กั๊กที่จอดรถบนถนนสาธารณะมีความผิดอย่างไรบ้าง?
การวางวัตถุ สิ่งของ เช่น แผงเหล็ก เก้าอี้ หรือสิ่งอื่นใด บนถนนสาธารณะ เพื่อจับจองพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ในลักษณะกีดขวาง เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
หากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลสามารถทําได้
หากเป็นที่สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 114 ซึ่งบัญญัติว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร แต่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจะอนุญาตได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง นอกจากจะมีความผิดตามมาตรา 148 แล้ว หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ ถ้าไม่ยอมรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายได้”
ซึ่งมาตรา 148 เป็นบทกำหนดโทษ โดยโทษของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง คือต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท นอกจากนั้นยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ที่กำหนดว่า
“ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็นต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท”
ส่วนการติดป้ายห้ามจอด ถือเป็นการทำสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจร ถ้ามิได้เป็นเจ้าพนักงานอาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงาน ทำ ติดตั้ง หรือทำให้ปรากฏซึ่งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรในทางที่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดตามมาตรา 21”
ซึ่งจะมีผลให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจยึด รื้อถอน ทำลาย หรือทำให้สิ้นไปซึ่งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้นได้ ตามมาตรา 30 กำหนดให้สัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรที่ทำ ติดตั้งหรือทำให้ปรากฏในทาง โดยฝ่าฝืนมาตรา 28 ดังกล่าว หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจยึด รื้อถอน ทำลาย หรือทำให้สิ้นไปซึ่งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้นได้