เกียร์ CVT กับเกียร์ Auto แบบไหนดีกว่ากัน?
ปัจจุบันเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กจากค่ายญี่ปุ่นที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2,000 ซีซี ขณะที่ฝั่งค่ายยุโรปก็ยังคงยึดติดกับเกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter ไว้อย่างเหนียวแน่น (รวมถึง Dual-clutch ในบางรุ่น) แล้วเกียร์แบบไหนถือว่าดีกว่ากัน Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบครับ
เกียร์อัตโนมัติแต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
ปัจจุบันระบบเกียร์อัตโนมัติที่เป็นที่นิยมมีด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ คือ แบบ Torque Converter, แบบ Dual-clutch และแบบ CVT โดยแต่ละแบบสามารถอธิบายการทำงานคร่าวๆ ได้ดังนี้
เกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter
เกียร์อัตโนมัติแบบ Torque Converter เป็นเกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิมที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน ซึ่งเกียร์ประเภทนี้จะใช้ชุดทอร์กคอนเวอร์เตอร์เป็นตัวถ่ายทอดกำลัง โดยอาศัยแรงดันของน้ำมันเกียร์ภายในชุดส่งกำลัง โดยข้อดีของเกียร์ประเภทนี้ คือ การทำงานไม่ซับซ้อน มีความทนทานสูง ช่างซ่อมมีความรู้ความเข้าใจหลักการทำงานเป็นอย่างดี และยังสามารถทนต่อแรงบิดได้สูงกว่าเกียร์แบบ CVT ทำให้รถยนต์ที่มีพละกำลังสูงๆ ยังคงเลือกใช้เกียร์ประเภทนี้อยู่
แต่ข้อด้อยของเกียร์ประเภทนี้ คือ การทำงานจะมีการสูญเสียกำลังค่อนข้างมาก ทำให้สมรรถนะด้อยกว่าเมื่อเทียบกับเกียร์ธรรมดาที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกัน และมีอัตราสิ้นเปลืองมากกว่าด้วย
เกียร์อัตโนมัติแบบ Dual-clutch Transmission (DCT)
เกียร์อัตโนมัติแบบ Dual-clutch หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เกียร์คลัตช์คู่” จะมีลักษณะการทำงานคล้ายกับเกียร์ธรรมดา 2 ชุด รวมอยู่ในเกียร์ลูกเดียวกัน โดยจะมีกลไกคลัตช์จำนวน 2 ชุด เพื่อควบคุมการทำงานของเกียร์แต่ละตำแหน่ง โดยชุดหนึ่งจะควบคุมอัตราทดเกียร์เลขคี่ (เช่น เกียร์ 1, 3 และ 5) และอีกชุดหนึ่งใช้ควบคุมอัตราทดเกียร์เลขคู่ (เช่น เกียร์ 2, 4 และ 6)
การแบ่งชุดคลัตช์ออกเป็น 2 ชุดดังกล่าว จะทำให้การตัดต่อกำลังทำได้อย่างฉับไวในพริบตา ช่วยลดการสูญเสียกำลัง ให้อัตราเร่งรวดเร็วทันใจมากกว่าเกียร์แบบ Torque Converter และยังช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองลงได้อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วรถที่ใช้เกียร์แบบคลัตช์คู่จะมีอัตราเร่งเทียบเท่าหรือดีกว่ารถเกียร์ธรรมดาด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ดี เกียร์แบบคลัตช์คู่ “ที่มีประสิทธิภาพดี” มักจะพบได้ในรถสปอร์ตหรือรถหรูราคาแพง ยกตัวอย่างเช่น เกียร์ PDK (ย่อมาจากภาษาเยอรมันว่า Porsche Doppelkupplungsgetriebe) ที่พบในรถปอร์เช่ หรือเกียร์ DSG (Direct-shift Gearbox) ของค่ายโฟล์กสวาเกน เป็นต้น
เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT (Continuously Variable Transmission)
เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT เริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลังมานี้ พบได้บ่อยในรถญี่ปุ่นขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดกลาง โดยหลักการทำงานจะอาศัยสายพานในการส่งกำลังและปรับเปลี่ยนอัตราทดอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีจังหวะเปลี่ยนอัตราทดให้รู้สึกเหมือนกับเกียร์อัตโนมัติอีก 2 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งข้อดีของเกียร์ CVT คือ สามารถเปลี่ยนอัตราทดได้อย่างไหลลื่นไร้รอยต่อ มีการสูญเสียกำลังน้อย ช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันได้ดี และยังมีต้นทุนในการผลิตต่ำอีกด้วย
อย่างไรก็ดี หลักการทำงานของเกียร์ CVT ที่ใช้สายพานเป็นตัวส่งกำลัง จึงสามารถรองรับแรงบิดได้น้อยกว่าเกียร์ประเภทอื่น ส่งผลให้เกียร์ประเภทนี้พบได้ในรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางที่มีพละกำลังเครื่องยนต์ไม่สูงมากเท่านั้น อีกทั้งเกียร์ CVT ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ มิเช่นนั้นอาจส่งผลให้ชุดเกียร์เกิดความเสียหายได้ง่าย
สรุปแล้วเกียร์แบบไหนดีสุด?
อันที่จริงคงต้องตอบว่าไม่มีเกียร์แบบไหนดีที่สุด หากแต่แบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละคนมากกว่า เพราะถ้าหากต้องการเน้นสมรรถนะและความเร้าใจในการขับขี่ เกียร์แบบ Dual-clutch น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า แต่เกียร์ประเภทนี้ก็มักติดตั้งมาในรถราคาแพงเท่านั้น เพราะฟอร์ดเองก็เคยนำเกียร์ Powershift ซึ่งเป็นเกียร์แบบคลัตช์คู่มาติดตั้งลงใน Focus และ Fiesta แต่แล้วก็สร้างปัญหาปวดหัวมากมายให้กับผู้ใช้จนกระทั่งฟอร์ดต้องหันไปใช้เกียร์แบบทอร์กคอนเวอร์เตอร์ปกติในที่สุด
ส่วนเกียร์แบบ Torque Converter ปัจจุบันก็ถูกพัฒนาให้มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถปรับเปลี่ยนอัตราทดได้ไวขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถขับขี่ได้อย่างสนุกสนานเร้าใจ แต่ปัจจุบันมักพบได้ในรถขนาดใหญ่เท่านั้น หากเป็นรถเล็กระดับ B-segment ก็เหลือเฉพาะ Mazda2 เท่านั้นที่ยังคงใช้เกียร์ประเภทนี้อยู่ เนื่องจากเกียร์ประเภทนี้มีต้นทุนที่สูงกว่าเกียร์ CVT นั่นเอง
ขณะที่การทำงานของเกียร์ CVT อาจตอบสนองได้ไม่ดีนักในด้านความสนุกสนานในการขับขี่ ด้วยการตอบสนองแบบเนิบๆ ตามสไตล์รถบ้านทั่วไป (แม้ว่ารถบางรุ่นจะสามารถล็อกอัตราทดเกียร์ได้ แต่หากใช้งานอย่างรุนแรงบ่อยๆ แล้วล่ะก็ อาจทำให้เกียร์กลับบ้านเก่าได้เร็วขึ้นเหมือนกัน) แต่เกียร์ประเภทนี้ก็มีข้อดีในด้านความประหยัดน้ำมัน ไร้ปัญหาเกียร์กระตุก และยังเป็นรูปแบบเกียร์ที่ได้รับความนิยมในรถราคาไม่สูงนัก ทำให้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายไปโดยปริยาย
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการเลือกรถคันใหม่ของคุณผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะครับ