รีวิว MG MAXUS 9 ใหม่ เอ็มพีวีไฟฟ้า 7 ที่นั่ง โดดเด่นทั้งสมรรถนะและความหรูหรา

รีวิว MG MAXUS 9 ใหม่ เอ็มพีวีไฟฟ้า 7 ที่นั่ง โดดเด่นทั้งสมรรถนะและความหรูหรา

รีวิว MG MAXUS 9 ใหม่ เอ็มพีวีไฟฟ้า 7 ที่นั่ง โดดเด่นทั้งสมรรถนะและความหรูหรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     รีวิว MG MAXUS 9 ใหม่ เอ็มพีวีไฟฟ้า 7 ที่นั่งระดับแฟลกชิปจากค่ายเอ็มจี ชูจุดขายด้วยความหรูหราภายในห้องโดยสารไม่แพ้แบรนด์เจ้าตลาด แถมยังใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% หมดกังวลเรื่องค่าน้ำมัน จะน่าใช้มากน้อยแค่ไหนติดตามได้ในบทความนี้ครับ

mg_maxus9_30

     MG MAXUS 9 เป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นล่าสุดจากค่ายเอ็มจี และยังถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีรถเอ็มพีวีไฟฟ้า (e-MPV) มาให้เป็นทางเลือก กับราคาจำหน่ายป้วนเปี้ยนอยู่ราว 2 ล้านบาทกลาง ใกล้เคียงกับเจ้าตลาดเอ็มพีวีอย่างเช่น Hyundai Staria และ Kia Carnival รวมถึงยังมีราคาถูกกว่าเอ็มพีวีหรูอย่าง Toyota Alphard / Vellfire ถึงครึ่งต่อครึ่ง จึงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใครที่คิดจะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า

     MG MAXUS 9 มีให้เลือกด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่นย่อย คือ รุ่น X ราคาจำหน่าย 2,499,000 บาท และรุ่น V ราคาจำหน่าย 2,699,000 บาท โดยทั้ง 2 รุ่นมีจุดแตกต่างสำคัญอยู่ที่เบาะนั่งแถวที่ 2 และอุปกรณ์มาตรฐานเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยสำคัญนัก

mg_maxus9_32

ภายนอก

     รูปลักษณ์ภายนอกของ MG MAXUS 9 ถูกออกแบบเน้นความโฉบเฉี่ยวแฝงด้วยความหรูนิดๆ โดยทั้งรุ่น X และรุ่น V ถูกติดตั้งไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED พร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ขณะที่ไฟท้ายเป็นแบบ LED พร้อมไฟเลี้ยวแบบ Sequential ตบท้ายด้วยล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 235/55 R19

     แม้ว่าโดยรวมแล้วดีไซน์ด้านหน้าของ MAXUS 9 ออกจะดูแปลกๆ ไปสักหน่อย อาจเป็นเพราะรถคันนี้ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นต้องมีกระจังหน้าเหมือนกับรถสันดาป แต่ด้านท้ายถือว่าสวยลงตัวไม่น้อย พอฟาดฟันกับคู่แข่งได้อย่างสบายๆ

mg_maxus9_38_1

     ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ก็มีให้อย่างครบครันอย่างที่คาดหวังจากรถระดับราคา 2 ล้านบาท เช่น ประตูคู่หลังแบบสไลด์ด้วยไฟฟ้า, ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า, หลังคาซันรูฟสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า และหลังคาซันรูฟแบบ Panoramic สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง รวมถึงกระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า และระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ

ภายใน

     รถคันที่เรามีโอกาสทดลองขับในครั้งนี้เป็นรุ่น X ที่มาพร้อมเบาะนั่งแถวที่ 2 แบบ Captain Seats แยกซ้าย-ขวาออกจากกัน โดยสามารถเดินเข้า-ออกไปยังเบาะนั่งแถวที่ 3 ได้โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนหรือพับเบาะ เพราะสามารถเดินผ่านช่องว่างกึ่งกลางระหว่างตัวเบาะได้ทันที ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับรุ่น V ที่มีคอนโซลขนาบเบาะนั่งแถวที่ 2 ทำให้พื้นที่ระหว่างตัวเบาะหายไป อีกทั้งการจัดวางเบาะโดยไม่มีแผงคอนโซลเช่นนี้ยังช่วยให้ผู้โดยสารตอนหลังรู้สึกโปร่งโล่ง ไม่อึดอัดอีกด้วย

ห้องโดยสารของรุ่น X ที่เราทดสอบในครั้งนี้ห้องโดยสารของรุ่น X ที่เราทดสอบในครั้งนี้

     ส่วนเบาะนั่งผู้ขับขี่เป็นแบบปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้าได้ 4 ทิศทาง มาพร้อมกระจกไฟฟ้า One Touch Up - Down ทั้ง 4 บาน ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแยกอิสระหน้า-หลัง ระบบกรองฝุ่น PM2.5 ระบบชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย (Wireless Charger) สำหรับผู้โดยสารตอนหน้า แถมยังมีช่องจ่ายไฟแบบ USB มาให้ถึง 7 จุด และช่องจ่ายไฟแบบ 220V มาให้อีก 1 จุดด้วย

ห้องโดยสารรุ่น Vห้องโดยสารรุ่น V

     โดยรวมแล้วห้องโดยสารของ MAXUS 9 ถือว่าใหญ่โตกว้างขวาง รองรับผู้โดยสารแบบ 7 ที่นั่งได้จริงๆ (แต่ถ้านั่งแค่เพียง 6 คนถือว่าลงตัวที่สุด) แม้แต่ผู้โดยสารผู้ใหญ่ก็สามารถนั่งโดยสารเบาะแถว 3 ได้อย่างสบาย ถือเป็นข้อได้เปรียบที่หาไม่ได้จากรถประเภท SUV/PPV

     ด้านระบบอินโฟเทนเมนต์เป็นหน้าจอสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และสมาร์ทโฟนระบบ Android มีลำโพงให้ 8 ตำแหน่งรอบห้องโดยสาร พร้อมพวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชันสำหรับควบคุมเครื่องเสียงและปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์ เสริมด้วยไฟตกแต่งภายในห้องโดยสาร Ambient Light ที่ปรับได้ถึง 64 สี

mg_maxus9_15

     ขณะที่ระบบความปลอดภัย Advanced Synchronized Protection System ประกอบไปด้วย 25 ระบบ ซึ่งมีฟังก์ชันเด่น เช่น ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผันอัตโนมัติ ACC (Adaptive Cruise Control) พร้อม TJA (Traffic Jam Assist), ระบบป้องกันการชน AEB (Autonomous Emergency Braking) พร้อมระบบเตือนการชน FCW (Forward Collision Warning), ระบบเตือนรถออกนอกเลน LDW พร้อมช่วยประคองรถให้อยู่ในเลน ELK, ระบบเตือนมุมอับสายตา BSD รวมถึงกล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา ที่สามารถแสดงมุมภาพแบบ Bird eye view เป็นต้น

ระบบขับเคลื่อน

     MAXUS 9 ทั้งรุ่น X และ V ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor กำลังสูงสุด 245 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร พร้อมแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 90 kWh เคลมระยะทางขับขี่เอาไว้ที่ 540 กิโลเมตรต่อการชาร์จแต่ละครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC)

     ขณะที่ระบบช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบอิสระมัลติลิงก์ พร้อมด้วยระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ โดยด้านหน้าจะเป็นดิสก์เบรกแบบสีช่องระบายความร้อนมาให้

mg_maxus9_27

การขับขี่

     Sanook Auto ได้มีโอกาสทดสอบ MAXUS 9 โดยขับจาก อ.เขาใหญ่ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร ความประทับใจอย่างแรก คือ อัตราเร่งที่รวดเร็วทันใจตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในพิกัดเดียวกันอย่าง Hyundai H-1 และ Kia Carnival ที่ล้วนแต่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ส่งผลให้การขับขี่ MAXUS 9 รู้สึกกระฉับกระเฉง ไม่อุ้ยอ้ายอย่างที่คิด แม้ว่าตัวถังจะมีขนาดใหญ่โตก็ตาม

     นอกจากจะมีอัตราเร่งที่ดีแล้ว แรงบิดกว่า 350 นิวตัน-เมตรที่สามารถเรียกใช้ได้แทบจะในทันทีที่กดคันเร่ง ยังส่งผลให้การเร่งแซงทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ สามารถซอกแซกไปตามการจราจรในช่วงขากลับบน ถ.พหลโยธิน ได้แบบไม่รู้สึกเหนื่อย ถือเป็นความโดดเด่นของ MAXUS 9 ที่แทบจะไม่มีคู่เปรียบเลย ณ ปัจจุบัน

mg_maxus9_24

     ขณะที่ช่วงล่างของ MAXUS 9 ถูกเซ็ตมากึ่งกลางระหว่างความนุ่มนวลและการยึดเกาะถนน สามารถดูดซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนได้ดี แม้ว่าจะมีอาการโคลงให้เห็นบ้าง แต่ก็ถือเป็นธรรมชาติของรถประเภทนี้ที่มีความสูงตัวถังมากกว่ารถเก๋งทั่วไป ซึ่งหากใช้งานในย่านความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วล่ะก็ ถือว่าเป็นช่วงล่างที่เซ็ตมาได้ลงตัวเลยทีเดียว เหมาะสำหรับครอบครัวที่ต้องการนั่งโดยสารแบบสบายๆ ไม่บ่นเรื่องเหนื่อยหรือแข็งกระด้าง อยากไปที่ไหนก็ไปได้หมดทั้งระยะใกล้และระยะไกล

     สำหรับการทดสอบในครั้งนี้เราไม่ได้มีการควบคุมตัวแปรในด้านการชาร์จไฟ จึงไม่อาจบอกได้เต็มปากว่าเราใช้ไฟไปทั้งหมดเท่าไหร่ แต่บนหน้าจอแสดงอัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้าไว้ที่ 25.9 kWh/100 กิโลเมตร กับระยะทางที่วิ่งไปทั้งสิ้น 173.6 กิโลเมตร ดังนั้นหากคำนวณคร่าวๆ กับความจุแบตเตอรี่ 90 kWh แล้วล่ะก็ แสดงว่า MAXUS 9 สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางอย่างน้อย 300 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการชาร์จแต่ละครั้งแน่ๆ ยิ่งที่เน้นขับแบบเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ ก็น่าจะได้ระยะทางไม่ต่ำกว่า 350 กิโลเมตรต่อชาร์จอย่างแน่นอน

mg_maxus9_02

สรุป

     MG MAXUS 9 ถือเป็นรถยนต์เอ็มพีวีที่มีความโดดเด่นในด้านสมรรถนะแบบรถไฟฟ้า 100% ด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วทันใจ และช่วงล่างที่นุ่มสบาย จึงกลายเป็นรถที่ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานในครอบครัว หรือแบบมีโชเฟอร์ขับให้นั่งไปทำงาน ประกอบกับเบาะนั่งแถว 2 แบบ Captain Seat ที่มีขนาดใหญ่ โอบรับสรีระได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เรียกได้ว่าเป็นความโดดเด่นที่ยากจะหาคู่เปรียบเมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายช่วง 2 ล้านบาทกลางเช่นนี้

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ

อัลบั้มภาพ 37 ภาพ ของ รีวิว MG MAXUS 9 ใหม่ เอ็มพีวีไฟฟ้า 7 ที่นั่ง โดดเด่นทั้งสมรรถนะและความหรูหรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook