ไฟแนนซ์ยึดรถ แต่ไม่มีรถคืน ทำอย่างไรดี?
หากถูกไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากค้างชำระค่างวดติดต่อกันเกินกว่า 4 งวด จนกระทั่งถูกไฟแนนซ์ดำเนินการยึดรถ แต่กลับไม่มีรถคืนให้ไฟแนนซ์ หากประสบเหตุการณ์เช่นนี้ต้องทำอย่างไร?
ไฟแนนซ์ตามยึดรถแต่ไม่มีรถคืน
โดยปกติแล้วหากลูกหนี้ค้างค่างวดรถยนต์เกิน 3 เดือนติดต่อกัน จะได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเพื่อให้ชำระค่างวดภายใน 30 วัน (รวมเป็นทั้งหมด 4 เดือน) หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการชำระ จะส่งผลให้สัญญาสิ้นสุดลง และไฟแนนซ์ก็จะตามยึดรถเพื่อนำไปขายทอดตลาดต่อไป
แต่ปัจจุบันมีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้วิธีผิดๆ โดยนำรถไปจำนำเพื่อเอาเงินก้อนออกมาใช้จ่าย ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วถือเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษถึงขั้นจำคุก เนื่องจากกรรมสิทธิ์ในตัวรถยังเป็นของไฟแนนซ์ ลูกหนี้เป็นเพียงผู้ครอบครองเท่านั้น ไม่สามารถนำรถไปจำนำหรือขายต่อได้ สุดท้ายเมื่อไฟแนนซ์มายึดรถที่บ้านหรือที่ทำงาน ก็ไม่สามารถหารถมาคืนให้ไฟแนนซ์ได้
ทางออกโดยไม่ต้องติดคุกยังพอมี
สุดท้ายแล้วหากไม่มีรถคืนให้กับทางไฟแนนซ์ ไม่ว่าจะเอาไปจำนำ ขายต่อ ยกให้ญาตินำไปใช้ หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อได้รับหมายศาล "ห้ามหนีหมายศาลเด็ดขาด" แนะนำว่าให้ไปรายงานตัวต่อศาลตั้งแต่วันแรกที่ศาลนัด และดำเนินการยอมรับสภาพหนี้ทั้งหมด เพื่อเข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้ อาจชำระเป็นเงินก้อน หรือขอผ่อนชำระก็ว่ากันไป ซึ่งกรณีนี้จะเป็นเพียงคดีแพ่งที่ไม่มีโทษจำคุก
แต่หากไม่ไปรายงานตัวตามที่ศาลนัด โดยมีเจตนาหลบหนีหมายศาลแล้วล่ะก็ จะนำไปสู่การเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 บัญญัติว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางกฎหมายยังพอมีช่องทางหลบเลี่ยงไม่ต้องรับโทษคดีอาญา แต่การนำรถไปจำนำหรือขายต่อในขณะที่ติดไฟแนนซ์ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่สมควรทำอย่างยิ่ง โดยหากติดปัญหาไม่สามารถชำระค่างวดได้ ยังพอมีทางแก้ไขก่อนจะเกิดปัญหา เช่น เจรจาปรับโครงสร้างหนี้, ขายดาวน์เปลี่ยนสัญญา, ขายให้เต๊นท์ที่รับซื้อพร้อมกับปิดบัญชี เป็นต้น