั้งที่อาจจะมีอีกคันที่มีสมรรถนะที่ดีกว่าเป็นตัวเลือก นอกจากปัจจัยน้ำมันแพงแล้ว ความน่าเชื่อถือคืออีกหนึ่งปัจจัยในการตัดสินใจนั่นเองครับ
ผมมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ใช้รถทุกคนนะครับ เพราะรถบางคันก็อาจมีข้อบกพร่อง (Defect) ติดมาโดยที่เราไม่รู้เลย จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่อาการ โดยเฉพาะถ้ามีครั้งที่ 2 และ 3 ตามมาด้วยล่ะก็ เป็นใครก็ยากที่จะไว้ใจ และอาจจะถึงขั้นพิจารณาขายหรือเปลี่ยนคันใหม่ในที่สุด
บางทีปัญหาที่ว่านี้อาจไม่ได้หนักหนา และส่งผลต่อการขับขี่แต่อย่างใด ทว่าการที่ช่างหาสาเหตุไม่ได้หรือแก้ไม่หาย มันคือสิ่งที่ชวนให้กังวลใจ บอกเลยว่า “คนใช้รถที่รักรถ” เท่านั้นที่จะเข้าใจความรู้สึกนี้ครับ