รีวิว Toyota YARIS CROSS 2024 ใหม่ โดดเด่นที่ความคุ้มค่า กับสมรรถนะที่พอเพียง
รีวิว Toyota YARIS CROSS 2024 ใหม่ รถครอสโอเวอร์ B-SUV ที่สามารถสร้างกระแสตอบรับได้อย่างล้นหลามนับตั้งแต่ถูกเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา กระชากใจใครหลายคนด้วยราคารุ่นท็อปไม่ถึง 9 แสนบาท แลกกับขุมพลังไฮบริด 1.5 ลิตร และออปชันที่อัดแน่นมาให้เต็มคัน แต่ในด้านสมรรถนะการขับขี่จะเป็นอย่างไร สมกับการรอคอยแค่ไหน? Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกัน
Toyota YARIS CROSS 2024 ใหม่ ถูกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยด้วย 3 รุ่นย่อย พร้อมราคาจำหน่าย ดังนี้
- รุ่น HEV SMART ราคา 789,000 บาท
- รุ่น HEV PREMIUM ราคา 849,000 บาท
- รุ่น HEV PREMIUM LUXURY ราคา 899,000 บาท
โตโยต้า ยาริส ครอส ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานแพล็ตฟอร์ม DNGA (Daihatsu New Global Architecture) เช่นเดียวกับ Veloz และ Yaris ATIV รุ่นปัจจุบัน โดยเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น First Jobber เพิ่งเริ่มต้นวัยทำงาน และกำลังมองหารถยนต์คันแรกเป็นรถคู่กาย เน้นขับรถไปกลับที่ทำงานเป็นหลัก และขับไปเที่ยวชานเมืองในวันหยุด และยังต้องเป็นรถครอสโอเวอร์ยกสูงเผื่อเอาไว้ลุยน้ำท่วมอีกด้วย
สำหรับรถคันที่เราทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น Premium Luxury ที่มีอุปกรณ์มาตรฐานครบครันที่สุด แลกกับราคาจำหน่ายอยู่ที่ 899,000 บาท แถมยังได้เครื่องยนต์ไฮบริดของโตโยต้าที่ขึ้นชื่อในเรื่องความประหยัดและไม่จุกจิก เชื่อว่าราคานี้ทำให้คนที่เพิ่งถอย Corolla Cross บางคนรู้สึกเซ็งได้เลยเหมือนกัน แต่เชื่อผมเถอะครับว่าถ้างบประมาณของคุณสามารถเอื้อมถึง Corolla Cross ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมาเสียใจกับค่าตัวของ Yaris Cross เลยแม้แต่นิดเดียว
หรือแม้แต่ใครกำลังลังเลว่าจะเลือก Corolla Cross ตัวเริ่มต้นไฮบริด หรือจะลงมาเล่น Yaris Cross ตัวท็อปไปเลยจบๆ ก็ขอย้ำประโยคเดิมอีกทีว่า ถ้าคุณจ่าย Corolla Cross ไหวแล้วล่ะก็ ผมแนะนำให้ข้าม Yaris Cross ไปเลยครับ สาเหตุเป็นเพราะอะไรเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังอีกที
ภายนอก
เริ่มต้นกันที่อุปกรณ์มาตรฐานของรุ่น Premium Luxury (ราคา 899,000 บาท) จัดเต็มทั้งไฟหน้าแบบ Full LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED, ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชันหน่วงเวลาปิด Follow-me-home, ไฟตัดหมอกหน้าแบบ LED, ไฟท้ายแบบ LED และล้ออัลลอยแบบทูโทนปัดเงาขนาด 18 นิ้ว ซึ่งดูเต็มซุ้มล้อให้ความสวยงามดี
รุ่น Premium Luxury เป็นเพียงรุ่นเดียวที่จะได้หลังคากระจก Panoramic Glass Roof แบบ Fixed Type คือ มีหน้าที่เป็นกระจกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเปิดเพื่อรับอากาศหรือโผล่ศีรษะออกไปข้างนอกได้ แต่ยังดีที่มีม่านกรองแสงเลื่อนเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้าแบบ One-touch มาให้ โดยในรถคันทดสอบมีการติดฟิล์มความเข้มประมาณ 60% สังเกตได้ว่ามีการแผ่ความร้อนลงมาจางๆ ใกล้เคียงกับหลังคาแบบปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะร้อนศีรษะเหมือนกับรถบางรุ่นที่เปลือยกระจกแบบเต็มๆ
นอกจากนี้ ในรุ่นท็อปสุดยังติดตั้งระบบประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมฟังก์ชัน Kick-activated และไฟส่องสว่าง Welcome Lamp บริเวณใต้กระจกมองข้าง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อต้องขึ้นรถในยามค่ำคืน
สำหรับรูปลักษณ์ภายนอกของ ยาริส ครอส ก็ถือว่าสวยลงตัวดี แม้ว่าตัวถังส่วนท้ายจะดูป้อมๆ สั้นๆ แปลกตาไปบ้าง แต่ส่วนตัวผมรู้สึกชอบการออกแบบให้มีหน้าต่างโอเปร่าอยู่บริเวณเสาหลัง ทำให้สัดส่วนตัวรถดูมีความเป็นรถเอสยูวีจริงๆ มากกว่าที่จะเป็นเสมือนแฮทช์แบ็กยกสูงอย่าง Honda WR-V หรือ Nissan Kicks e-POWER และยังช่วยให้บรรยากาศภายในห้องโดยสารตอนหลังไม่อึดอัดอีกด้วย
ภายใน
จุดขายสำคัญของ Toyota YARIS CROSS คงหนีไม่พ้นเรื่องอุปกรณ์มาตรฐานที่อัดแน่นคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป โดยรุ่น Premium Luxury มาพร้อมเบาะนั่งหุ้มวัสดุหนังที่มีเทคโนโลยีลดการสะสมความร้อน Quole Modure (เฉพาะคู่หน้า) สามารถปรับไฟฟ้า 6 ทิศทางฝั่งผู้ขับขี่ ส่วนฝั่งผู้โดยสารทุกรุ่นย่อยจะเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทาง ซึ่งการออกแบบปีกเบาะทำได้ดี โอบรับสรีระพอประมาณ และไม่รู้สึกอึดอัดเมื่อต้องนั่งเป็นระยะเวลานาน แต่บริเวณเบาะรองต้นขาแอบสั้นไปนิดนึง ให้การซัพพอร์ตได้ไม่เต็มที่นัก
ความเจ๋งอีกอย่างที่ต้องชื่นชมก็คือการออกแบบเบาะนั่งแถวที่ 2 ให้สามารถปรับเอนพนักพิงได้ แม้ว่าจะเป็นครอสโอเวอร์รุ่นเล็กสุด แต่ก็มีพื้นที่โดยสารตอนหลังให้แบบเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เหนือศีรษะและพื้นที่วางขา รองรับผู้โดยสารเต็มคัน 5 คนได้อย่างสบายๆ ไม่อึดอัด เรียกว่าจะขับไปทำงานคนเดียวก็สะดวกกะทัดรัด หรือจะนั่งโดยสารทั้งครอบครัวก็ไม่หวั่น แถมยังมีช่องจ่ายไฟ USB-C ให้ 2 ตำแหน่ง และช่องแอร์หลังที่เย็นเจี๊ยบถึงใจมาให้ด้วย
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ก็จัดเต็มแบบไม่มีกั๊ก (เพราะถ้ากั๊กมากลูกค้าน่าจะหนีไปรถไฟฟ้าจีนกันหมด) ไม่ว่าจะเป็นกูญแจ Smart Key พร้อมปุ่ม Push Start, หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 7 นิ้ว, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชันหุ้มหนัง ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง, เบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อมฟังก์ชัน Auto Hold, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Single-zone พร้อมช่องแอร์หลัง และระบบกรองฝุ่น PM2.5 โดยที่หน้าจอระบบปรับอากาศยังสามารถแสดงปริมาณฝุ่น PM2.5 ภายในห้องโดยสารได้
ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมหน้าจออินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัสขนาด 10 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สายทั้งคู่ โดยหน้าจอยังสามารถแสดงข้อมูลสถานะการทำงานของระบบไฮบริดแบบ Real-time ได้ พร้อมช่อง USB-C จำนวน 3 ตำแหน่ง (หน้า 1 หลัง 2) และ USB-A ด้านหน้าอีก 1 ตำแหน่ง ขณะที่รุ่น Premium Luxury จะได้ลำโพง 6 ตำแหน่งจาก Pioneer ซึ่งให้คุณภาพเสียงอยู่ในระดับกลางๆ พอฟังได้
สิ่งที่ผมชอบอีกหนึ่งอย่างของรถรุ่นนี้ คือ ระบบที่ชาร์จไฟไร้สาย หรือ Wireless Charger ที่ไม่ได้เป็นเพียงแป้นวางเปล่าๆ เท่านั้น หากแต่ภายในยังมีก้านสปริงเพื่อล็อกโทรศัพท์ให้อยู่ตำแหน่งที่พอดีสำหรับการชาร์จ แถมยังไม่ขยับเขยื้อนเวลาที่หักเลี้ยวแรงๆ ตรงนี้เองทำให้การชาร์จแบบไร้สายค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่พบในรถรุ่นอื่นๆ จึงสามารถชาร์จได้รวดเร็ว และไม่ต้องกังวลว่าโทรศัพท์จะเลื่อนหลุดจากตำแหน่งโดยไม่รู้ตัว
ด้านระบบความปลอดภัยก็มีแบบจัดเต็มเช่นกัน โดยทุกรุ่นย่อยถูกติดตั้งระบบความปลอดภัยมาตรฐาน ได้แก่ ระบบเบรก ABS/EBD/BA, ระบบควบคุมเสถียรภาพ VSC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, กล้องมองภาพขณะถอยหลัง, สัญญาณเตือนกะระยะด้านหลัง 2 จุด, ระบบ Speed Auto Lock และถุงลมนิรภัย SRS 6 ตำแหน่ง
ขยับขึ้นมาที่รุ่น Premium เพิ่มเติมด้วยสัญญาณเตือนกะระยะหน้า-หลัง, กล้องบันทึกภาพด้านหน้า, ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว, ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งผิดวิธี, ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง BSM / RCTA และระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense 7 ฟังก์ชัน ได้แก่
- Adaptive Cruise Control แบบ All-Speed
- Lane Departure Alert
- Lane Keeping Control
- Pre-Collision System
- Pedal Misoperation Control
- Front Departure Alert
- Automatic High Beam
ส่วนรุ่น Premium Luxury จะถูกเพิ่มเติมด้วยกล้องบันทึกภาพด้านหลัง, กล้องมองภาพรอบคัน (Panoramic View Monitor) และระบบตรวจวัดแรงดันลมยางอัตโนมัติ
เครื่องยนต์และช่วงล่าง
Toyota YARIS CROSS 2024 ติดตั้งเครื่องยนต์ไฮบริด 4 สูบแถวเรียง DOHC ความจุ 1.5 ลิตร Dual VVT-i ให้กำลังสูงสุดของเครื่องยนต์ 91 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 121 นิวตัน-เมตร คู่กับมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 80 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร เมื่อทำงานร่วมกันจะให้กำลังสูงสุด 111 แรงม้า (PS) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ E-CVT และมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 26.3 กม./ลิตร (อ้างอิงตาม ECO Sticker) รองรับน้ำมัน E20 ได้
ตัวถังของ Toyota YARIS CROSS มีความยาวตลอดคันอยู่ที่ 4,310 มม. ความกว้าง 1,770 มม. ความสูง 1,615 มม. ความยาวฐานล้อ 2,620 มม. และมีระยะต่ำสุดจากพื้น 210 มม. ติดตั้งช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีมและคอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ติดตั้งระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกรุ่นย่อย
การขับขี่
การทดสอบครั้งนี้เราขับจาก Toyota Alive ย่านบางนา มุ่งหน้าสู่หัวหิน ซึ่งถือเป็นเมืองตากอากาศยอดฮิตของชาวกรุงทั้งหลาย สิ่งแรกที่ค่อนข้างประทับใจ คือ อัตราเร่งในช่วง 0-60 กม./ชม. ที่ทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการขับขี่ในเมืองที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น สามารถเร่งออกตัวจากไฟแดงได้อย่างปรู๊ดปร๊าด แถมยังไม่ต้องรอรอบเหมือนกับเครื่องยนต์เทอร์โบ จึงให้อัตราเร่งที่ดูเป็นธรรมชาติและควบคุมได้อย่างตรงใจมากกว่า
การเพิ่มความเร็วยังคงเป็นไปต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อถึงความเร็วตั้งแต่ประมาณ 110 กม./ชม. ขึ้นไป จะสังเกตว่าการไต่ระดับความเร็วจะค่อยๆ ช้าลง มีเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ดังอื้ออึงเข้ามายังห้องโดยสารพอประมาณ
และเมื่อพยายามเลี้ยงความเร็วคงที่ประมาณ 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการเพิ่มน้ำหนักคันเร่งแม้เพียงนิดเดียว รอบของเครื่องยนต์จะพุ่งสูงขึ้นเพื่อเค้นแรงบิดของเครื่องยนต์และมอเตอร์ออกมา พร้อมๆ กับเสียงเครื่องยนต์ที่ดังแทรกเข้ามายังห้องโดยสาร มาถึงจุดนี้ผมทราบได้ทันทีว่าเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ Atkinson-cycle ขนาด 1.5 ลิตร ต้องใช้ความพยายามไม่น้อยเพื่อรักษาความเร็วคงที่ในการขับขี่ด้วยความเร็วสูงนอกเมือง
หากว่ากันตามตรงมันให้ความรู้สึกเหมือนกำลังขับรถอีโคคาร์เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร พ่วงเกียร์อัตโนมัติ CVT ซึ่งเหมาะสำหรับการขับขี่ในเมืองช่วงความเร็วต่ำจนถึงกลางเสียมากกว่า หากใช้ความเร็วสูงต่อเนื่องกลับรู้สึกว่าเรี่ยวแรงไม่เพียงพอนัก จนทำให้บางจังหวะมีเสียงเครื่องยนต์ดังขึ้นอย่างไม่พึงประสงค์
จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงล่างที่เกือบจะทำได้ดี หากแต่คงหนีหลักฟิสิกส์ไปได้ไม่ไกลนัก เพราะช่วงล่างที่มีความสูงมากกว่ารถเก๋งปกติ (Yaris Cross มีความสูงจากพื้นถนน 210 มม. เทียบกับ Yaris ATIV ที่มีความสูงจากพื้นถนน 160 มม.) เมื่อรวมความกว้างของตัวถังมากกว่า Yaris ATIV เพียง 30 มม. จึงส่งผลให้ตัวรถแสดงอาการโคลงให้เห็นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะขณะเข้าโค้งหรือขับผ่านพื้นผิวถนนที่ไม่เรียบนัก
ขณะที่การซับแรงสะเทือนก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ค่อนไปทางติดแข็งนิดหน่อย ซึ่งเป็นผลจากการที่ทีมวิศวกรพยายามเซ็ตช่วงล่างชดเชยกับจุดศูนย์ถ่วงที่สูงขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวรถแสดงอาการนิ่มย้วยจนเกินไป เพียงแต่รุ่น Premium Luxury ที่ติดตั้งล้อขนาด 18 นิ้ว จะส่งแรงสะเทือนจากยางมายังห้องโดยสารเวลาที่ผ่านรอยต่อถนน หรือพื้นผิวขรุขระเล็กๆ อยู่บ้าง ซึ่งตรงนี้หากเป็นล้อขนาด 17 นิ้วในรุ่น Premium และ Smart อาจจะลงตัวกว่า
ส่วนพวงมาลัยถือว่ามีน้ำหนักเบา ควบคุมง่าย เป็นการเซ็ตน้ำหนักพวงมาลัยที่เหมาะสมสำหรับการขับขี่ในเมือง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงร่างเล็กน่าจะชื่นชอบ แต่เมื่อเป็นการขับขี่นอกเมืองด้วยความเร็วสูง กลับพบว่าพวงมาลัยมีน้ำหนักเบาเกินไป ผมจำเป็นต้องเพิ่มสมาธิในการประคองพวงมาลัยให้นิ่ง เพื่อไม่ให้รถมีอาการวอกแวกจนทำให้ผู้โดยสารรู้สึกรำคาญได้
แต่จุดหนึ่งที่ต้องยกความดีให้กับระบบไฮบริดของ Yaris Cross นั่นก็คืออัตราสิ้นเปลืองที่ประหยัดอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ว่าจะกดคันเร่งหนักหน่วงขนาดไหน ตัวเลข AVG บนหน้าจอก็จะไม่มีทางต่ำไปกว่า 19 กม./ลิตร อันที่จริงตัวเลขเฉลี่ยของผู้ร่วมทริปเท่าที่สอบถามส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 21-22 กม./ลิตร ซึ่งถือว่าประหยัดถูกใจช่วงน้ำมันแพงจริงๆ โดยวิศวกรของโตโยต้าระบุว่ารถคันนี้สามารถขับจาก กทม. - เชียงใหม่ ด้วยน้ำมันเพียง 1 ถัง (ความจุถังน้ำมัน 36 ลิตร) แถมยังมีน้ำมันเหลือให้ใช้อีกตั้ง 1 ขีด ลองไปคำนวณดูเองแล้วกันครับว่าทริปไปกลับ กรุงเทพ - เชียงใหม่ จะหมดค่าน้ำมันสักกี่บาท
สรุป
Toyota Yaris Cross เป็นรถที่ตอบโจทย์การขับขี่ในเมืองได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นตัวถังที่มีขนาดกะทัดรัด ให้ความคล่องตัวสูง การตอบสนองในย่านความเร็วต่ำไปจนถึงกลางทำได้ดี ออปชันแน่นเอี๊ยดถูกใจคนรุ่นใหม่ แถมยังประหยัดถึงใจด้วยระบบไฮบริด แต่หากจะใช้เป็นรถคันหลักของครอบครัว หรือใช้เป็นรถ SUV ประจำบ้านเผื่อไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็อาจตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่นัก ด้วยสมรรถนะของเครื่องยนต์และช่วงล่างที่ยังเป็นรอง Corolla Cross อยู่พอสมควร (ผมถึงบอกว่าคนที่ซื้อ Corolla Cross ไปแล้วไม่ต้องเสียดายหรอกครับ เพราะค่าตัวที่สูงกว่า ก็แลกมากับสมรรถนะที่ดีกว่าเช่นกัน)
แต่ทั้งหมดทั้งมวลหากคุณกำลังมองหารถอเนกประสงค์ในระดับราคาต่ำกว่า 9 แสนบาทอยู่แล้วล่ะก็ Toyota Yaris Cross ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของความคุ้มค่าชนิดที่คู่แข่งต้องมองค้อนกันเป็นแถวเชียวล่ะครับ
อัลบั้มภาพ 48 ภาพ