TEST Nissan MARCH in Phuket

TEST Nissan MARCH in Phuket

TEST Nissan MARCH in Phuket
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ครบทั้งเกียร์ ธรรมดาและออโต้-ซีวีที เส้นทางหลากหลาย ยาว ตรง คดโค้ง เข้าเมือง ตอบหลายความสงสัย โดยวรพล สิงห์เขียวพงษ์ // มาร์ช อันแปลว่ามีนาคม เหมือนชื่อเดือนที่เปิดตัว เคยทดสอบแบบสัมผัสสั้นในพื้นที่โรงงานแถวบางนา แต่ครั้งนี้ทดสอบจริงในเดือนเมษายน บนความหลากหลายของเส้นทางในภูเก็ต MARCH in Phuket

นิสสัน เปิดตัวมาร์ชในฐานะอีโคคาร์รุ่นแรกยี่ห้อแรกของไทย ที่ตรงตามเงื่อนไขที่ภาครัฐตั้งไว้ เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษี จะได้ตั้งราคาได้ถูกและขายได้จำนวนมาก

ต้นเดือน มีนาคม มาร์ชเปิดตัวในไทย โดนงานเจนีวาเปิดตัวในชื่อไมคราไปไม่กี่วัน แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะไทยส่งมอบมาร์ชเป็นที่แรกในโลก ก่อนหน้ายุโรปเกือบครึ่งปี และพร้อมจะส่งมอบรถปลายปีนี้ ซึ่งในช่วงแรกไทยส่งมอบรุ่นเกียร์ธรรมดาไปก่อน จนถึงพฤษภาคม-มิถุนายน 2010 จึงเริ่มส่งมอบรุ่นเกียร์อัตโนมัติได้ ทำให้ใน ช่วง 2-3 เดือนแรกคนในกรุงเทพฯ จึงไม่ค่อยเห็นมาร์ชวิ่งบนถนนมากนัก เพราะคนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ชอบรถเก๋งเกียร์อัตโนมัติ  ราคาเปิด ตัวเริ่มต้น 3.75 แสนบาท ส่วนรุ่นเกียร์อัตโนมัติเริ่มต้นที่แถวๆ 4.5 แสน แล้วไปจบที่รุ่นท็อปแบบออพชันครบๆ ที่ 5.3 แสนบาท

ราคา เริ่มต้น 3.75 แสนบาท ไม่ใช่ประเด็นที่ผู้คนสงสัย เพราะถูกดี ซื้อแล้วน่าจะคุ้มค่าถ้าต้องการเกียร์ธรรมดา แต่รุ่นเกียร์อัตโนมัติที่ราคาเริ่มแถวๆ 4.5 แสนบาทและสูงกว่านั้นนั่นเองที่เป็นประเด็นสงสัยของคนทั่วไป และตามมาด้วยคำถามมากมาย เพราะราคาใกล้กับรถซับคอมแพ็กต์แท้ๆ อย่างยาริส แจ๊ซ มาสด้า2 ต่างกันก็สักแสนกว่าบาท อีกทั้งในวันเปิดตัว การทดสอบที่จัดให้สื่อมวลคนก็ให้ขับกันคนละไม่กี่ร้อยเมตร ไม่ถึง 1 กิโลเมตร

 

MARCH IN PHUKET

นิสสันตั้งใจให้สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ซึ่งบินมาจากหลายทวีป ทดสอบนิสสัน มาร์ช (หรือไมคราในบางประเทศ) ให้ครบทุกรูปแบบของเส้นทาง เลือกจังหวัดภูเก็ตด้วยหลายเหตุผล เช่น สามารถเลือกใช้เส้นทางได้ครบครัน พิสูจน์รถได้ครบทุกมุม และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยที่ต้องต้อนรับผู้สื่อข่าวจากทั่วโลกที่จะ ต้องเดินทางมาทดสอบ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกสื่อมวลชนไทยสื่อหลัก กลุ่มที่ 2 มีเก็บตกจากกลุ่มแรก และสื่อระดับรองลงไป และกลุ่มสุดท้ายสื่อจากทั่วโลกที่คัดสรรมาโดยนิสสัน บริษัทแม่

เริ่มต้น...ทดสอบรุ่นเกียร์อัตโนมัติ  สนามบินภูเก็ต-ทางยาวไฮเวย์-แล้ววนเข้าเมือง

ลงเครื่องบินเสร็จ นิสสันจัดการบรรยายทางเทคนิคและเส้นทางทดสอบประมาณครึ่งชั่วโมง ประมาณ 10 โมง รถเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติอย่างละเกือบ 10 คัน ก็ถูกทีมงานเตรียมจอดเข้าแถวไว้ในอาคารสนามบิน สื่อมวลชนที่ถูกจัดคิวไว้ ได้สัมผัสและทดสอบตั้งแต่เท้าก้าวออกจากตัวห้องของอาคาร ผมถูกกำหนดให้ขับรุ่นเกียร์อัตโนมัติก่อน เดินทางไปกับสื่อฯ อีกคนหนึ่ง รวมน้ำหนัก 2 คน และสัมภาระประมาณ 170 กิโลกรัม  ล้อยังไม่หมุน แต่ผมขอทดสอบพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังก่อน ด้วยเป้ใบไม่ใหญ่ของผมถูกโยนเข้าท้ายรถหลังเปิดฝา-ประตูบานที่ 5 ซึ่งกว้างดี และลึกใช้ได้ ตามที่ผมเคยวัดมา 60 เซนติเมตร ถึงแม้ใครอยากประหยัดขึ้นไปอีก ด้วยการติดตั้งถังแก๊สแอลพีจีแบบแคปซูลผอมๆ ก็ยังเหลือพื้นที่ไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร

เมื่อเข้าไปในห้องโดยสาร ในเรื่องวัสดุที่หลายคนบอกว่า วัสดุดูไม่ค่อยมีราคา ผมเฉยๆ ครับ คอนโซลแข็งแต่ก็ไม่ถึงกับกระด้าง และลวดลายนูนๆ หลุมๆ ที่ฮิตทำกันนิสสันก็ตั้งใจทำให้สะท้อนแสงน้อย ใครจะว่าทุบแล้วดังก๊องๆ ผมว่าไม่แปลก เพราะไม่ใช่บีเอ็ม-เบนซ์คันละเป็นล้านสักหน่อย  เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1,200 ซีซี 79 แรงม้า เป็นใครก็ต้องสงสัยว่าจะสร้างอัตราเร่งและความเร็วได้เพียงพอต่อความต้องการ ของคนไทยที่คาดหวังสูงเกินระดับของรถหรือการจ่ายเงินเสมอ จะ...อืดในความรู้สึกของผู้ขับไหม

ผมเองเคยขับทดสอบในโรงงานนิสสันริมถนนบางนา-ตราดระยะทางไม่กี่ร้อยเมตร แม้จะพอจับความรู้สึกได้ว่า 900 กว่ากก. รวม 2 คนในรถแล้วเป็นแถวๆ 1,100 กก. กับเครื่องยนต์ 79 แรงม้า น่าจะทำอัตราเร่งได้แค่..พอดีๆ ไม่หวือหวาแต่ไม่อืด

แต่ลึกๆ ในใจผมก็ยังมีลุ้นว่าเกียร์ซีวีทีรุ่นใหม่ของนิสสันที่มีอัตราทดแปรผันได้ ช่วงกว้างระดับ 7 เท่าตัวกว่าๆ น่าจะเรียกแรงบิดได้เร็ว ไต่ไปหารอบแรงม้าสูงสุดได้ต่อเนื่อง ก็น่าจะวิ่งพอๆ กับรถเครื่องพันห้า (ร้อยซีซี) ได้แบบไม่ต้องลุ้นจนเกร็งตอนแซง

 

 

 

การออกตัวในขณะตั้งขบวนมาร์ชเกือบ 20 คัน ผมว่าเกียร์ซีวีทีที่ทำงานแปรผันอัตราทดในช่วงความเร็วต่ำ มีอาการกระตุกเบาๆ แต่ไม่ทุกครั้ง และไม่ถึงกับน่ารำคาญ หากไม่จ้องจับผิดก็อาจไม่รู้สึก จนผมไม่อยากเรียกว่าอาการกระตุกเลยครับ อยากจะเรียกว่า...อื้ดๆ ก็ไม่รู้ว่าใครจะจินตนาการตามได้หรือไม่

แต่เมื่อลอยตัวในช่วงความเร็ว 30 กม./ชม.ขึ้นไป ไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มความเร็ว ก็ไม่มีอาการนี้ จะมีก็ช่วงขับๆ จอดๆ เป็นบางครั้งและเบาๆ เท่านั้น ใครที่ไม่จ้องจับผิด อาจไม่เจอ จนนึกว่าผมมั่วก็เป็นได้

ระบบปรับอากาศในคันนี้เป็นแบบออโต้จอดิจิตอล เย็นเกินพอทั้งที่อากาศภูเก็อตวันนั้นผมว่าแตะ 40 องศา ผมปรับความเย็นไว้ที่ 24 องศาและพัดลมเบอร์ 2 บ้าง 3 บ้าง ก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกันอีก ในใจผมว่าระบบแอร์แบบนี้ดีเกินรถครับ ขับรถในไทย แอร์ปุ่มหมุนแมนวล ปรับไว้เย็นและลมแรงแค่ไหนพอใจ ก็ตั้งไว้ตรงนั้นจนลืม ถ้าร้อนหน่อยก็เพิ่มแรงลม

ออกจากสนามบินก็เป็นทางแคบคดเคี้ยวและถูกกำหนดให้ขับเป็นขบวน นั่นหมายความว่าต้องไล่คันหน้าไว้ไม่ให้ห่างหรือชิดเกินไป เสมือนว่าเป็นบทพิสูจน์อัตราเร่งไปในตัว ผมลองจับ เวลาด้วยนาฬิกาแบบเข็มในข้อมือ 0-100 กม./ชม. แถวๆ 15 วินาทีครับ อย่ารีบบอกว่าอืด คุณคิดว่ารถถนนยุคนี้ อัตราเร่งบนถนนจริงเป็นเลขตัวเดียวมีสักกี่รุ่นครับ กดคันเร่งลึกๆ เพื่อไล่ตาม เกียร์ซีวีทีแปรผันอัตราทดได้ฉับไว แทบจะตามเท้าขวาที่กดคันเร่งได้เลย รอบถูกกวาดไปแถวๆ แรงบิดสูงสุด 4,500 รอบ/นาที แล้วไต่กวาดไปที่แถวๆ 6,000 รอบ/นาทีอันเป็นรอบแรงม้าสูงสุด นิ่งอยู่ตรงนั้น ใครไม่คุ้นกับเกียร์ซีวีทีจะนึกว่าอืด เพราะรอบค้าง เสียงเครื่องครางฮืออยู่ตลอด ไม่นึกว่าความเร็ว 120 กม./ชม. ของมาร์ชจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับผม และยังมีแรงเหลือ

 

 

ขึ้นสู่ไฮเวย์ยาวจากแยกสนามบินออกนอกเมือง ย้อนไปทางสะพานสารสิน ทางตรงยาว ขบวนมาร์ชที่เขาว่ากันว่าเครื่องแค่ 3 สูบ 1,200 ซีซี ก็วิ่งกันเป็นพรวน แซงขึ้นแซงลงเพื่อถ่ายรูปบ้าง แซงรถชาวบ้านกันเพียบครับ ความเร็วที่ใช้บ่อย 80-130 กม./ชม. การแปรผันอัตราทดของเกียร์กว้างดีครับ เมื่อขับนิ่งๆ ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ต้องการนิ่ง ระบบควบคุมก็แปรผันอัตราทดจนได้รอบแค่ 2,000 รอบต้นๆ เท่านั้น และเมื่อต้องการเร่งแบบแผ่วๆ กดคันเร่งลึกลงไปนิด รอบก็ไม่ตีขึ้นมากให้เปลืองน้ำมัน แต่เกียร์แปรผันอัตราทดเพื่อเพิ่มความเร็วให้อย่างต่อเนื่อง

หากเร่งลึกหรือที่เคยคุ้นกับอาการคิกดาวน์ เกียร์ซีวีทีไม่มีดาวน์เกียร์ครับ เพราะมีแต่แปรผันอัตราทดขยับพูเลย์อย่างฉับพลัน เพื่อเพิ่มอัตราทดและเพิ่มรอบเครื่องยนต์ให้ไปสู่รอบแรงบิดและแรงม้าสูงสุด ใครขับรถมาร์ชหรือรถที่ใช้เกียร์ประเภทนี้ ต้องทำความเข้าใจอย่าคิดว่าอืด เพราะรอบกับเสียงเครื่องในตอนเร่ง ที่ค้างอยู่ ไม่ได้แกว่งขึ้นๆ ลงๆ แบบเกียร์ที่มีอัตราทดเหมือนขั้นบันได

ใครอยากทราบความเร็วสูงสุด ผมไม่ได้ทำครับ แต่ลองกดคันเร่งลึก-ไล่ยาว โดยไม่ต้องลุ้นมาก ทะลุ 150 กม./ชม. แบบยังมีแรงต่อ และน่าจะจบแถวๆ แตะ 170 กม./ชม. (แล้วจะเล่นความเร็วปลาย ไปทำไมกับรถเล็กแค่นี้)

เมื่อขับลอยตัวเหมือนเดินทางไกล แล้วต้องเบรกต้องผ่อน การกลับมาเร่งไต่ความเร็วอีกครั้ง ไม่ใช่ปัญหาเลยครับ เพราะเกียร์ปรับอัตราทดและเรียกรอบได้เร็วดี ผมกล้าบอกว่า...ไม่อืด แต่ไม่ได้แซงขาดแบบรถสปอร์ตแน่ๆ การเดินทางไกลกับสภาพจราจรปกติ ถ้าจะซิ่ง ผมว่าขับแซงรถชาวบ้านเขาเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าถูกแซงแน่ๆ

 

 

ใครจะหา ว่าผมเชียร์ ผมกล้าบอกว่าไปทดลองขับเองเลย แต่เน้นว่าต้องกดคันเร่งหนักๆ ด้วยนะ แรงม้าของเครื่องไม่มาก แต่ต้องชมเกียร์ซีวีที ที่ช่วยแปรผันอัตราทดได้ฉับไวและเป็นช่วงกว้าง ในทุกช่วงความเร็วจึงสามารถเรียกอัตราเร่งได้เพียงพอ หรือเกินพอนิดๆ สำหรับระดับของรถด้วยซ้ำไป กดคันเร่งลึกๆ เมื่อจะซ่า แล้วอย่ามึนกับเครี่องและรอบเครื่องที่สูง ให้ดูเข็มความเร็วและวิวภายนอกว่าวิ่งผ่านสายตาเร็วขึ้นไหม

ผมกล้าบอกครับว่า...ไม่อืด และเดินทางไกลได้กับเครื่อง 3 สูบ 1,200 ซีซี และม้าเท่านี้ เพราะตัวเบา ที่สำคัญมีเกียร์ซีวีทีซึ่งมีอัตราทดกว้างและแปรผันได้อย่างฉับไว อาการโคลง อีกความสงสัยแน่ๆ ว่ารถเล็กแบบนี้ขับเร็ว บนทางด่วนหรือเดินทางไกล จะปลิวไหม ทั้งจากแรงลมเอง หรือจากรถคันอื่น

ผมมองไว้ ล่วงหน้าจากรูปทรงภายนอกที่นิสสัน ตั้งใจทำตัวถังทรงสูง เพื่อสร้างจุดเด่นความกว้าง-ยาว-สูงของห้องโดยสาร ซึ่งมักจะหนีกฎธรรมชาติไม่พัน รถสูงสาดโค้งแล้วต้องโคลงบ้าง แต่ด้วยระยะฐานล้อที่ไม่สั้น ล้อถูกจับอยู่ใกล้มุมรถที่สุด และช่วงล่างก็ไม่ได้ถูกเซ็ตไว้สูงโย่งแบบรถเก๋งบางรุ่นหรือเอสยูวี  เมื่อขับเดินทางในช่วงไฮเวย์ของภูเก็ต ด้วยความเร็วแถว บวก-ลบ 100 กม./ชม. ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิน เพราะขับเป็นขบวน ต้องรักษารูปแบบขบวน และซ่าๆ กันทั้งนั้น ผมว่าพวงมาลัยไวไปบ้าง แต่ไม่ใช่พวงมาลัยมีปัญหาแบบที่ในบางเวบไซต์หรือผู้คนร่ำลือกัน

ยางกว้าง 175 มม. ซึ่งมีหน้าสัมผัสจริงแถวๆ 150 มม. หรือต่ำกว่า ทำหน้าที่ได้ดีตามขนาดของมัน ไม่กรีดร้องเมื่อเข้าโค้งกว้างแบบเร็วสักหน่อย มือกำพวงมาลัยก็ไม่ได้เกร็ง
บอกตามตรงครับ ภาพในมุมที่ได้จากหลังพวงมาลัย ผมขับรถมือซ้ายมือเดียว มือขวาถือกล้องดิจิตอล คอมแพกต์ แคนนอน ตัวละไม่กี่พันบาท บันทึกภาพบ้างปรับมาบันทึกวีดีโอบ้าง ทั้งที่ขับรถในขบวนไปด้วย

อย่ารีบมองว่าผมประมาท ก็ทำไงได้ล่ะครับ อาชีพนี้ ในบางครั้งเขาไม่ให้เอาช่างภาพไปด้วย ผมก็ทำงานได้ปกติ และต้องเก็บภาพและข้อมูลในแง่มุมของผมมาด้วย เอาเป็นว่าขับรถไล่เป็นขบวน 100 (กม./ชม.) บวกลบ แต่ต้องขับมือเดียวบ่อยๆ รอดมาได้ และคนที่นั่งข้างๆ ซึ่งมาจากต่างสำนักไม่โวยก็แล้วกันครับ แต่เกาะ หนึบไหม ? ไม่หนึบแน่ครับ มีโคลงนิดๆบ้าง พวงมาลัยไวเมื่อเร็วหน่อยหรือเลี้ยวเร็ว จะเอาอะไรกับรถโย่งๆ ยาง 175 ล่ะครับ  ถ้าอยากซ่า เกาะหน่อย (แต่ยอมอืดนิด) หาเปลี่ยนล้อแม็ก 16 17 นิ้ว พร้อมยางกว้างกว่านี้ รับรองว่า สวยพร้อมซ่าแน่ๆ

เมื่อผ่านสะพานสารสินออกนอกเมืองเส้นที่จะไปพังงา แต่ไม่ได้ไป เลยผ่านด่านไปไม่นานนัก ถูกกำหนดให้วนกลับเข้าเมือง เจอเส้นทางไฮเวย์ โค้งยาวๆ มีมุมเอียง และขึ้นลงเนินยาวๆ บ้าง ขับไป ถ่ายรูปไป ถ่ายวีดีโอไป แต่ไม่ได้ถือกล้องตลอดเวลานะครับ ผมไม่ได้ประมาทขนาดนั้น มาร์ชไม่ ได้ทำให้ผมเกร็ง หรือต้องลุ้นเมื่อต้องเร่งไล่ขบวน เพราะตอนใช้กล้อง ผมต้องผ่อนคันเร่งลงบ้าง เพื่อความปลอดภัย ใครจะเพี้ยนกดคันเร่งสุดๆ แล้วเล่นกล้องไปด้วย

เข้าเมืองเจอการจราจรคล้ายริมเมืองกรุงเทพฯ เกียร์ซีวีทีก็ทำงานนุ่มดี มีให้รู้สึกอืดๆ บ้างในบางครั้ง ถ้าผมตั้งใจจับผิด แต่ลอยตัวไปแล้วไม่มีอะไรสะดุดใจ บังเอิญ เจอรถติดบ้างสั้นๆ ก็รู้สึกว่าออกตัวดีครับ  เผลอ เล่นกล้องไปบ้าง ขบวนทิ้งระยะออกไป ไม่ทันที่คันหลังจะบีบแตร ผมก็กดคันเร่งตามไปได้

พักเที่ยงแต่ยังไม่ใช่พักทานข้าว มีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ผมจับริชชี่ มือดีของหน้ามอเตอร์ริงบางกอกโพสต์ เพื่อนร่วมอาชีพ ที่คุ้นเคยมาเกือบ 20 ปี เขาสูง 183 เซนติเมตรครับ ผมต้องการนายแบบมาทดลองความกว้างขวางจริงของห้องโดยสาร บังคับให้เขานั่งหน้าก่อน ปรับเบาะให้ได้ระยะปกติของเขา หัวเข่าของเขาห่างครึ่งคืบครับ ผมลองมานั่งบนเบาะหลัง หลังที่เขาปรับไว้แล้ว หัวเข่าผมยังห่างหลังพนักพิงเบาะหน้าประมาณ 3-4 นิ้วมือแนวนอนหรือเอามือลืบผ่านหัวเขาได้หลวมๆ เมื่อให้ริชชี่นั่งเบาะหลัง หัวเข่าเขาก็ยังไม่โดนพนักพิงเบาะหน้าครับ เอามือลูบผ่านหัวเข่าได้ ที่สำคัญ คือ ศีรษะเขาไม่ติดกับแผงบุหลังคาด้านหลังครับ เขาบอกว่ารถรุ่นอื่นระดับบีเซกเมนต์คันละ 6-7 แสน นั่งหลังศีรษะเขาติดครับ ไม่ใช่เรื่องเชียร์หรือมหัศจรรย์อะไรหรอกครับ นิสสันตั้งใจและกล้าทำตัวถังทรงสูงกว่าชาวบ้านเขา ดูจากรูปภายนอกมองจากด้านท้ายก็เดาออกได้ว่า นั่งข้างในแล้วเฮดรูมจะเหลือเฟือ อ้อ..อย่าลืมนะครับริชชี่ เขาสูง 183 เซนติเมตร.

 

 

หลังจาก นั้นผมเป็นคนนั่งและบอกเส้นทาง แอร์เย็นดีครับ มองไปรอบๆ ก็โล่งดี จนไปพักรับประทานอาหาร ในเรื่องพวงมาลัยที่บางคนร่ำลือกันก่อนหน้านี้ว่า มีปัญหา หรือไม่แม่น
ผมพยายามจับผิด ก็ไม่พบอะไร คุยกับน้าตั๋ม-ถิรพร เนาว์ถิ่นสุข มือเก๋าเก่าแก่ ก็บอกว่าปกติ ไม่เจออะไรแปลกๆ เลยผมเดาว่าคนที่ขับแล้วบอกว่าการเลี้ยวผิดปกติ น่าจะมาจากอาการ...ทอร์คสเตียร์ของรถขับหน้า และประกอบกับยางแคบ เลี้ยว แล้วไว กดคันเร่งนิดๆ แล้วหน้าดื้อ ยางหน้ากว้างจริงไม่ถึง 150 มม. เลี้ยวแล้วแตะคันเร่งส่ง ยังไงก็ดื้อ
จะแม่นมากได้ไง แทรคชันของยางมีแค่นี้ นอกจากนั้นผู้ร่วมทดสอบในทริปเดียวกัน บอกว่าบางคันพวงมาลัยเบามาก ผมว่าปกติ และยังไม่เคยเจอรถเล็ก ขับแล้วพวงมาลัยคมเลยครับ

ช่วงบ่าย เปลี่ยนเป็นขับรุ่นเกียร์ธรรมดา เอาสักหน่อย แม้คนจะไม่ค่อยซื้อ ประมาณว่าในกรุงเทพฯ คงมีสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขนาด ถ้าต่างจังหวัดอาจขายมากหน่อย
เกียร์ออโต้แบบซีวีที อัตราเร่งไม่ได้แพ้เกียร์ธรรมดาแบบหลุดลุ่ยนะครับ ดีไม่ดีไล่กันติดๆ เพราะรอบไม่ต้องแกว่งขึ้น-ลง รอบของรถที่ใช้เกียร์ซีวีทีเมื่อเร่งหนักๆ จะค้างอยู่แถวๆ รอบแรงม้าสูงสุดไงครับ

คันนี้เป็นแอร์-แมนวลแบบพื้น ฐาน ปุ่มหมุน ผมกลับชอบ บ่ายสามแดดไม่แรงและมีฝนพรำบางช่วง เมื่อฝนหยุดแล้วมีแดดรำไร เปิดพัดลมแอร์เบอร์ 2 เย็นเกินพอไปนิด เปิดเบอร์ 1 ก็ขาดไปนิด เมื่อได้ขับรุ่นเกียร์ธรรมดา ก็หวือหวาขึ้นหน่อย แต่เมื่อยขึ้นนิด ไม่มีที่พักเท้าซ้าย แต่ก็พอวางเท้าแปะไปได้
ความเร้า ใจเกิดขึ้นนิดๆ เพราะรอบตัดที่แถว 6,800 รอบต่อนาที (เกือบ 7 พันรอบ !) จัดจ้านไม่เบาสำหรับเครื่องเล็กแค่นี้ ก็เพราะเครื่องเล็ก-ไส้ในเล็กนี่เอง ที่ทำให้รอบจัดได้ ความเร็วเดินทาง ผมว่ากินนำมันกว่ารุ่นเกียร์ซีวีทีแน่ๆ ครับ ที่ 100 กม./ชม. รอบแตะ 3,000 แต่ซีวีที 2,000 ต้นๆ เองครับ เครื่องเล็กเร่ง-เสียงลื่น-รอบจัด แต่ยังไงผมก็ชอบการแปรผันอัตราทดของเกียร์ซีวีทีครับ

ถ้าเริ่มจากการทำความเข้าใจระดับของรถ และเลิกตั้งกำแพงว่ารถเล็กต้องวิ่งในเมืองเท่านั้น ลองนั่งจะทราบว่าใหญ่เกินตัว และเมื่อกดคันเร่งหนักๆ แล้วคุณจะบอกว่า..อื้อ...ใช้ได้ ไม่ต้องย่อง (แล้วโว้ย) ส่วนความสิ้นเปลืองในการทดสอบ ไม่มีการวัดครับ เพราะกดคันเร่งกันหนักและบ่อย แซงรถชาวบ้านเขาเพียบ เมื่อจบการทดสอบคุยกับวิศวกรญี่ปุ่นว่าขับแบบนี้ ในความเห็นของเขา มาร์ชน่าจะทำได้กี่กม./ลิตร เขาตอบหน้าตาเฉยว่า 20 แต่ในใจผมว่า แถว 15  กม./ลิตร บวก-ลบ เพราะขบวนรถเล็กเกือบ 20 คันที่ขับซ่าไปทั่วภูเก็ตเลยครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook