ตร.จ่อบังคับใช้มาตรการ “ตัดคะแนนใบขับขี่ - พักใช้ใบขับขี่ 90 วัน” มีผล 9 ม.ค. 66

ตร.จ่อบังคับใช้มาตรการ “ตัดคะแนนใบขับขี่ - พักใช้ใบขับขี่ 90 วัน” มีผล 9 ม.ค. 66

ตร.จ่อบังคับใช้มาตรการ “ตัดคะแนนใบขับขี่ - พักใช้ใบขับขี่ 90 วัน” มีผล 9 ม.ค. 66
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมบังคับใช้มาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถครั้งละ 1-4 คะแนน หากถูกตัดคะแนนจนหมดทั้ง 12 คะแนน จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน มีผลบังคับใช้ 9 มกราคม 2566 รวมถึงมีการแก้ไขสาระสำคัญของ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้

     พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. หนึ่งในคณะทำงานเทคโนโลยีบังคับใช้กฎหมายจราจร ศูนย์บริหารงานจราจรเผยมาตรการทางปกครองเพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ และ 2.การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร อันส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรง มีรายละเอียดดังนี้

     1. ระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดเรื่องระบบตัดคะแนนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 โดยระบบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจรจะถูกตัดคะแนนตามจำนวนที่กำหนดตั้งแต่ 1-4 คะแนน

     ข้อหาที่ตัด 1 คะแนน เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ, ไม่สวมหมวกกันน็อก, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย, ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด ฯลฯ ข้อหาที่ตัด 2 คะแนน เช่น ขับรถฝ่าไฟแดง และขับรถย้อนศร ข้อหาที่ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ, ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา และขับรถชนแล้วหนี และข้อหาที่ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ, ขับรถในขณะเสพยาเสพติด, แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น

traffic03

     หากคะแนนถูกตัดจนเหลือศูนย์คะแนน จะถูกสั่ง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับคะแนนที่ถูกตัด จะมีการคืนคะแนนเมื่อครบกำหนด 1 ปี สำหรับการทำผิดครั้งนั้นๆ หรือกรณีที่มีคะแนนเหลือน้อย อาจขอเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร จาก กรมการขนส่งทางบก เพื่อรับคืนคะแนนตามที่หลักสูตรกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนได้จาก เว็บไซต์ PTM E-ticket (https://ptm.police.go.th/eTicket) และ แอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยก่อนเริ่มใช้มาตรการตัดคะแนน ตร. และ กรมการขนส่งทางบก จะแถลงข่าวและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

     2. ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ กรณีผู้ขับขี่ทำผิดกฎหมายจราจร และการกระทำนั้นมีผลหรือมีลักษณะร้ายแรง ได้แก่ 1.มีเหตุก่อให้เกิด น่าจะก่อให้เกิด อันตรายร้ายแรงสาธารณะ 2.มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และ 3.มีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สิน

     ทั้งนี้ ผบช.น. ภ.1-9 และ ก. เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งพักใช้ใบขับขี่ผู้นั้น ครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยการสั่งพักใช้ตามข้อนี้ แยกต่างหากจากระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ โดยระเบียบฉบับนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.65 เป็นต้นมา การขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

traffic04

     นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยมีหลักการสำคัญ ประกอบด้วย

  1. เพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท
  2. กำหนดอำนาจในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติด ในร่างกายของผู้ขับขี่ที่หมดสติซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมได้
  3. เพิ่มอัตราโทษปรับขั้นสูงในกฎหมายจราจร จากเดิมโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แก้ไขเพิ่มเติมเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท
  4. กำหนดให้ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือมีวิธีป้องกันอันตรายสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำประกาศรูปแบบที่นั่งนิรภัย รวมถึงเปิดช่องทางผ่อนคลายสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาที่นั่งนิรภัยเด็กไว้ โดยให้ปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอันตราย ซึ่งจะกำหนดรูปแบบที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ง่ายและไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย

     ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ตร.จ่อบังคับใช้มาตรการ “ตัดคะแนนใบขับขี่ - พักใช้ใบขับขี่ 90 วัน” มีผล 9 ม.ค. 66

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook