เพิ่งจะรู้! ทำไม "มอเตอร์ไซค์" ถึงห้ามลงอุโมงค์-ขึ้นสะพานข้ามแยก

เพิ่งจะรู้! ทำไม "มอเตอร์ไซค์" ถึงห้ามลงอุโมงค์-ขึ้นสะพานข้ามแยก

เพิ่งจะรู้! ทำไม "มอเตอร์ไซค์" ถึงห้ามลงอุโมงค์-ขึ้นสะพานข้ามแยก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนทราบดีว่ามอเตอร์ไซค์มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเมื่อเทียบกับพาหนะประเภทอื่น โดยกรณีที่พบได้บ่อย คือ อุบัติเหตุเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ที่เกิดขึ้นบริเวณอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยก แม้ว่าหลายแห่งจะมีป้ายห้ามมอเตอร์ไซค์อย่างชัดเจนแล้วก็ตาม แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมมอเตอร์ไซค์ถึงห้ามใช้อุโมงค์และสะพานเหล่านี้ บทความนี้ Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกันครับ

สาเหตุหลักคือเรื่อง "ความปลอดภัย"

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เคยอธิบายว่า การห้ามไม่ให้มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกหรือลอดอุโมงค์เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วของรถยนต์แตกต่างจากมอเตอร์ไซค์ หากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุจะมีระบบป้องกันที่ดีกว่าทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย แตกต่างจากมอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีอะไรป้องกันนอกจากหมวกกันน็อก

ยิ่งถ้าสะพานความแยกหรืออุโมงค์มีระยะทางยาว การให้มอเตอร์ไซค์ใช้ช่องทางเดียวกับรถยนต์จะยิ่งเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อีกทั้งลักษณะทางกายภาพของอุโมงค์และสะพานข้ามแยกจะไม่มีไหล่ทาง บางแห่งรถอาจวิ่งสวนกันด้วยความเร็วสูงโดยไม่มีขอบทางกั้น หากมอเตอร์ไซค์เกิดการเฉี่ยวชนหรือล้มเองก็ตาม อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้

สะพานข้ามแยก-อุโมงค์ไม่ได้ห้ามแค่มอเตอร์ไซค์

ไม่เพียงแต่รถมอเตอร์ไซค์เท่านั้นที่กฎหมายห้ามไม่ให้ลอดอุโมงค์ หรือขึ้นสะพานข้ามแยก แต่ยังรวมไปถึงพาหนะขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำอื่นๆ อีก ได้แก่ จักรยาน, รถสามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นด้วยเช่นกัน ตามมาตรา 139 (1) ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 3 ซึ่งความเร็วที่แตกต่างกันมากระหว่างรถยนต์และรถขนาดเล็กเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดการชะลอความเร็วอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้

เหตุผลที่สะพานบางแห่งมีการอนุโลม

ปัจจุบันสะพานบางแห่งมีการอนุโลมให้มอเตอร์ไซค์สามารถสัญจรได้ เช่น สะพานภูมิพล 1 แม้ว่าลักษณะทางกายภาพเองไม่เหมาะสมสำหรับมอเตอร์ไซค์ก็ตาม แต่เนื่องจากการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ หากไม่ข้ามสะพานภูมิพล จำเป็นต้องใช้แพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแทน อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ต้องใช้มอเตอร์ไซค์เป็นประจำทุกวัน จึงได้มีการอนุโลมให้มอเตอร์ไซค์สามารถข้ามสะพานดังกล่าวได้นั่นเอง

แต่ถึงกระนั้น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ยังคงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง โดยเฉพาะเมื่อต้องเปลี่ยนเลนแซงรถบรรทุกที่ช้ากว่า เนื่องจากรถยนต์มักใช้ความเร็วสูงทั้งขาขึ้นและขาลงสะพาน อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายนั่นเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ร่วมกันอย่างปลอดภัย คือการออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับพาหนะทุกรูปแบบ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ เช่น เลนเฉพาะสำหรับมอเตอร์ไซค์, ปริมาณที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ตามสถานที่ต่างๆ หรือกระทั่งสะพานและอุโมงค์ที่มีความกว้างมากพอในการใช้มอเตอร์ไซค์ควบคู่กันไป จนหลายครั้งผู้ใช้มอเตอร์ไซค์จำเป็นต้องกระทำผิดเพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook