ขับรถลงเขาไม่ให้เบรกไหม้ต้องใช้เกียร์ตำแหน่งอะไร?

ขับรถลงเขาไม่ให้เบรกไหม้ต้องใช้เกียร์ตำแหน่งอะไร?

ขับรถลงเขาไม่ให้เบรกไหม้ต้องใช้เกียร์ตำแหน่งอะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ในช่วงวันหยุดปีใหม่ 2566 นี้ หลายคนมีแผนขับรถไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อผ่อนคลายหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี โดยเฉพาะการขับรถขึ้นไปรับอากาศหนาวเย็นบนยอดดอยต่างๆ แล้วทราบหรือไม่ว่าการขับรถลงเขาอย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงเบรกไหม้จนควบคุมรถไม่อยู่ ควรเลือกใช้เกียร์ตำแหน่งใด? Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกันครับ

drive_downhill_02

     การขับรถขึ้นเขาหรือยอดดอยไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพราะขอแค่ผู้ขับขี่มีทักษะการขับรถขั้นพื้นฐาน และเครื่องยนต์ที่มีเรี่ยวแรงเพียงพอ ก็สามารถพิชิตเส้นทางขึ้นเขาแต่ละที่ได้อย่างสบาย หากแต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือการขับรถลงเขา หรือทางลาดชันยาวๆ เพราะลำพังการใช้เบรกเพื่อประคองความเร็วเพียงอย่างเดียว อาจเสี่ยงต่ออาการเบรกร้อนจัดจนควบคุมรถไม่อยู่ หรือที่ภาษาชาวบ้านพูดกันง่ายๆ ว่า “เบรกแตก” ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

     ตัวช่วยสำคัญในการขับรถลงเขาอย่างปลอดภัยนั่นก็คือ “เกียร์” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นรถเกียร์ธรรมดา เกียร์อัตโนมัติ หรือกระทั่งเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่นิยมติดตั้งลงในรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน

     โดยปกติแล้วการขับรถขึ้นเขา ผู้ขับขี่สามารถใช้เกียร์ D เพียงเกียร์เดียวได้ โดยสมองกลเกียร์จะคอยปรับอัตราทดให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับความเร็วและความลาดชันของเส้นทาง หากเป็นผู้ขับขี่ที่เชี่ยวชาญก็สามารถปรับเกียร์ไปยังตำแหน่งรองลงมา (เช่น 3, 2, 1 หรือ L) เพื่อเรียกพละกำลังของเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่ในขณะนั้นได้

     แต่การขับรถลงเขาเป็นระยะทางไกลๆ การใช้ตำแหน่งเกียร์ D เพียงอย่างเดียวจะทำให้รถไหลลงด้วยความเร็วสูงโดยปราศจากแรงฉุดของเครื่องยนต์ หรือที่หลายคนคุ้นหูว่า “เอนจินเบรก” (Engine Brake) ภาระจึงตกไปอยู่กับระบบเบรกที่ต้องทำงานหนักกว่าปกติเพื่อประคองความเร็วไม่ให้สูงจนเกินไป เมื่อผ้าเบรกเสียดสีกับจานเบรกเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ชุดเบรกมีอุณหภูมิสูงจัด เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะไม่สามารถช่วยลดความเร็วลงได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเหยียบเบรกหนักแค่ไหนก็ตาม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแหกโค้งอย่างที่ปรากฏบนข่าวอยู่บ่อยครั้ง

drive_downhill_04

     ดังนั้น การขับรถลงเขาควรเลือกใช้ตำแหน่งเกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็วของรถ เช่น ตำแหน่งเกียร์ 3, 2, 1 หรือ L จะช่วยให้รถมีแรงฉุดจากเครื่องยนต์เข้ามาช่วยประคองความเร็ว ซึ่งระหว่างนี้รอบเครื่องยนต์จะพุ่งขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นอาการปกติ และจะไม่มีการฉีดจ่ายน้ำมันสู่ห้องเผาไหม้แต่อย่างใด หากรู้สึกว่ารถเริ่มไหลเร็วขึ้นก็ให้ค่อยๆ ลดตำแหน่งเกียร์ลงมา จนกว่าจะอยู่ในย่านความเร็วที่ปลอดภัย

     อย่างไรก็ดี หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซลจะสามารถสร้างเอนจินเบรกได้มากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ทำให้บางครั้งผู้ขับขี่แทบไม่จำเป็นต้องแตะเบรกเลยก็ได้ แต่หากเป็นเครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กตั้งแต่ 1,500 ซีซี ลงมาแล้วล่ะก็ จะเกิดแรงเอนจินเบรกค่อนข้างน้อย จึงควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และพยายามใช้ความเร็วต่ำตลอดการเดินทางครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook