BYD Dolphin อีวีราคาสบายกระเป๋า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง
รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะถูกลงไปมากกว่านี้ ประกอบกับโครงข่ายสถานีชาร์จไฟก็กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้หลายคนกล้าที่จะตัดสินใจหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น
ยิ่งปัจจุบันผู้บริโภคต่างก็มีทางเลือกที่หลากหลาย การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเสมอไป เช่นเดียวกับ BYD Dolphin รุ่น Standard Range ที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้ ซึ่งมีค่าตัวป้วนเปี้ยนเท่ากับอีโคคาร์เท่านั้นเอง จะน่าสนใจขนาดไหนไปติดตามกันได้เลยครับ
BYD Dolphin ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีให้เลือก 2 รุ่นย่อย คือ รุ่น Standard Range ที่มีราคาจำหน่ายเริ่มต้นเพียง 699,999 บาท และรุ่น Long Range ที่มีราคาจำหน่ายขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 859,999 บาท ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีราคาจำหน่ายเทียบเท่ากับรถอีโคคาร์เท่านั้น แถมทั้งสองรุ่นยังเคลมระยะทางขับขี่ได้ไกลกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระยะทางที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้งานจริง เพราะต่อให้ระยะทางวิ่งจริงอยู่ที่ราว 300 กิโลเมตร ก็เพียงพอสำหรับการขับไป-กลับที่ทำงานโดยชาร์จเพียงวันเว้นวันก็อยู่ได้สบายๆ
ภายนอก
BYD Dolphin เป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Hatchback 5 ประตู ที่มีขนาดห้องโดยสารเทียบเท่ากับรถระดับ C-segment ด้วยระยะฐานล้อที่ยาวถึง 2,700 มม. (ลองเทียบให้เห็นภาพว่า Toyota Yaris ATIV รุ่นปัจจุบันมีความยาวฐานล้อเพียง 2,620 มม.เท่านั้น) ซึ่งฐานล้อที่ยาวขึ้น (มักจะ) ส่งผลโดยตรงให้พื้นที่วางขาด้านหลังกว้างขวางนั่งสบายขึ้นนั่นเอง
แม้ว่ารุ่น Standard Range จะเป็นเพียงรุ่นเริ่มต้น แต่ก็มีอุปกรณ์มาตรฐานติดตั้งมาให้เพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED, ระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ (High-beam Assist), ระบบหน่วงเวลาปิดไฟหน้า (Follow Me Home), ไฟท้ายแบบ LED, ระบบปัดน้ำฝนแบบปรับตั้งหน่วงเวลา พร้อมก้านปัดน้ำฝนด้านหลัง, กระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบไล่ฝ้า และล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว ที่แปะด้วยฝาครอบล้ออีกชั้นหนึ่งเพื่อลดแรงต้านอากาศลง
ขณะที่ตัวถังภายนอกของรุ่น Standard Range มีให้เลือกทั้งหมด 4 สีด้วยกัน โดยแต่ละสีจะมาพร้อมห้องโดยสารที่ตกแต่งด้วยสีเข้ากัน ดังนี้ สีม่วง Flora Purple จับคู่ภายในสี Brown / Black, สีชมพู Coral Pink จับคู่ภายในสี Pink / Grey, สีครีม Coastal Cream จับคู่ภายในสี Black / Brown และสีที่น่าจะถูกใจคุณผู้ชายส่วนใหญ่คือสีเทา Alaskan Grey จับคู่กับภายในสี Black / Grey
ภายใน
เมื่อเปิดประตูเข้ามายังห้องโดยสารจะพบกับเบาะนั่งหุ้มหนังสังเคราะห์แบบปรับมือที่คู่หน้า (ถ้าเป็นรุ่น Long Range จะได้เบาะไฟฟ้าคู่หน้า พร้อมระบบระบายอากาศ) และเบาะนั่งด้านหลังที่สามารถปรับพับแยก 60:40 ได้ ซึ่งบรรยากาศการตกแต่งโดยรวมของ Dolphin แทบจะเหมือนกับ ATTO 3 ที่ถูกย่อส่วนลงมา ไม่ว่าจะเป็นแผงคอนโซลที่ถูกตกแต่งด้วยลวดลายโค้งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปลาโลมา พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันดีไซน์ 3 ก้านแบบสปอร์ตท้ายตัดที่แทบจะหาความเหลี่ยมไม่เจอ รวมถึงหน้าจอสัมผัสขนาด 12.8 นิ้ว ที่สามารถหมุนแนวตั้งหรือแนวนอนด้วยไฟฟ้า ก็ถูกนำมาใช้กับ Dolphin ด้วยเช่นกัน
เมื่อพูดถึงระบบอินโฟเทนเมนท์ของ Dolphin รุ่น Standard Range ก็ต้องบอกว่าสามารถเชื่อมต่อเข้ากับมือถือไอโฟนเพื่อใช้งาน Apple CarPlay ผ่านสาย USB ได้ ทั้งยังมีระบบสั่งงานด้วยเสียงที่รองรับได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงแผนที่พร้อมระบบนำทางในตัว แม้ว่าการใช้แผนที่ของ Google Maps จะดูมีภาษีดีกว่าในด้านความแม่นยำและการอัปเดตสถานที่ต่างๆ ก็ตามเถอะ
นอกจากนี้ ภายในห้องโดยสารยังมีช่อง USB-A และ USB-C อย่างละ 2 จุด (รวมเป็นทั้งหมด 4 จุด) ติดตั้งมาให้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังแบบจุกๆ เรียกว่าไม่ต้องแย่งกันเสียบสายใดๆ ทั้งสิ้น (เว้นแต่ใครบางคนไม่ยอมหยิบสายชาร์จมาเองนั่นแหละ) แต่น่าเสียดายที่ระบบชาร์จไฟแบบไร้สาย หรือ Wireless Charger จะมีให้เฉพาะรุ่น Long Range เท่านั้น
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ยังประกอบไปด้วย ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแบบ LED ที่สามารถเปิด-ปิดด้วยระบบสัมผัสทั้งด้านหน้าและด้านหลัง, ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชัน Heater, ระบบกรองฝุ่น PM 2.5, กุญแจแบบ Keyless Entry พร้อมปุ่มสตาร์ท เป็นต้น
แม้จะเป็นรุ่น Standard Range แต่ก็มีระบบความปลอดภัยขั้นสูงติดตั้งมาให้เหมือนกับรุ่น Long Range เปี๊ยบ ซึ่งประกอบไปด้วย:-
- ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ (AEB)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (LDW)
- ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKB)
- ระบบช่วยควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
- ระบบช่วยเตือนการชนด้านหน้า (FCW)
- ระบบช่วยเตือนการชนด้านหลัง (RCW)
- ระบบช่วยเตือนจุดอับสายตา (BSD)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถเคลื่อนผ่านจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
- ระบบช่วยเบรกเมื่อมีรถเคลื่อนผ่านจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTB)
- ระบบช่วยควบคุมรถไม่ให้ออกนอกช่องทางเดินรถ (LDP)
- ระบบช่วยควบคุมฉุกเฉินให้รถอยู่ในช่องทางเดินรถ (ELKA)
- ระบบช่วยเตือนการชนเมื่อเปลี่ยนช่องทางเดินรถ (LCW)
ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ก็ได้แก่ ถุงลมคู่หน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้างคู่หน้า, ม่านถุงลมนิรภัย, ระบบควบคุมเสถียรภาพของตัวรถ ESC, ระบบป้องกันการลื่นไถล ESC, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบเตือนวัตถุเคลื่อนผ่านขณะเปิดประตู DPW, เซ็นเซอร์กะระยะหน้า-หลัง, ระบบตรวจวัดแรงดันลมยาง TPMS, ระบบเตือนการคาดเข็มขัดนิรภัย และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น
ระบบขับเคลื่อน
BYD Dolphin รุ่น Standard Range ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 70 kW หรือประมาณ 95 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 180 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า พร้อมด้วยแบตเตอรี่ BYD Blade Battery ขนาดความจุ 44.9 kWh ให้ระยะทางขับขี่ประมาณ 410 กม. ต่อการชาร์จแต่ละครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC) พร้อมทั้งเคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ไว้ที่ 12.3 วินาที และความเร็วสูงสุด 150 กม./ชม.
ขณะที่การชาร์จไฟรองรับทั้งชาร์จปกติแบบ AC และชาร์จด่วนแบบ DC ด้วยกำลังไฟสูงสุด 60 kW ผ่านหัวชาร์จแบบ CCS2 Combo ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานหัวชาร์จด่วนของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีระบบ V2L ที่สามารถจ่ายกระแสไฟจากแบตเตอรี่ของตัวรถ ไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกได้ โดยอุปกรณ์จ่ายไฟ V2L จะติดมาให้กับรถทุกคัน ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนช่วงล่างของรุ่น Standard Range ก็มีจุดแตกต่างไปจากรุ่น Long Range ด้วยเช่นกัน เนื่องจากใช้ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบ MacPhurson Strut และด้านหลังแบบ Torsion Beam ขณะที่รุ่น Long Range จะได้ช่วงล่างด้านหลังแบบอิสระ Multi-link ไปแทน ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการซับแรงสะเทือนและเสริมความมั่นคงในการขับขี่มากกว่ารุ่น Standard Range เล็กน้อย ซึ่งช่วงล่างทั้งสองประเภทจะเห็นความแตกต่างกันได้ชัดเมื่อใช้ความเร็วสูง แต่สำหรับย่านความเร็วในเมืองแทบไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
การขับขี่
ในแง่การขับขี่ของ BYD Dolphin รุ่น Standard Range กล่าวได้ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสมรรถนะเกินหน้าเกินตากว่าที่ระบุไว้ในโบรชัวร์อยู่นิดๆ เพราะแม้ว่ามอเตอร์ไฟฟ้าจะมีกำลังเพียง 95 แรงม้า แต่ก็สามารถตอบสนองได้อย่างฉับไวเหนือกว่ารถสันดาปทั่วไป ด้วยแรงบิดที่ถ่ายทอดลงสู่พื้นแบบ Instant torque ทำให้การเร่งออกตัวจากไฟแดงทำได้รวดเร็วทันใจ พละกำลังเหลือเฟืออย่างยิ่งสำหรับการขับขี่ในเมือง
ขณะที่ช่วงล่างเองก็ทำได้ดีเกินคาดถึงแม้จะเป็นช่วงล่างด้านหลังแบบ Torsion Beam ก็ตาม แต่ยังสามารถซับแรงสะเทือนได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะการขับผ่านฝาท่อหรือรอยต่อพื้นถนนที่ไม่เรียบ ช่วงล่างก็ยังคงมอบความนุ่มนวลชวนฝัน และช่วยให้รู้สึกว่าเรากำลังขับรถที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดตัวจริงๆ ของมัน
ด้านการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงก็ยังคงมอบการควบคุมที่มั่นคงและเฉียบคม แม้ว่าจะมีอาการโคลงให้เห็นบ้างนิดๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยืดฐานล้อให้ยาวกว่าปกติ แต่ยังคงต้องรักษาความกว้างของตัวรถให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานในเมือง ประกอบกับความสูงของเบาะนั่งที่แอบสูงกว่ารถเก๋งทั่วไปอยู่นิดหน่อย ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Dolphin ออกอาการโยนให้รู้สึกบ้างในจังหวะเข้าโค้ง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังถือว่าทำได้ดีกว่ารถกลุ่มอีโคคาร์ทางฝั่งญี่ปุ่นหลายเจ้าแล้ว
ส่วนการเก็บเสียงก็ทำได้น่าประทับใจเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรถคันนี้ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปที่คอยสร้างเสียงกวนใจ จะมีก็เสียงยางบดถนนที่แทรกเข้ามาบ้างเมื่อใช้ความเร็วสูง แต่ถึงกระนั้นเสียงที่แอบน่ากวนใจกลับกลายเป็นเสียงเตือนของระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่จู่ๆ จะดังก็ดังขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แถมแต่ละเสียงก็ดังเกือบจะคลัายกันหมด จนบางครั้งแทบไม่รู้เลยว่าเสียงเตือนที่กำลังดังขึ้นนั้นเป็นเสียงแจ้งเตือนของระบบใด พาลทำให้ผู้เขียนรู้สึกอยากปิดระบบช่วยเหลือการขับขี่พอสมควรทีเดียว
สรุป
BYD Dolphin รุ่น Standard Range จัดว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในเมือง และขับออกต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว ด้วยตัวถังที่มีขนาดกะทัดรัด แต่มีฐานล้อยาวเทียบเท่ากับรถ C-segment ทำให้พื้นที่ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งเต็มคัน 5 คนก็สบาย กับอุปกรณ์มาตรฐานที่มีให้แบบจุกๆ เมื่อเทียบกับราคาค่าตัว 7 แสนบาทมีทอน (ถึงจะทอนแค่ 1 บาทก็เถอะ)
หากว่าคุณสามารถยอมรับข้อด้อยบางอย่างได้ เช่น การแจ้งเตือนระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ดูเหมือนจะไม่ Sync กันเท่าไหร่นัก, ดีไซน์ภายนอกและภายในที่ดูจะไม่ Love ก็ Hate กันไปข้าง รวมถึงออปชันบางอย่างที่หายไปจากรุ่น Long Range แล้วล่ะก็ คุณก็จะได้รถ EV ที่มอบความคุ้มค่าน่าใช้มากที่สุดในขณะนี้แล้วล่ะครับ
อัลบั้มภาพ 55 ภาพ