NIA มั่นใจปี 66 ตลาดนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าคึกคัก ชูตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า “มูฟมี” ฝีมือสตาร์ทอัปไทย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งปั้นสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยสู่ตลาดโลก หลังนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตสู่งขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 2566 จะมีโอกาสเติบโตสูงทั้งด้านการผลิตและยอดจำหน่ายนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมเผยตัวอย่างความสำเร็จ “MUVMI” รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 100% ฝีมือสตาร์ทอัปไทยที่เริ่มให้บริการจริงแล้วทั่วกรุงเทพฯ
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวกับวิกฤตด้านพลังงานและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง จึงส่งผลให้ธุรกิจเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เติบโตต่อเนื่องทั้งปริมาณการผลิตและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สอดคล้องกับตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจากรมการขนส่งทางบกที่พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 15,423 คัน ซึ่งมากกว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าย้อนหลังรวม 10 ปี (ปี 2555 – 2564) ที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 11,749 คัน
“สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดย NIA คาดว่าในปี 2566 การเติบโตส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ มาตรการภาษี ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว รวมถึงในภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว บริการเดลิเวอรี่อาหาร บริการสาธารณะ ฯลฯ ที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยให้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ หรือค่าบริการที่ถูกลง การพัฒนารูปแบบยานพาหนะไฟฟ้าที่ไม่จำกัดแค่เพียงรถยนต์นั่ง เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือ - รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า โฮมชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน”
นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากโอกาสและศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหรรมด้านพลังงานสะอาด และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง NIA จึงได้เลือกให้เป็นสาขาที่อยู่ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) จากทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่
- อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก
- ความมั่นคงทางอาหาร
- เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
- พลังงานสะอาด
- ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech
- กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะสนับสนุน “เงินทุนให้เปล่า”
โดย NIA จะสนับสนุนวงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง โดยต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้
ซึ่งจากการเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 236 ราย จาก 6 สาขา และในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องมีจำนวนสูงถึง 70 – 80 ราย โดย NIA พร้อมช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงนวัตกรรมดังกล่าวไปสู่ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า การระดมทุน ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเติบโตในระดับที่สูงขึ้นและยั่งยืน ดังเช่น โครงการสามล้อไฟฟ้าเดลิเวอรี่ (บริษัท บิซ เน็กซ์ มอเตอร์ จำกัด) บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด) และโครงการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด นาวาเลียน คอมโพสิท) ตลอดจนช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศในฐานะ “ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค” อีกด้วย
ด้าน ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด และผู้ก่อตั้งธุรกิจให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี กล่าวว่า “ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่สามารถแก้ไขได้จากการใช้ขนส่งมวลชน นี่คือโจทย์ที่ทำให้มูฟมีได้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 100% ที่มีระบบ IOT เพื่อเชื่อมต่อและควบคุมรถให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีท่อไอเสียจึงช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเครื่องยนต์ หรือ PM 2.5 ปัจจุบันมูฟมี มีรถตุ๊กตุ๊กแบบ EV จำนวนมากกว่า 300 คัน ให้บริการรับ – ส่งผู้โดยสารตามแนวรถไฟฟ้า เข้าซอยหรือไปบริเวณใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ 12 ย่านทั่วกรุงเทพ เช่น จุฬาลงกรณ์-สามย่าน, อารีย์–ประดิพัทธ์, รัตนโกสินทร์, สุขุมวิท, พหลโยธิน, บางซื่อ, และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น
โดยมีจุดเด่นคือเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถแชร์เส้นทางร่วมกับคนอื่นได้ด้วยบริการในระบบ Ride Sharing เดินทางไปไหนก็ง่าย ใช้ได้ทุกวัน ราคาย่อมเยาคิดตามระยะทางจริง เริ่มต้นที่ 10 บาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 3.7 ล้านคน “มูฟมีเข้าใจดีว่าความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาวจะเกิดได้ยากหากต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากคนอื่นตลอดไป มูฟมีจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ทั้งการออกแบบตัวรถโดยสารที่จดสิทธิบัตรไปแล้ว และการออกแบบจุดชาร์จรถไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์ตรงเข้ารถ โดยมีสมองกลในรถคอยควบคุมกระแสไฟซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจดลิขสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
ในปี 2566 นี้ มูฟมียังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดนิ่ง ทั้งในแง่บริการและการพัฒนาเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนรถโดยสารเป็น 1,000 คัน พร้อมขยายโซนให้บริการใหม่เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด รวมถึงขยายการให้บริการไปยังหัวเมืองหลักๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ทั้งในส่วนของการให้บริการแบบ B2C และ B2B ซึ่งการดำเนินงานที่ตั้งไว้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาช่วยขับเคลื่อนให้กลยุทธ์การขยายด้านบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ