รีวิว DFSK Glory i-Auto 2022 ใหม่ ติด LPG จากโรงงาน วิ่งเฉลี่ยเพียงโลละ 1.7 บาท
รีวิว DFSK Glory i-Auto 2022 ใหม่ เอสยูวี 7 ที่นั่ง พ่วง LPG มาให้จากโรงงาน วางจำหน่ายในราคาเดิมไม่บวกเพิ่มแม้แต่บาทเดียว จะน่าสนใจขนาดไหนไปติดตามกันได้ในบทความนี้
เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังไม่คุ้นชื่อแบรนด์ “DFSK” กันเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดว่า “Dongfeng” หรือ “ตงฟง” หลายคนก็เริ่มจะร้อง “อ๋อ” เพราะแบรนด์นี้เคยมีชื่อเสียงจากการนำรถกระบะขนาดเล็กเข้ามาขาย แต่ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบัน EV Primus ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่าย “DFSK” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ได้นำเอาเอสยูวีมาให้ลูกค้าชาวไทยได้ลิ้มลองถึง 2 รุ่น ก็คือ Glory 560 และ Glory i-Auto ทั้งคู่ชูจุดขายด้วยห้องโดยสารแบบ 7 ที่นั่ง ในราคาไม่ถึงล้านบาท และล่าสุดก็ได้กระตุ้นตลาดรับภาวะราคาน้ำมันพุ่งปรี๊ดด้วยการติดตั้ง LPG มาให้จากโรงงาน คราวนี้ Sanook Auto เลยขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเอสยูวีติดแก๊สรุ่นนี้กัน
ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ทางออกของผู้ใช้รถจำนวนไม่น้อยคือการหันไปติดตั้งระบบแก๊ส LPG กันให้รู้แล้วรู้รอด แม้ว่าราคาแก๊สจะผันผวนขึ้นลงยังไง ก็ไม่พ้นลิตรละสิบบาทกว่าอยู่ดี ถูกกว่าการเติมน้ำมันเป็นไหนๆ แถมยังมีปั๊ม LPG ทั่วทุกหนแห่งไม่ต้องกังวลเหมือนกับรถไฟฟ้า จึงเป็นที่มาว่าทำไม EV Primus จึงเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยการติดตั้งระบบ LPG มาให้จากโรงงานประกอบที่อินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Glory 560 และ Glory i-Auto ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน โดยทั้งคู่ยังคงวางจำหน่ายในราคาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แถมยังคงได้รับการรับประกันคุณภาพเหมือนเดิมทุกประการอีกด้วย
สำหรับรถที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้เป็น DFSK Glory i-Auto ซึ่งถือเป็นรุ่นใหญ่กว่า Glory 560 ที่เราเคยนำมาทดสอบก่อนหน้านี้ วางจำหน่ายในราคา 919,000 บาท แลกกับบอดี้สไตล์คอมแพ็กเอสยูวีแท้ๆ แถมยังมีห้องโดยสารแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง และที่สำคัญคือมีระบบแก๊ส LPG ที่ถือเป็นพระเอกของรถคันนี้มาให้ด้วย ส่วนจะวิ่งได้กิโลเมตรละกี่บาทสามารถอ่านได้จากช่วงท้ายๆ ของบทความนี้
ภายนอก
หากว่ากันตามจริง DFSK Glory i-Auto เป็นรถที่ถูกออกแบบมาสวยลงตัวพอประมาณ ด้วยเส้นสายที่เน้นความเรียบง่าย ไม่หวือหวานัก ไม่ดูเป็นรถจีนจ๋าจนเกินไป จะติดนิดเดียวก็คือดีไซน์ไฟท้ายที่ดูขัดใจไปสักหน่อย นอกนั้นโดยรวมก็ถือว่าทำได้ดี ตัวถังมีขนาดความยาว 4,700 มม. ความกว้าง 1,845 มม. ความสูง 1,715 มม. และความยาวฐานล้อ 2,780 มม. นั่นแปลว่าตัวถังของ Glory i-Auto มีความยาวมากกว่าคู่แข่งอย่าง Haval H6 และ MG HS แต่ก็มีความกว้างน้อยกว่าทั้งคู่เช่นเดียวกัน
DFSK Glory i-Auto มีให้เลือกเพียงรุ่นย่อยเดียวเท่านั้น มาพร้อมอุปกรณ์มาตรฐานแบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้า Full LED พร้อมไฟเลี้ยวแบบ Sequential และไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED, กระจังหน้าที่มีชื่อเพราะๆ ว่า Infinite Starlight Design, ไฟท้ายแบบ LED Combination Light พร้อมไฟเลี้ยวแบบ Sequential เช่นเดียวกับด้านหน้า, กระจกมองข้างปรับและพับอัตโนมัติพร้อมไล่ฝ้า, เสาอากาศแบบครีบฉลาม และล้ออัลลอยสีเทาดำขนาด 18 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 225/55 R18
หนึ่งในไฮไลต์ที่สำคัญของ DFSK Glory i-Auto ก็คือการติดตั้งหลังคาพาโนรามิกซันรูฟขนาดใหญ่ เปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมม่านกรองแสงเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้าเช่นเดียวกัน รวมถึงประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมเซ็นเซอร์เท้า ซึ่งทั้งหมดนี้มีให้ในรถราคาเพียง 9 แสนบาทเศษเท่านั้น
ส่วนช่องสำหรับเติมแก๊ส LPG จะถูกซ่อนไว้บริเวณใต้กันชนฝั่งขวา แถมยังถูกติดตั้งไว้ค่อนข้างมิดชิดพอประมาณ ชนิดที่คนภายนอกทั่วไปไม่สามารถทราบได้เลยว่ารถคันนี้มีการติดตั้งระบบ LPG มา ต้องมุดดูใต้ท้องรถอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่ถังแก๊สที่ติดตั้งมาให้เป็นแบบถังโดนัทวางอยู่ในช่องใส่ล้ออะไหล่ จึงไม่กระทบต่อพื้นที่เก็บสัมภาระเหมือนกับถังแคปซูล
ภายใน
ภายในห้องโดยสารของ DFSK Glory i-Auto ให้ความรู้สึกโอ่อ่า กว้างขวาง ติดตั้งเบาะนั่งหุ้มหนังสีดำปรับระดับด้วยไฟฟ้า 6 ทิศทางฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง เบาะแถวที่ 2 สามารถปรับพับแยกแบบ 60:40 พร้อมปรับเลื่อนขึ้นหน้า-หลังเพื่อเพิ่มพื้นที่วางขาให้กับเบาะแถว 3 ได้ ขณะที่เบาะแถว 3 ก็ถือว่ามีพื้นที่พอสมควร สามารถรองรับเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่มีความสูงไม่มากนักได้อย่างสบายๆ แต่ต้องอาศัยความเย็นจากช่องแอร์ของเบาะนั่งแถวที่ 2 เท่านั้น เนื่องจากไม่มีช่องแอร์เป็นของตัวเองแต่อย่างใด
นอกจากนี้ DFSK Glory i-Auto ยังมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายมาให้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ, ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ (ที่หน้าตาปุ่มควบคุมช่างดูละม้ายคล้ายคลึงรถยุโรปยี่ห้อหนึ่งเสียเหลือเกิน), ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2, ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ทำงานคู่กับกุญแจ Keyless Entry, กล้องบันทึกภาพขณะขับขี่บริเวณกระจกบังลมหน้า, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันหุ้มหนังแบบมีรูระบายอากาศ โดยปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายจะใช้สำหรับเครื่องเสียง ส่วนปุ่มฝั่งขวาจะใช้สำหรับ Cruise Control และระบบสั่งงานด้วยเสียง
ส่วนหน้าจออินโฟเทนเมนท์มีขนาด 9 นิ้ว วางตัวอยู่เหนือแผงคอนโซล สามารถสั่งการผ่านระบบทัชสกรีนบนหน้าจอ หรือผ่านปุ่มควบคุมบริเวณคอนโซลกลางก็ได้เช่นกัน (แต่เท่าที่ทดลองใช้งานรู้สึกว่าการควบคุมผ่านหน้าจอตรงๆ สะดวกกว่าเยอะ) รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth พร้อมช่อง USB/AUX ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 6 ตำแหน่ง ซึ่งคุณภาพเสียงจัดว่าอยู่ในระดับพอฟังได้เท่านั้น มีระบบนำทางพร้อมแผนที่ประเทศไทยในตัว และเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลังหรือกดปุ่มรูปกล้องบริเวณใกล้กับปุ่มไฟฉุกเฉิน ก็จะปรากฏภาพจากกล้อง 360 องศา ที่มีมุมมองแบบ Bird eye view มาให้
อีกหนึ่งจุดที่ทำได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ ก็คือ ระบบสั่งงานด้วยเสียง i-TALK ที่สามารถเริ่มต้นใช้งานด้วยการกดปุ่มบนพวงมาลัย หรือเพียงพูดคำว่า “Hi Glory” ก็สามารถสั่งงานต่างๆ ได้ทันที ซึ่งจากการทดสอบพบว่าระบบสามารถเข้าใจคำสั่งเสียงได้ง่ายและรวดเร็วกว่าแบรนด์รถยนต์ร่วมสัญชาติรายอื่นๆ ที่เคยทดลองมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหน้าต่าง (เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่), การเปิดซันรูฟ, สั่งเพิ่ม-ลดระดับเสียงของเครื่องเสียง, ปรับตั้งอุณหภูมิและความแรงลมแอร์ ฯลฯ แถมไม่ต้องออกสำเนียงชัดเป๊ะให้วุ่นวาย แต่ถึงกระนั้นระบบสั่งงานด้วยเสียงของ DFSK Glory i-Auto ยังคงรองรับเฉพาะคำสั่งเสียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ส่วนภาษาไทยยังไม่รองรับแต่อย่างใด
บริเวณฝั่งขวามือของผู้ขับขี่จะเป็นปุ่มสลับระหว่างโหมด LPG และน้ำมัน พร้อมทั้งมีไฟแสดงระดับแก๊สในถังมาให้ โดยหากไฟสีเขียวบริเวณตัวอักษร G กระพริบอยู่ แสดงว่าระบบกำลังใช้น้ำมันและจะเปลี่ยนเป็นแก๊สโดยอัตโนมัติเมื่อเครื่องยนต์ร้อนได้ที่ และเมื่อเปลี่ยนไปใช้ระบบแก๊สแล้ว ไฟเขียวก็จะติดคงที่ตลอดเวลา
ส่วนระบบความปลอดภัยก็มีให้แบบครบๆ ตามมาตรฐาน ทั้งระบบควบคุมการทรงตัว ESP, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Hold Control, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบเสริมแรงเบรก EBA, เซ็นเซอร์กะระยะด้านหลัง (พร้อมกล้อง 360 องศา), ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง และถุงลมนิรภัย 4 ตำแหน่ง (คู่หน้าและด้านข้างคู่หน้า)
เครื่องยนต์และช่วงล่าง
DFSK Glory i-Auto ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังเบนซิน 4 สูบเทอร์โบชาร์จ ความจุ 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร ที่ 1,800 - 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่สามารถล็อกอัตราทดได้ 6 สปีด ทั้งยังสามารถรองรับน้ำมันทางเลือก E85 ได้อีกด้วย ขณะที่อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 12.3 กม./ลิตร ตามที่ปรากฏบน ECO Sticker แต่อย่าลืมว่ารถคันนี้มาพร้อมระบบแก๊ส LPG ที่มีค่าเชื้อเพลิงถูกกว่าน้ำมันเป็นไหนๆ
ส่วนระบบช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบแม็กเฟอร์สันอิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งระบบดิสก์เบรกมาให้ทั้ง 4 ล้อ ตกแต่งคาลิเปอร์เบรกด้วยสีแดง มาพร้อมระบบพวงมาลัยไฟฟ้า EPS เป็นมาตรฐาน
การขับขี่
ทันทีที่กดปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ จะเป็นการสตาร์ทด้วยน้ำมันโดยอัตโนมัติ โดยระหว่างนี้สัญญาณไฟสีเขียวบริเวณปุ่มแก๊สจะกระพริบ แสดงว่าระบบกำลังรอสแตนบายเพื่อเปลี่ยนเป็นแก๊สหลังจากที่เครื่องยนต์เริ่มร้อนได้ที่ จากนั้นไม่นานระบบก็จะเปลี่ยนเป็นแก๊สให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจังหวะการเปลี่ยนไปใช้แก๊สนั้นแทบจะไม่มีอาการกระตุกใดๆ เลย แม้ว่ารถกำลังเร่งความเร็วอยู่ก็ตาม
ในด้านอัตราเร่งจากจุดหยุดนิ่งนั้น ต้องยอมรับว่าเครื่องยนต์เทอร์โบ 1.5 ลิตร ที่มีแรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร สามารถตอบสนองได้ค่อนข้างดี ความเร็วสามารถพุ่งขึ้นไปแตะ 60 กม./ชม. ได้อย่างทันใจไม่อืดอาด แต่เมื่อความเร็วพ้น 80 กม./ชม. ก็จะเริ่มออกอาการเอื่อยให้เห็น และจะยิ่งเอื่อยขึ้นไปอีกเมื่อพ้น 100 กม./ชม. ขึ้นไป ทำให้การขึ้นไปแตะความเร็วเดินทาง 120 กม./ชม. ต้องใช้เวลากันพอสมควรทีเดียว หรือถ้าอยากให้มีแรงก็จะต้องกดคันเร่งเพื่อให้รอบเครื่องยนต์พุ่งขึ้นไปป้วนเปี้ยนแถว 3,500 - 4,000 รอบต่อนาที จึงจะพอรู้สึกมีเรี่ยวแรงบ้าง แลกกับเสียงเครื่องยนต์ที่เข้ามารบกวนภายในห้องโดยสาร
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสังเกต คือ การตอบสนองของคันเร่งที่ค่อนข้างช้า ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. แล้วต้องการแซงรถคันหน้าขึ้นมา ทันทีที่กดคันเร่งลงไปนั้น จะต้องใช้เวลาเกือบ 3 วินาที ก่อนที่เครื่องยนต์และเกียร์จะเริ่มสร้างกำลังถ่ายทอดลงมาสู่พื้นถนนจริงๆ ทำให้การเร่งแซงรู้สึกไม่ทันใจเท่าที่ควรนัก
และอีกสิ่งที่ค่อนข้างแปลก คือ รอบเครื่องยนต์ที่ความเร็ว 110 กม./ชม. หากอยู่ในตำแหน่งเกียร์ D รอบเครื่องยนต์จะอยู่ที่ประมาณ 2,200 รอบต่อนาที และมีอาการรอบสวิงขึ้นลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสภาพถนน แต่เมื่อผลักคันเกียร์ไปล็อกไว้ที่เกียร์ 6 รอบจะหล่นลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,950 รอบต่อนาที ซึ่งสาเหตุที่รอบเครื่องยนต์สูงกว่าที่ควรจะเป็นขณะใช้เกียร์ D นั้น อาจเกิดมาจากพละกำลังของเครื่องยนต์ไม่มากพอที่จะพาตัวรถให้เดินทางในระดับความเร็ว 110 กม./ชม. ด้วยอัตราทดเกียร์สูงสุดได้
แต่สิ่งที่น่าชมเชยอย่างหนึ่งก็คือช่วงล่างที่ทำได้ค่อนข้างดี การซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนเป็นไปอย่างนุ่มนวล และมีความแน่นหนึบพอประมาณ รวมถึงความเงียบภายในห้องโดยสารขณะใช้ความเร็วสูง แต่ถึงกระนั้น พวงมาลัยกลับมีการสะท้อนแรงสะเทือนจากล้อเข้ามาพอสมควรอยู่เหมือนกัน
ในด้านอัตราสิ้นเปลืองของระบบ LPG นั้น จากการทดสอบด้วยการเติมแก๊สจนเต็มที่กทม. จากนั้นมุ่งหน้าไป จ.ชลบุรีแล้วกลับ รวมระยะทางประมาณ 235.4 กิโลเมตร จากนั้นจึงเต็มแก๊สกลับจนเต็มอีกครั้ง สามารถอัดแก๊สเข้าไปได้ 400 บาทพอดิบพอดี คิดเป็น 29.88 ลิตร (ราคา LPG ขณะนั้นอยู่ที่ลิตรละ 13.39 บาท) เทียบว่าใช้แก๊สไปเพียงกิโลเมตรละ 1.7 บาทเท่านั้นเอง แต่ต้องบอกก่อนว่าการทดสอบทำขึ้นช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่แทบจะไม่มีรถติดเลย และยังเป็นการทดสอบขับทางไกลด้วย ซึ่งการขับขี่ในเมืองที่ต้องเจอรถติดเป็นประจำ ตัวเลขจะออกมาแตกต่างไปจากนี้อย่างแน่นอน
สรุป
DFSK Glory i-Auto ถือเป็นรถที่มอบความคุ้มค่าอย่างน่าเหลือเชื่อ ทั้งออปชันที่ให้มา รวมถึงการติด LPG มาให้จากโรงงาน ส่งผลให้วารันตียังคงอยู่อย่างครบถ้วน ก็ลองเก็บไว้เป็นหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถประเภทนี้แล้วกันครับ
ราคาจำหน่าย DFSK Glory i-Auto อยู่ที่ 919,000 บาท (ติดตั้งระบบ LPG ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
อัลบั้มภาพ 35 ภาพ