ดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” รถยนต์-มอเตอร์ไซค์ มีผล 10 มกราคม 2566 นี้
ราชกิจจาฯ ประกาศคิดดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ “ลดต้นลดดอก” พร้อมกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) รถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี
สาระสำคัญของประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ลงวันที่ 12 ต.ค. 2565 ได้แก่ การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ต้องคิดในอัตราที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด โดยกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้
- กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี
- กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
- กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 23 ต่อปี
นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อตามที่ผู้เช่าซื้อร้องขอ ผู้ให้เช่าซื้อสามารถคิดค่าใช้จ่ายเพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็น และมีเหตุผลอันสมควร แต่ต้องไม่เกิน 2,500 บาท
ส่วนกรณีผู้เช่าซื้อมีความประสงค์ปิดบัญชีเช่าซื้อ โดยชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว ผู้ให้เช่าซื้อจำเป็นจะต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยแก่ผู้เช่าซื้อ โดยส่วนลดที่ได้รับจะคำนวณจากดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งแตกต่างกันตามแต่ระยะเวลาที่ได้มีการชำระค่างวดไปแล้ว ดังนี้
- ชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 1 ใน 3 ของที่ระบุในสัญญา ได้รับส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 60%
- ชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 2 ใน 3 ของที่ระบุในสัญญา ได้รับส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 70%
- ชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่า 2 ใน 3 ของที่ระบุในสัญญา ได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 100%
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังพ้นประกาศ 90 วัน นับตั้งแต่ลงประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ซึ่งทำให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป