ข้อดีของรถ "เบาะผ้า" ที่หลายคนอาจมองข้าม
สำหรับคนที่ยังเป็นมือใหม่และกำลังมองหารถไว้ใช้งาน อาจมีความลังเลว่าควรเลือกซื้อรถ “เบาะผ้า” หรือ “เบาะหนัง” ดีกว่ากัน หากว่ารุ่นที่ต้องการมีเฉพาะเบาะผ้า ควรเปลี่ยนเป็นเบาะหนังดีไหม วันนี้ Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกันครับ
เบาะผ้า
เบาะผ้าเป็นเบาะที่นิยมติดตั้งในรถยนต์ที่มีราคาไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีต้นทุนต่ำกว่าเบาะหนัง สามารถตกแต่งรายละเอียดและลูกเล่นได้หลากหลาย ซึ่งอันที่จริงเบาะผ้าก็สามารถแบ่งวัสดุออกเป็น “เบาะผ้าสังเคราะห์” และ “เบาะกำมะหยี่” ซึ่งทั้งคู่มีความสวยงามและผิวสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป
ข้อดีของเบาะผ้า
- ไม่สะสมความร้อน แม้จอดรถทิ้งไว้กลางแดด
- ช่วยยึดรั้งร่างกายได้ดี
- ความทนทานสูง ไม่เสื่อมง่าย
ข้อเสียของเบาะผ้า
- ทำความสะอาดยาก ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางในการทำความสะอาด
- สะสมฝุ่นได้
- เกิดคราบสกปรกได้ง่าย
เบาะหนัง
เบาะหนังเองก็มีวัสดุหลากหลายไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหนังเทียมแบบ PVC ที่ผลิตจากเนื้อพลาสติก, หนังเทียมสังเคราะห์ PU ที่มีความนุ่มและผิวสัมผัสใกล้เคียงหนังแท้มากกว่า PVC และหนังแท้ที่ผลิตจากหนังของสัตว์ ผ่านการทำความสะอาดและฟอกสีหลายขั้นตอน เพื่อนำมาหุ้มเบาะนั่งในรถยนต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีราคาสูง แลกกับผิวสัมผัสที่ดีในการใช้งาน
ข้อดีของเบาะหนัง
- บำรุงรักษาง่าย สามารถเช็ดทำความสะอาดได้
- ช่วยให้ห้องโดยสารดูสวยงาม
- นั่งสบาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุสามารถขยับร่างกายได้สะดวก
ข้อเสียของเบาะหนัง
- หนังสังเคราะห์สะสมความร้อนได้ง่าย ส่วนหนังแท้มีการสะสมความร้อนน้อยกว่า
- อาจเกิดการแตกลายงาได้ง่าย โดยเฉพาะรถที่ต้องจอดกลางแดดเป็นประจำ
- ค่าซ่อมแซมมีราคาสูง
ซื้อรถเบาะผ้า เปลี่ยนเป็นเบาะหนังดีไหม
กรณีซื้อรถที่ติดตั้งเบาะผ้ามาจากโรงงาน โดยมากแล้วสามารถเปลี่ยนเป็นเบาะหนังได้ ซึ่งอาจต้องเพิ่มเงินส่วนต่างหรือขอรับเป็นของแถมจากดีลเลอร์ แต่การเปลี่ยนเป็นเบาะหนังมีข้อควรพึงระวัง ดังนี้
- การเปลี่ยนวัสดุหุ้มเบาะจะเป็นการหุ้มวัสดุใหม่จากร้านข้างนอก ซึ่งคุณภาพมักด้อยกว่าเบาะหนังที่ผลิตมาจากโรงงาน
- กรณีขอรับเป็นของแถมจากดีลเลอร์ หรือเพิ่มเงินเพียงเล็กน้อย มักได้วัสดุหนัง PVC คุณภาพต่ำ อาจพบปัญหาหนังแตกหรือตะเข็บฉีกขาดได้ง่าย
- หากรถยนต์ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง ไม่ควรเปลี่ยนวัสดุหุ้มเบาะโดยเด็ดขาด เนื่องจากชุดถุงลมที่อยู่ในตัวเบาะอาจทำงานผิดพลาดจนเกิดเป็นอันตรายได้
เมื่อทราบแบบนี้แล้วก็ควรพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียของวัสดุเบาะนั่งแต่ละแบบ เพื่อให้การใช้งานเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดครับ