ไทยลดเงินอุดหนุน EV เหลือ 100,000 บาท หลังยอดขายเพิ่มต่อเนื่อง
คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เคาะ ปรับลดเงินอุดหนุนรถยนต์ EV จากคันละไม่เกิน 150,000 บาท เหลือ 100,000 บาท หวังกระตุ้นยอดขาย พลางปรับสมดุลการใช้งบประมาณ จากการรายงานของรอยเตอร์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ใหม่ จะเริ่มต้นในปีหน้า ไปจนถึงปี 2027 ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่นลดอากรนำเข้าและภาษีสรรพสามิต
ข้อมูลจากแถลงข่าวของ BOI ระบุว่า อัตราของเงินอุดหนุนขึ้นอยู่กับราคาของยานพาหนะถูกกำหนดโดยราคาและขนาดของแบตเตอรี่ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกันเพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
รอยเตอร์รายงานว่า การสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้ยอดขายรถ EV ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดในไตรมาสที่สองของปีนี้ นอกจากนั้น แผนของรัฐบาลยังตั้งเป้าปรับให้ 30% ของยอดการผลิตยานพาหนะในประเทศกลายเป็นการผลิตรถ EV ด้วย
นฤตม์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากการสนับสนุนของรัฐบาล อัตราการใช้รถ EV ในไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก” และกล่าวด้วยว่า “ดังนั้น การสนับสนุนของรัฐบาลจะค่อย ๆ ลดลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อที่จะไม่สร้างภาระกับงบประมาณมากเกินไป”
การลดหย่อนภาษีและเงินอุดหนุนที่ผ่านมา ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์ EV สัญชาติจีน รวมถึง BYD และ Great Wall Motor ที่ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนเป็นเงิน 1,440 ล้านดอลลาร์ (ราว 52,000 ล้านบาท)
นอกจากด้านการผลิต ไทยยังมีแผนที่จะลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ผลิตรถ EV ที่จะตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถ EV ด้วย
ข้อมูลจากบริษัทวิจัย BMI ประเมินว่ามาตรการชุดใหม่นี้จะใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท
นฤตม์กล่าวว่า “รัฐบาลเห็นความจำเป็นของการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ต่อไป และคงไว้ซึ่งการเติบโตของ EV เพื่อทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตเบอร์หนึ่งในภูมิภาค”
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกของบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เช่นโตโยต้า มอเตอร์และฮอนด้า มอเตอร์ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ติดอันดับที่ 10 ของโลก