รีวิว Hyundai IONIQ 5 อีวีเกาหลีดีไซน์โดนใจ กับงบเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท

รีวิว Hyundai IONIQ 5 อีวีเกาหลีดีไซน์โดนใจ กับงบเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท

รีวิว Hyundai IONIQ 5 อีวีเกาหลีดีไซน์โดนใจ กับงบเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Hyundai IONIQ 5 รถยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ที่มีความโดดเด่นด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร กับสมรรถนะการขับขี่ไม่แพ้เจ้าตลาด แต่จะคุ้มค่ากับงบประมาณเริ่มต้น 1.699 ล้านบาทขนาดไหน ติดตามได้กับ Sanook Auto ในบทความนี้ครับ

ioniq5_test_02

ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนแทบจะครองตลาดเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้วนั้น ฮุนได โมบิลิตี้ ประเทศไทย (HMT) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทแม่จากเกาหลีใต้ ก็ได้ส่ง IONIQ 5 มาชิมลางลูกค้าชาวไทย ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่ง EV สัญชาติยุโรปและญี่ปุ่น ด้วยระดับราคา 1.699 - 2.399 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเอาการสำหรับการตีตลาดแมส (Mass) แต่ก็เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเตรียมควักกระเป๋าจับจองเป็นเจ้าของ ด้วยรูปทรงที่ดูแปลกตาไม่ซ้ำใคร บวกกับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Hyundai ที่มีชื่อเสียงระดับโลกไม่แพ้ค่ายญี่ปุ่น

Hyundai IONIQ 5 มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ผลิตและนำเข้าจากเกาหลีใต้ทั้งหมด ได้แก่

  • รุ่น Premium ราคา 1,699,000 บาท
  • รุ่น Exclusive ราคา 1,899,000 บาท
  • รุ่น First Edition ราคา 2,399,000 บาท

สำหรับรุ่นที่เราได้ทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น First Edition ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างไปจากอีก 2 รุ่นย่อยที่เหลือ แต่ก็มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขนาดเดียวกับรุ่น Exclusive (รุ่นกลาง) เปี๊ยบ แถมยังมีอุปกรณ์มาตรฐานเกือบจะเท่าๆ กัน แลกกับราคาจำหน่ายที่แตกต่างกันถึง 500,000 บาทเลยทีเดียว

ioniq5_test_01

ดีไซน์ภายนอกเป็นเอกลักษณ์ พร้อมขนาดตัวถังใหญ่โตกว่าที่คิด

Hyundai IONIQ 5 โดดเด่นด้วยดีไซน์ภายนอกแบบ Parametric Pixels Design เน้นเส้นสายที่เฉียบคมและสะอาดตา สะท้อนถึงฮุนไดรุ่นคลาสสิกอย่าง Pony ที่คนไทยอาจไม่คุ้นหูนัก แต่มันคือรถยนต์ Mass production รุ่นแรกของฮุนไดที่ถูกส่งออกไปทำตลาดนอกประเทศเกาหลีใต้ จึงถือเป็นโมเดลสำคัญที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบของแบรนด์ IONIQ ใหม่ล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าดูเผินๆ IONIQ 5 จะเหมือนกับรถแฮทข์แบ็ก 5 ประตูทั่วไป แต่เมื่อมาเห็นคันจริงแล้วต้องบอกว่าตัวรถมีขนาดใหญ่กว่าที่คิดไว้ ด้วยความยาวตัวถัง 4,635 มม. ความกว้าง 1,890 มม. เกือบจะเท่ากับ BMW X3 และ Mercedes-Benz GLC เข้าไปแล้ว ขณะที่ความยาวฐานล้อก็มากถึง 3,000 มม. เทียบกับ BMW 5 Series G60 รุ่นปัจจุบันที่มีความยาวฐานล้อ 2,995 มม. ส่งผลให้มีพื้นที่ห้องโดยสารกว้างขวางทั้งตอนหน้าและตอนหลัง

ioniq5_test_03

อุปกรณ์มาตรฐานแน่น ในแพ็กเกจที่ใช้งานง่าย

ต้องยอมรับว่ารถ EV ในปัจจุบันนอกจากจะแข่งกันที่สมรรถนะและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่แล้วนั้น หากเป็นแบรนด์จากจีนยังแข่งกันที่จำนวน “ของเล่น” ต่างๆ ที่ให้มา ยิ่งบนโบรชัวร์มีรายชื่ออุปกรณ์มาตรฐานมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความรู้สึกคุ้มค่าแก่ผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น แต่การใช้งานจริงกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย

ขณะที่ฮุนไดถือเป็นแบรนด์รถยนต์เก่าแก่ที่มีประวัติการพัฒนารถยนต์มาอย่างโชกโชน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ให้มาจึงถือว่าเหมาะสำหรับการใช้งานจริง ไม่ได้ตะบี้ตะบันใส่ระบบบ้าบอมากมายจนเกินความจำเป็นต่อการใช้งาน

ioniq5_36

ดีไซน์ภายนอกของ IONIQ 5 ถูกออกแบบให้มีความทันสมัย โดดเด่นเมื่ออยู่บนท้องถนน มาพร้อมไฟหน้า Parametric Pixel LED ที่มีระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ขณะที่กันชนหน้ามาพร้อมช่องระบายอากาศแบบ Active Air Intakes ที่สามารถเปิดและปิดการรับอากาศได้โดยอัตโนมัติ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการระบายความร้อนและการไหลเวียนอากาศตามหลักแอโรไดนามิก

ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมกระจกบังลมหน้า Acoustic ช่วยกันเสียงรบกวน ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ กระจกมองข้างปรับและพับด้วยไฟฟ้า มือเปิดประตูภายนอกแบบป๊อปอัปที่เรียบไปกับตัวถัง และจะยกตัวขึ้นต่อเมื่อปลดล็อกประตู ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบ Smart และล้ออัลลอยขนาด 19 นิ้ว หุ้มด้วยยางขนาด 235/55 R19

ส่วนรุ่น First Edition จะถูกเพิ่มเติมด้วยหลังคากระจก Vision Roof พร้อมม่านบังแดดไฟฟ้า และล้ออัลลอยลวดลายพิเศษเฉพาะรุ่นขนาด 20 นิ้ว

ioniq5_32

ภายในห้องโดยสารเรียกได้ว่าโอ่อ่า กว้างขวาง โปร่งสบาย ทั้งพื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่วางขาสำหรับผู้โดยสารแถวที่ 1 และแถวที่ 2 โดยทุกรุ่นถูกติดตั้งเบาะนั่งคู่หน้าปรับไฟฟ้าพร้อมระบบดันหลัง หุ้มด้วยวัสดุหนัง Eco-Friendly แบบมีรูระบายอากาศ

ในรุ่น First Edition ยังเพิ่มความพิเศษด้วยระบบปรับเบาะอุ่น-เย็น, เมมโมรี่เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่ 2 ตำแหน่ง และระบบปรับเอนนอนแบบ Zero Gravity พร้อมที่พักขา (เฉพาะฝั่งผู้ขับขี่) ซึ่งจะเป็นการปรับเบาะนั่งทั้งตัวเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย จะช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกายเฉลี่ยเท่าๆ กันคล้ายกับเก้าอี้ Recliner ภายในบ้าน ช่วยเพิ่มความสบายขณะรอชาร์จไฟภายในรถ

ioniq5_18

ขณะที่เบาะนั่งแถวที่ 2 รองรับผู้ใหญ่ 3 คนได้แบบไม่อึดอัด มีพนักพิงศีรษะให้ 3 ตำแหน่ง และสามารถปรับเอนพนักพิงเพื่อความสบายในการโดยสารได้ โดยจะแบ่งเป็นสองฝั่งแบบ 60:40 อีกทั้งเบาะรองนั่งยังมีขนาดใหญ่ รองรับสะโพกและต้นขาได้อย่างเต็มที่ ขณะที่พื้นห้องโดยสารเป็นแบบเรียบสนิทไร้อุโมงค์เพลากลางแบบรถสันดาปขับเคลื่อนล้อหลัง จึงสามารถวางขาได้อย่างเต็มที่ทุกตำแหน่ง โดยรวมแล้ว IONIQ 5 เป็นรถที่รองรับการใช้งานทั้งครอบครัวได้อย่างสบายเลยทีเดียว

บริเวณประตูคู่หลังทั้ง 2 ฝั่งยังมีม่านบังแดดที่สามารถดึงขึ้นเพื่อแขวนไว้กับขอบหน้าต่างด้านบนได้ ครอบคลุมพื้นที่กระจกเกือบจะ 100% ช่วยลดความร้อนที่แผ่เข้ามายังห้องโดยสาร แต่ยังคงมองเห็นภายนอกทำให้รู้สึกไม่อึดอัด

ioniq5_06

เบื้องหน้าผู้ขับขี่เป็นพวงมาลัยแบบ 2 ก้าน จับกระชับมือ โดยบริเวณกลางพวงมาลัยถูกออกแบบให้เป็นรูปจุด 4 จุดเรียงกันในแนวนอน ซึ่งก็คือรหัสมอร์สแทนสัญลักษณ์รูปตัว H ที่ย่อมาจากคำว่า Hyundai นั่นเอง ปุ่มมัลติฟังก์ชันต่างๆ ถูกจัดวางไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ขณะที่ก้านเลือกตำแหน่งเกียร์ถูกติดตั้งไว้หลังพวงมาลัย ใช้งานด้วยการหมุนขึ้น-ลง เมื่อต้องการเข้าเกียร์ P ก็แค่กดปุ่มบริเวณปลายคันเกียร์ก็เรียบร้อย

ส่วนปุ่มควบคุมระบบเบรกมือไฟฟ้าถูกติดตั้งไว้บริเวณแผงคอนโซลด้านขวามือของผู้ขับขี่ พร้อมปุ่มระบบ Auto Hold เพื่อช่วยคาเบรกขณะจอดติดไฟแดงโดยอัตโนมัติ รวมถึงปุ่มควบคุมระดับไฟหน้าตามน้ำหนักบรรทุกแบบแมนนวล

บริเวณหลังพวงมาลัยยังมีก้าน Renerative Paddle Shifters เพื่อเลือกระดับการหน่วงขณะปล่อยคันเร่ง โดยสามารถปรับความหน่วงได้ 3 ระดับ แลกกับปริมาณการชาร์จไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ และยังสามารถดึงก้านข้างซ้ายเข้าหาตัวค้างไว้สักครู่เพื่อเปิดโหมด i-Pedal ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถจนนิ่งสนิทโดยไม่ต้องเหยียบเบรก เพียงแค่ปล่อยเท้าออกจากคันเร่งเท่านั้น

ioniq5_23

หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ Supervision Instrument Cluster มีขนาด 12.3 นิ้ว สามารถปรับรูปแบบการแสดงผลตามโหมดการขับขี่ได้ เชื่อมเข้ากับหน้าจออินโฟเทนเมนท์แบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว มี Interface ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto เสริมด้วยระบบเสียง BOSE 8 ลำโพง (ยกเว้นรุ่น Premium) มีช่อง USB สำหรับเชื่อมต่อ 1 ช่อง สำหรับชาร์จไฟอีก 4 ช่อง (หน้า 2 หลัง 2) รวมถึงมีแป้น Wireless Charger มาให้อีกต่างหาก

บริเวณใต้หน้าจอสัมผัสยังมีปุ่มปรับ Volume และปุ่ม Shortcut ทั้งหลายแหล่วางเรียงรายอยู่ ทำให้การใช้งานทำได้สะดวกขึ้นแม้ว่ากำลังขับรถอยู่ก็ตาม ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ผู้เขียนชอบมาก เพราะการรวมทุกอย่างแม้กระทั่งปุ่มปรับเสียงไว้บนหน้าจอสัมผัส เป็นอะไรที่ช่างไม่สะดวกเอาเสียเลย แบบนี้แหละถือว่าใช้งานได้จริง และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะขับรถได้อีกด้วย

ส่วนปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศถูกแยกเอาไว้ต่างหากเช่นกัน โดยเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติ 2 โซน แยกปรับอุณหภูมิอิสระซ้าย-ขวา ส่วนคอมแอร์ไฟฟ้าให้ความเย็นรวดเร็วทันใจดี ไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้งานในเมืองร้อนอย่างบ้านเราแต่อย่างใด

ขณะที่อุปกรณ์มาตรฐานอื่นก็มีให้แบบครบๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟเรืองแสง Ambient Light ปรับได้ 64 สี, กุญแจ Smart Keyless Entry, ปุ่มสตาร์ท Push Start Button, กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ และระบบความปลอดภัย Hyundai SmartSense เป็นต้น

ioniq5_17

ระบบความปลอดภัย Hyundai SmartSense ประกอบด้วย

  • ระบบ Smart Cruise Control with Stop and Go
  • ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ FCA
  • ระบบเตือนและเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติที่ทางแยก FCA-JT
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่กลางเลน LFA
  • ระบบช่วยเตือนและเบรกอัตโนมัติขณะถอยรถ RCCA
  • ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA
  • ระบบป้องกันการเปิดประตูเมื่อมีรถวิ่งมาด้านข้าง SEA
  • ระบบกล้องมองภาพจุดอับสายตา BVM
  • กล้องมองรอบทิศทาง Surround View Monitor
  • ระบบช่วยเตือนอากาศเหนื่อยล้า DAW

ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า, ด้านข้างคู่หน้า และม่านถุงลม), ระบบควบคุมเสถียรภาพ ESC, ระบบเบรก ABS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบช่วยหยุดรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ MCB (Multi-Collision Brake), ระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง TPMS, เซ็นเซอร์ช่วยจอดหน้า-หลัง และระบบ VESS จำลองเสียงเครื่องยนต์เพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนน

ioniq5_29

มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหลังทุกรุ่นย่อย

สำหรับรุ่น First Edition และ Exclusive ถูกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 217 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังไปยังล้อคู่หลังทั้งหมด พร้อมแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 72.6 kWh ให้ระยะทางขับขี่ 451 กม. ในรุ่น First Edition และ 481 กม. ในรุ่น Exclusive (แตกต่างกันเนื่องจากขนาดของล้อ) ตามมาตรฐาน WLTP

โดยทั้ง 2 รุ่นสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.4 วินาที จำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 185 กม./ชม. ซึ่งฮุนไดระบุถึงสาเหตุที่ไม่นำเอารุ่นมอเตอร์คู่เพราะต้องการเน้นระยะทางขับขี่มากกว่า ขณะที่สภาพถนนในประเทศไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบขับเคลื่อน AWD ในรถยนต์นั่งเหมือนกับประเทศเมืองหนาวที่อาจต้องใช้งานบนหิมะที่มีสภาพลื่นมากกว่าปกติ ซึ่งก็ถือเป็นแนวความคิดที่ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายิ่งมีระยะทางขับขี่มากเท่าไหร่ ก็ช่วยลดความกังวลในการใช้งานได้มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนรุ่น Premium ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 170 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร แต่ลดขนาดแบตเตอรี่ลงเหลือ 58 kWh จึงมีระยะทางขับขี่สูงสุดราว 384 กิโลเมตร ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 8.5 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. เท่ากับอีกสองรุ่น

ioniq5_28

การชาร์จไฟทุกรุ่นย่อยรองรับการชาร์จด่วนกำลังไฟสูงสุด 350 kW ระบบ DC ผ่านหัวชาร์จแบบ CCS2 Combo ซึ่งถ้าหากมีตู้ชาร์จที่ให้กำลังไฟเท่านั้นได้จริง จะสามารถชาร์จจาก 10-80% ในเวลาราว 17 นาที แต่ในความเป็นจริงจะหาตู้ที่จ่ายไฟเกิน 100 kW ตลอดการชาร์จได้ก็หรูแล้ว (และแน่นอนว่าหากชาร์จ DC เกิน 80% ตู้ชาร์จก็จะค่อยๆ ลดกระแสไฟลงเพื่อความปลอดภัย)

นอกจากนี้ ในรุ่น Exclusive และ Premium ยังมีระบบ V2L เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกอื่นๆ ได้ โดยฮุนไดจะแถมสายชาร์จ V2L มาให้กับตัวรถโดยไม่ต้องซื้อเพิ่ม

IONIQ Service Package

Hyundai IONIQ 5 ทุกคันมาพร้อมบริการ V2V (Vehicle 2 Vehicle) Charge Here Service กรณีแบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20% จะมีรถโมบาย (ซึ่งก็คือ IONIQ 5 เหมือนกัน) มาให้บริการชาร์จไฟสูงสุด 15 kW ต่อ 1 ครั้ง ให้บริการฟรี 2 ครั้งต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันจันทร์-เสาร์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

ioniq5_01

บริการ Pick up and Delivery รับ-ส่งรถฟรีเพื่อเข้ารับบริการเช็กระยะและซ่อมทั่วไป ให้บริการฟรี 2 เที่ยว ต่อระยะเวลา 2 ปี เฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันจันทร์-เสาร์ เวลา 07.00 - 17.00 น.

บริการยก/ลากไม่จำกัดจำนวนครั้งในระยะเวลา 5 ปี กรณีรถเสียฉุกเฉิน โดยลากไปยังศูนย์บริการของฮุนไดอย่างเป็นทางการ หรือจุดชาร์จไฟที่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดระยะทาง รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคตลอด 24 ชั่วโมง กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย เป็นต้น

สมรรถนะการขับขี่เป็นเลิศสมกับแบรนด์ชั้นนำ แต่...

ในด้านการขับขี่ต้องบอกว่า Hyundai IONIQ 5 สามารถตอบสนองในด้านอัตราเร่งได้อย่างรวดเร็วทันใจอย่างที่คาดหวังจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มีพละกำลัง 217 แรงม้า และแรงบิด 350 นิวตัน-เมตร (รุ่น First Edition) การซอกแซกในเมืองทำได้อย่างคล่องตัว สามารถเร่งแซงได้อย่างรวดเร็วทันใจ โดยไม่มีเสียงเครื่องยนต์มารบกวน ขณะที่น้ำหนักพวงมาลัยก็เซ็ตมาลงตัว มีความเบาขณะขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ควบคุมง่าย และจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง โดยรวมแล้วถือว่ากลมกล่อมลงตัว

ioniq5_49

ส่วนช่วงล่างด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท และด้านหลังแบบ Multi-link พร้อม High Performance Dampers อันที่จริงก็เกือบจะเพอร์เฟ็กต์ 100% ทั้งในด้านการซับแรงสะเทือนและเสถียรภาพการทรงตัวที่ความเร็วสูง หากแต่ช่วงล่างด้านหลังจะมีอาการติดย้วยไปสักเล็กน้อย ผิดกับด้านหน้าที่ให้ความเฟิร์มแบบพอดิบพอดี ซึ่งเหตุผลข้อเดียวที่คิดออกว่าทำไมฮุนไดถึงเลือกเซ็ตช่วงล่างออกมาแบบนี้ ก็คงเป็นเรื่องของการเซฟแบตเตอรี่ไม่ให้ได้รับแรงกระแทกจากพื้นถนนมากจนเกินไปนั่นเอง (ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้นเพราะสภาพถนนบ้านเราเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดเสียเหลือเกิน)

แต่ปัญหาช่วงล่างหลังที่ย้วยดังกล่าวดูเหมือนจะกระทบต่อผู้ขับขี่เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อสลับมานั่งเป็นผู้โดยสารตอนหลังก็พอว่ามันช่วยซับแรงสะเทือนได้ดีเหมือนกัน ทำให้การโดยสารค่อนข้างสบาย ไม่แข็งกระด้างจนน่ารำคาญ เพราะอย่าลืมว่าถึงแม้ผู้ขับขี่รถ EV ส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่นั่งไปด้วย หากว่าช่วงล่างแข็งตึงตังถึงขั้นเก็บทุกรอยต่อของถนนแล้วล่ะก็ น่าจะได้ยินเสียงบ่นจากคนนั่งหลังกันบ้างแหละ

บนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ 12.3 นิ้ว ยังสามารถแสดงภาพจากกล้องด้านข้างได้ทั้งซ้ายและขวาเมื่อเปิดไฟเลี้ยว (คล้ายกับกล้อง Honda LaneWatch เพียงแต่ฮุนไดเขามีระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตา BCA มาให้ด้วย) โดยมุมกล้องจะกดต่ำช่วยให้เห็นขอบถนนหรือขอบฟุตบาท เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ขับรถไม่แข็ง หรือกลัวว่าล้อจะไปเบียดกับขอบฟุตบาทขณะเลี้ยว

เปรียบเทียบก่อนและหลังเดินทางเปรียบเทียบก่อนและหลังเดินทาง

ส่วนอัตราการกินไฟนั้น เราออกสตาร์ทจากตึก True Digital Park ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี อันเป็นที่ตั้งของ IONIQ Lab แห่งแรกในประเทศไทย หน้าจอของรถแสดงระดับแบตเตอรี่ 95% พร้อมระยะทางขับขี่ที่วิ่งได้ 328 กิโลเมตร

เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายแรกที่ร้านอาหาร The Artisan Ayutthaya จ.พระนครศรีอยุธยา หน้าจอแสดงระยะทางขับขี่ไปทั้งสิ้น 92.3 กิโลเมตร เหลือแบตเตอรี่ 77% (นั่ง 3 คนเปิดแอร์เย็นฉ่ำ ความเร็วเดินทางส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราว 100 - 110 กม./ชม.) พร้อมกับโชว์ Range คงเหลือที่ 256 กิโลเมตร (ซึ่งเท่ากับว่าลดลงไป 328 - 256 = 72 กม. เทียบกับระยะทางขับขี่จริง 92 กม.) ก็ลองเทียบบัญญัติไตรยางค์กันดูครับว่าชาร์จเต็มหนึ่งครั้งจะวิ่งจริงได้ประมาณไหน

หากเทียบคร่าวๆ ปริมาณแบตเตอรี่ 18% พาเราเดินทางข้ามจังหวัดได้ราว 92 กิโลเมตร ดังนั้นแบตเตอรี่ราว 80% ก็น่าจะพาเราไปได้ราว 330 - 360 กม. หากใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (แม้ว่าบวกลบคูณหารออกมาจริงๆ แล้วจะได้มากกว่า 400 กม. แต่ในความเป็นจริงยังมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ระยะทางขับขี่จริงสั้นลง) ซึ่งก็ถือว่าสอดคล้องกับที่ฮุนไดเคลมเอาไว้แต่แรก

ioniq5_45

สรุปแล้วเป็นรถ EV ที่ “กลมกล่อม” น่าใช้

Hyundai IONIQ 5 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าคบหามากที่สุดรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในด้านงานออกแบบ อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มา รวมถึงคุณภาพของวัสดุและอินเตอร์เฟสต่างๆ ที่ค่อนข้างลงตัวมากกว่ารถจีนหลายยี่ห้อ ขณะที่บริการหลังการขายก็เชื่อว่าน่าจะทำได้ดีไม่แพ้กัน อันเป็นผลจากการที่บริษัทเข้ามาลุยดำเนินกิจการด้วยตัวเอง

ส่วนราคาจำหน่ายต้องยอมรับว่าค่อนข้างสูงกว่าที่คาดไปสักเล็กน้อย เพราะแม้ว่ารุ่น Premium จะมีราคาเริ่มต้นที่ 1.699 ล้านบาท แต่ตัวจบจริงๆ ทั้งในด้านสมรรถนะและระยะทางขับขี่คงต้องเล่นรุ่น Exclusive ที่มีราคาจำหน่าย 1.899 ล้านบาท ส่วนรุ่น First Edition ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เพราะราคาพุ่งขึ้นไปถึง 2.399 ล้านบาท แม้ว่าราคาทั้งหมดจะสูงกว่าแบรนด์อีวีสัญชาติจีน แต่ก็แลกมาด้วย “คุณภาพ” ตามฉบับแบรนด์เก่าแก่ที่พัฒนารถยนต์มาอย่างยาวนาน ก็ขึ้นอยู่กับคุณผู้อ่านแล้วล่ะครับว่ามองหาอะไรจากรถยนต์สักคัน

อัลบั้มภาพ 46 ภาพ

อัลบั้มภาพ 46 ภาพ ของ รีวิว Hyundai IONIQ 5 อีวีเกาหลีดีไซน์โดนใจ กับงบเริ่มต้น 1.699 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook