รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe ลากขายมานาน แต่ความ "เก๋า" ไม่รองใคร

รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe ลากขายมานาน แต่ความ "เก๋า" ไม่รองใคร

รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe ลากขายมานาน แต่ความ "เก๋า" ไม่รองใคร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe 2024 ใหม่ แม้ว่าความสดใหม่จะเป็นรองคู่แข่ง แต่ครอสโอเวอร์รุ่นเล็กสุดจากมาสด้าคันนี้ยังคง "ความเก๋า" ไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบสมรรถนะการขับขี่เป็นชีวิตจิตใจ มาถึง พ.ศ.นี้ จะยังคงน่าใช้ขนาดไหน Sanook Auto จะชวนคุณไปสัมผัสกับบทความนี้กัน

mazda_cx3_39

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ได้ฤกษ์เปิดตัวรถครอสโอเวอร์ "CX-3" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย เสริมทัพ Mazda2 ที่กำลังขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งการมาของ CX-3 ก็สร้างสีสันให้กับตลาด B-SUV ได้พอสมควร เพราะแม้จะมีบอดี้ขนาดกะทัดรัด แต่ก็จัดขุมพลังเบนซิน 2.0 ลิตร SKYACTIV-G และดีเซล 1.5 ลิตร SKYACTIV-D ที่โดดเด่นในเรื่องความแรงและประหยัดน้ำมัน

มาวันนี้ Mazda CX-3 รุ่นปี 2024 คงเหลือไว้เฉพาะเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร SKYACTIV-G เท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าแรงจัดจ้านเป็นเบอร์ต้นๆ ของกลุ่ม B-SUV ในปัจจุบัน แถมยังคงไว้ซึ่งเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด SKYACTIV-DRIVE ที่มีความดีงามในเรื่องฟีลลิ่งการเปลี่ยนเกียร์เทียบชั้นรถยุโรปได้สบาย ในขณะที่คู่แข่งต่างหันไปใช้เกียร์ CVT (รวมถึง E-CVT) กันหมดแล้ว

รุ่นย่อยและราคาจำหน่าย Mazda CX-3 2024 ไมเนอร์เชนจ์ใหม่

รุ่น 2.0 BASE ราคา 777,000 บาท
รุ่น 2.0 BASE PLUS ราคา 830,000 บาท
รุ่น 2.0 COMFORT ราคา 900,000 บาท
รุ่น 2.0 Sport Luxe ราคา 970,000 บาท

ซึ่งแน่นอนว่ารถทดสอบที่เราได้มีโอกาสขับในครั้งนี้เป็นรุ่น 2.0 Sport Luxe ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นท็อปสุดนั่นเอง

mazda_cx3_32

ภายนอก

ในเรื่องรูปลักษณ์ของ Mazda CX-3 คงแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะเชื่อว่าหลายคนคุ้นตากันดีอยู่แล้ว แต่ในรุ่น Sport Luxe ใหม่ ได้มีการปรับปรุงโฉมเน้นความหรูหราพรีเมียมมากยิ่งขึ้น ด้วยการตกแต่งซุ้มล้อ กันชนหน้า-หลัง และชายประตู ด้วยวัสดุสีดำเงา เทียบกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์ที่มีลักษณะเป็นพลาสติกสีดำด้าน เพิ่มความสะดุดตาด้วยล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์ใหม่ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับบุคลิกของตัวรถ

ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานก็จัดให้แบบจุกๆ ไม่น้อยหน้าคู่แข่งที่เพิ่งเปิดตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าแบบ LED พร้อมไฟส่องสว่างเวลากลางวัน LED Signature ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ระบบปรับไฟหน้าสูง-ต่ำอัตโนมัติตามน้ำหนักบรรทุก ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ รวมถึงหลังคาซันรูฟเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมแผงบังแดดแบบเลื่อนด้วยมือ หมดกังวลเรื่องความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่แผ่ลงมาเหมือนกับหลังคาพาโนรามิกซันรูฟส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

mazda_cx3_28

ภายใน

ห้องโดยสารยังคงเน้นความพรีเมียมหรูหราตามฉบับมาสด้า ซึ่งแม้ว่า CX-3 จะมีอายุอานามในตลาดอยู่พอสมควร แต่ผมกลับมองว่ามันยังคงมอบความพรีเมียมเหนือกว่าคู่แข่งอีกหลายรุ่น และแน่นอนว่าพื้นที่ภายในห้องโดยสารยังคงมีให้อย่างจำกัด โดยเฉพาะห้องโดยสารตอนหลังที่อาจรู้สึกอึดอัดไปบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปร่างใหญ่

คือถ้าถามว่ามันแคบจนนั่งไม่ได้เลยเหรอ ก็ต้องตอบว่าพอนั่งได้อยู่ (ผมเองที่มีความสูง 173 ซม. ก็นั่งเบาะหลังยาวๆ จากเขาใหญ่มายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็หลับเพลินตลอดเส้นทาง) แต่ถ้าต้องใช้เป็นรถครอบครัวคันหลักของบ้าน ด้วยงบเท่านี้ CX-3 ดูเหมือนจะตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร เพราะมันเหมาะสำหรับคนโสดหรือคู่รักใช้งานประจำ 1-2 คนเท่านั้น

mazda_cx3_27

ในรุ่น Sport Luxe ถูกติดตั้งเบาะนั่งหุ้มหนัง ตกแต่งด้วยวัสดุ Grand Luxe Suede ที่มีลักษณะคล้ายหนังกลับที่มีผิวสัมผัสค่อนข้างเนียนละเอียดกว่าหนังกลับทั่วไป โดยเบาะผู้ขับขี่สามารถปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบดันหลังไฟฟ้า และเมมโมรี่ 2 ตำแหน่ง ขณะที่เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหน้าจะเป็นแบบปรับมือ 4 ทิศทางทุกรุ่นย่อย ส่วนเบาะหลังสามารถพับแยก 60:40 เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระขนาดใหญ่ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถปรับเอนพนักพิงได้เลย

บริเวณเหนือแผงคอนโซลยังคงติดตั้งหน้าจอ Center Display ขนาด 7 นิ้ว สามารถควบคุมโดยการสัมผัส (เฉพาะเวลาที่รถหยุดนิ่งเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย) หรือผ่านปุ่ม Center Commander ที่ใช้งานได้สะดวกดีโดยเฉพาะเมื่อรถกำลังเคลื่อนที่ โดยหน้าจอนี้ยังสามารถแสดงระบบ Apple CarPlay แบบ Wireless ได้ หรือหากใช้ Android Auto จำเป็นต้องต่อผ่านสาย USB เท่านั้น

mazda_cx3_16

บริเวณด้านหน้ามีช่อง USB ให้ 2 ตำแหน่ง โดยใช้เป็นช่องเชื่อมต่อ 1 ตำแหน่ง และช่องจ่ายไฟอีก 1 ตำแหน่ง พร้อมด้วยที่ชาร์จไฟไร้สาย (Wireless Charger) มาให้ด้วย โดยรุ่น Sport Luxe เป็นเพียงรุ่นเดียวที่จะได้ระบบเสียงรอบทิศทาง BOSE พร้อมลำโพง 7 ตำแหน่ง ที่มี Bass Box และ Amplifier 8-channel เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งคุณภาพเสียงถือว่าดีเป็นระดับต้นๆ ของกลุ่ม จนแทบไม่มีความจำเป็นต้องไปอัปเกรดระบบเสียงให้วุ่นวายใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับรุ่น Sport Luxe มีอุปกรณ์มาตรฐานมาให้แบบครบๆ ไม่อายใคร ไม่ว่าจะเป็นระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อมฟังก์ชัน Auto Hold, ระบบกุญแจ Smart Keyless Entry พร้อมปุ่ม Push Start, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ, ไฟอ่านแผนที่แยกซ้าย-ขวา พร้อมไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสารแยกต่างหาก, แผงบังแดดคู่หน้าพร้อมกระจกแต่งหน้า, พวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง, เรือนไมล์แบบ Analogue พร้อมจอแสดงข้อมูลการขับขี่ และหน้าจอ Active Driving Display แสดงผลด้วยสีที่ถูกนำกลับมาใส่ใน CX-3 อีกครั้ง

mazda_cx3_08

ด้านระบบความปลอดภัยมีการติดตั้ง i-ACTIVSENSE ที่ประกอบไปด้วยฟังก์ชันดังนี้

  • Mazda Radar Cruise Control with Stop & Go (MRCC with Stop & Go)
  • Advanced Smart City Brake Support (Advanced SCBS)
  • Smart Brake Support (SBS)
  • Smart City Brake Support-Reverse (SCBS-R)
  • Advanced Blind Spot Monitoring (ABSM)
  • Rear Cross Traffic Alert (RCTA)
  • Lane Departure Warning System (LDWS)
  • Driver Attention Alert (DAA)
  • High Beam Control (HBC)

ซึ่งการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน MRCC with Stop & Go ก็ถือว่าไว้ใจได้ มีเสถียรภาพสูง สามารถตรวจจับรถคันหน้าได้อย่างแม่นยำ มีการรักษาระยะห่างที่ปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มและลดความเร็วที่ทำได้ค่อนข้างนุ่มนวล ซึ่งโดยรวมแล้วถือว่าทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ต่างจากรถสัญชาติจีนบางรุ่นที่เมื่อใช้งานจริงกลับรู้สึกไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าไหร่นัก

แต่น่าเสียดายที่ CX-3 ไม่มีระบบช่วยประคองพวงมาลัยให้อยู่ในเลน จะมีก็เพียงระบบเสียงเตือนเมื่อผู้ขับขี่เผลอปล่อยรถออกนอกเลนเท่านั้น

mazda_cx3_14

ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ก็มีให้อย่างครบครัน เช่น กล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 องศา ที่ให้ความคมชัดในระดับพอใช้งาน, เซ็นเซอร์กะระยะทั้งหน้า-หลัง, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว DSC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HLA, ระบบช่วยป้องกันรถลื่นไถล TCS, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบสัญญาณไฟกระพริบฉุกเฉินขณะเบรกกะทันหัน ESS, ถุงลมนิรภัยคู่หน้า / ด้านข้าง / ม่านด้านข้าง และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก ISOFIX เป็นต้น

เครื่องยนต์

Mazda CX-3 2024 ทุกรุ่นย่อยถูกติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 204 นิวตัน-เมตร ที่ 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด พร้อมโหมดแมนนวล Activematic และแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย รองรับน้ำมันทางเลือกสูงสุด E85 และมีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 16.4 กม./ลิตร

ทุกรุ่นย่อยยังถูกติดตั้งระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ G-Vectoring Control หรือ GVC, ระบบช่วยประหยัดน้ำมัน i-STOP, ปุ่มเลือกโหมดการขับขี่ Drive Selection และระบบดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ

mazda_cx3_24

การขับขี่

ในแง่ของการขับขี่ Mazda CX-3 ไมเนอร์เชนจ์ ถือว่าแทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมเลย เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์, เกียร์ และช่วงล่าง แต่ถึงกระนั้นพละกำลังของเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ที่มีกำลังสูงสุด 156 แรงม้า (PS) ก็ยังคงตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามสั่ง ยิ่งกดหนักเท่าไหร่แรงยิ่งมา ไร้อาการ Lag เหมือนกับเครื่องยนต์เทอร์โบ และให้กำลังที่ต่อเนื่องในแบบรถสันดาปแท้ๆ ที่ไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

พละกำลังของเครื่องยนต์ลากยาวต่อเนื่องตั้งแต่ออกสตาร์ทไปจนถึงความเร็ว 120 กม./ชม. จากนั้นจึงค่อยเริ่มรู้สึกว่าแผ่วลงไปบ้าง ซึ่งจุดนี้ถือว่าทำได้น่าประทับใจว่า Yaris Cross HEV ที่พละกำลังจะจัดจ้านในช่วง 0-60 กม./ชม. และจะเริ่มแผ่วลงเมื่อความเร็วเพิ่มสูงขึ้น

mazda_cx3_49

ส่วนการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ SKYACTIV-DRIVE 6 สปีด ก็ตอบสนองได้อย่างสนุกสนาน ให้ฟีลลิ่งที่ดีกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT อย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีการเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วและเนียนจนแทบไร้รอยต่อ ถือว่าเป็นเกียร์แบบ Torque Converter ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุดลูกหนึ่งเท่าที่จะหาได้ในรถราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถูกใจคนชอบขับรถอย่างผมเป็นอันมาก พลางคิดว่าหากวันหนึ่งมาสด้าเกิดเปลี่ยนใจไปคบหาเกียร์ CVT เหมือนกับยี่ห้ออื่นแล้วล่ะก็ คงทำให้ใครหลายคนรู้สึกเสียใจไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงผมเองด้วย

ช่วงล่างของ CX-3 เป็นอีกหนึ่งคุณงามความดีที่หาคู่เปรียบได้ยาก เพราะมันสามารถตอบสนองได้อย่างสนุกเร้าใจ ในช่วงความเร็วต่ำ CX-3 สามารถมุดตัวไปตามการจราจรได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว และเมื่อใช้ความเร็วสูง ทั้งพวงมาลัยและช่วงล่างก็สามารถตอบสนองได้อย่างมีชีวิตชีวา รู้สึกเพลิดเพลินไปกับการเข้าโค้ง โดยจะออกแนวแน่นหนึบ มีความติดแข็งนิดๆ ช่วยลดอาการโคลงได้ดี ต่อให้นั่งข้างหลังก็ไม่เวียนหัวเหมือนกับคู่แข่งบางรุ่น

แต่ถึงกระนั้น ปัญหาเดียวที่พบใน CX-3 นอกเหนือจากพื้นที่ห้องโดยสารหลังที่ค่อนข้างคับแคบ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของระบบแอร์ที่รู้สึกว่าไม่เย็นฉ่ำเท่าที่ควร เพราะอากาศเมืองไทยที่ร้อนตลอดทั้งปี คงจะดีกว่านี้หากระบบแอร์สามารถทำให้เย็นฉ่ำทั่วถึงทั้งห้องโดยสาร ไม่ใช่เย็นแบบเอื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะต่อให้ปรับอุณหภูมิแอร์ไปที่เย็นสุดแล้วล่ะก็ ยังคงรู้สึกว่ามันเย็นไม่พออยู่ดี

mazda_cx3_04

สรุป

แม้ว่า Mazda CX-3 จะถูกลากจำหน่ายมาอย่างยาวนาน แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ยังมีคุณงามความดีในด้านสมรรถนะการขับขี่ที่ยังคงเป็นเบอร์ต้นของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพละกำลังเครื่องยนต์ เกียร์ และช่วงล่างที่ตอบสนองได้ดีในทุกย่านความเร็ว ประกอบกับอุปกรณ์มาตรฐานที่ถูกอัดแน่นไม่แพ้รถที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เอาเป็นว่าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบสมรรถนะการขับขี่เป็นชีวิตจิตใจ ผมว่า Mazda CX-3 ยังคงเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้ามไปอย่างเด็ดขาดครับ

อัลบั้มภาพ 42 ภาพ

อัลบั้มภาพ 42 ภาพ ของ รีวิว Mazda CX-3 2.0 Sport Luxe ลากขายมานาน แต่ความ "เก๋า" ไม่รองใคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook