รีวิว Honda e:N1 ใหม่ ครอสโอเวอร์ไฟฟ้าล้วน 100% กับสมรรถนะอันกลมกล่อม
Honda e:N1 ใหม่ รถครอสโอเวอร์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของฮอนด้าประเทศไทย กับสมรรถนะที่กลมกล่อมสมกับแบรนด์ญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่มีขาย แต่เข้าถึงได้ง่ายกว่า Toyota bZ4X ส่วนความคุ้มค่าจะสมกับค่าเช่าเริ่มต้นเดือนละ 29,000 บาทขนาดไหน ติดตามได้ในบทความนี้ครับ
Honda e:N1 รุ่นปี 2024 ใหม่ ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทยบนเวทีงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 45 เมื่อเดือนมีนาคม 2567 แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจไม่น้อยคือการวางจำหน่ายในรูปแบบเช่าระยะยาวเท่านั้น ไม่มีการขายขาดแต่อย่างใด โดยมีค่าเช่าเริ่มต้นที่ 29,000 บาท (คิดที่สัญญาเช่า 48 เดือน) สามารถเช่าได้ยาวสูงสุด 60 เดือน หรือ 5 ปี ซึ่งค่าเช่าอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทผู้ให้เช่า
แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกตะหงิดๆ กับโมเดลการทำตลาด e:N1 ของฮอนด้าประเทศไทยอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการปล่อยเช่าในลักษณะนี้ หากเทียบกับรถไฟฟ้าเพียงรุ่นเดียวของโตโยต้าในไทยคือ bZ4X แล้วล่ะก็ คนทั่วไปก็จะสามารถเข้าถึง e:N1 ได้ง่ายกว่า ประกอบกับการเช่าระยะยาวจะรวมค่าใช้จ่ายด้านประกันภัย และบำรุงรักษาทุกสิ่งอย่างไม่เว้นแม้แต่แบตเตอรี่ 12 โวลต์ และการเปลี่ยนยางทุก 50,000 กิโลเมตร และไม่ต้องรับความเสี่ยงเกี่ยวกับราคาขายต่อรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตด้วย
แพล็ตฟอร์มใหม่ 100% ครอบกระดอง Honda HR-V
แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของ Honda e:N1 จะละม้ายคล้ายคลึงกับ HR-V แทบทุกสัดส่วน แต่อันที่จริงรถคันนี้ได้รับการพัฒนาบนแพล็ตฟอร์มที่เรียกว่า e:N Architecture F สำหรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ จึงอาจเรียกว่าเป็นรถคนละคันกับ HR-V เลยก็ว่าได้ เพียงแค่หยิบยืมดีไซน์ตัวถังมาใช้เท่านั้นเอง
Honda e:N1 ถูกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า AC Synchronous Motor กำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า เคลมอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ไว้ที่ 7.7 วินาที ล็อกความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม.
ส่วนแบตเตอรี่เป็นแบบ Lithium-ion ความจุ 68.8 kWh ให้ระยะทางขับขี่สูงสุด 500 กิโลเมตรตามมาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จปกติด้วยหัวชาร์จ Type 2 และหัวชาร์จด่วนแบบ CCS2 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
ส่วนช่องชาร์จไฟของ Honda e:N1 ถูกติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้ารถ โดยฝาปิดเป็นแบบไฟฟ้าสามารถเปิดได้จากปุ่มด้านหน้า และหน้าจอสัมผัสภายในรถ อีกทั้งยังมีแถบไฟแสดงสถานะการชาร์จมาให้ด้วย เพียงมองผ่านๆ ก็สามารถรับรู้ได้ว่าแบตเตอรี่กำลังชาร์จอยู่หรือชาร์จเต็มแล้ว
โดยหากแบตเตอรี่กำลังชาร์จไฟอยู่ แถบไฟแนวนอนจะกะพริบเบาๆ จากซ้ายไปขวา และเมื่อชาร์จเต็มแล้ว แถบไฟจะสว่างค้างไว้ตลอดเวลาเพื่อบ่งบอกว่าสามารถถอดหัวชาร์จออกได้แล้ว และหากเกิดความผิดพลาดใดๆ ในการชาร์จแล้วล่ะก็ จะมีไฟสีแดงกะพริบเพื่อเตือนให้เจ้าของรถทำการแก้ไขต่อไป
อุปกรณ์มาตรฐานจัดให้แบบครบครัน
แม้ว่า Honda e:N1 จะมีเพียงรุ่นย่อยเดียว แต่ก็ถูกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานมาให้ครบครันอย่างที่ควรจะเป็น โดยด้านหน้าติดตั้งไฟหน้าแบบ LED พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และไฟเลี้ยวด้านหน้าแบบ Sequential ส่วนด้านท้ายติดตั้งไฟท้าย LED Light Strip สี Smoke แบบเดียวกับ HR-V รุ่น RS แต่ปรับเปลี่ยนจากโลโก้ H-Mark มาเป็นตัวหนังสือ HONDA จัดวางเรียงกันห่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของ EV จากฮอนด้า
อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ประกอบด้วย ระบบปัดน้ำฝนด้านหน้าอัตโนมัติ และด้านหลังแบบหน่วงเวลา, กระจกมองข้างปรับไฟฟ้าและพับเก็บอัตโนมัติ พร้อมปรับมุมกระจกฝั่งซ้ายลงอัตโนมัติเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง, ไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบ LED, กระจกมองข้างแบบลดการเกาะตัวของหยดน้ำ พร้อมระบบไล่ฝ้า, สปอยเลอร์ท้าย และล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์เฉพาะรุ่น หุ้มด้วยยางขนาด 225/50 R18
ส่วนห้องโดยสารมีการออกแบบแผงคอนโซลหน้าใหม่เกือบจะทั้งหมดเช่นกัน โดดเด่นด้วยหน้าจอสัมผัสแนวตั้งขนาด 15.1 นิ้ว ที่แบ่งการแสดงผลออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนสุดจะใช้สำหรับระบบความบันเทิงต่างๆ รวมถึง Apple CarPlay (Wireless) และ Android Auto (USB) ถัดลงมาจะใช้สำหรับแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการขับขี่ และส่วนล่างสุดจะถูกใช้สำหรับระบบปรับอากาศแบบ Dual-zone เท่านั้น
แอบเสียดายที่ฮอนด้าไม่ทำปุ่มควบคุมระดับเสียงแยกออกมาต่างหากเหมือนกับรถรุ่นอื่นๆ เพราะใช้งานค่อนข้างสะดวกและปลอดภัยมากกว่าสัมผัสบนหน้าจอ แต่ยังดีที่ User Interface มีความใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนน่าปวดหัวเหมือนกับรถจีนหลายรุ่น ใครที่ขับฮอนด้าอยู่แล้วก็น่าจะปรับตัวได้ไว แถมหน้าจอยังให้ความลื่นและความไวในการตอบสนองดีเยี่ยมไม่ต่างจากไอแพดเลย
บริเวณใต้หน้าจอถูกติดตั้งปุ่มไฟฉุกเฉินขนาดใหญ่ มาพร้อมช่องจ่ายไฟ USB-A และ USB-C อย่างละ 1 ตำแหน่ง เสริมด้วยแป้นชาร์จไฟ (Wireless Charger) อีก 1 จุด ส่วนบริเวณเบาะนั่งแถว 2 มีช่อง USB-C มาให้อีก 2 ตำแหน่ง พร้อมช่องแอร์ที่ให้ความเย็นไม่แพ้กับช่องแอร์ด้านหน้า
นอกจากนี้ Honda e:N1 ยังถูกติดตั้งระบบเชื่อมต่อ Honda CONNECT ที่ถูกเพิ่มเติมด้วยฟังก์ชัน Charging Status สามารถตรวจสอบสถานะและตั้งค่าการชาร์จแบตเตอรี่จากสตาร์ทโฟนได้ เช่น การชาร์จที่ "บ้าน" หรือชาร์จไฟเมื่อเจ้าของ "ไม่อยู่" ใกล้รถ หรือการเลือกระดับการชาร์จตั้งแต่ LOW ที่จำกัดไฟฟ้าไว้ที่ 6 แอมป์ ไปจนถึง HIGH ซึ่งเป็นการรับกระแสไฟสูงสุดจากเครื่องชาร์จเท่าที่แบตเตอรี่จะรับได้
ส่วนฟีเจอร์ที่หลายคนน่าจะชอบอย่างการสั่งเปิด-ปิดระบบปรับอากาศ รวมถึงตั้งค่าอุณหภูมิจากสมาร์ทโฟน และการล็อก-ปลดล็อกประตูรถจากระยะไกลก็มีให้เช่นกัน
อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ของ Honda e:N1 ประกอบด้วย เบาะนั่งหุ้มหนังสังเคราะห์ตกแต่งด้วยขอบสีขาวและด้ายสีฟ้า, เบาะนั่งปรับไฟฟ้า 8 ทิศทางเฉพาะฝั่งผู้ขับขี่, จอแสดงข้อมูลการขับขี่ 10.25 นิ้ว, กระจกมองหลังปรับลดแสงสะท้อนอัตโนมัติ, ไฟตกแต่ง Ambient Light สีฟ้าที่แผงประตูทั้ง 4 บาน, ระบบเกียร์ไฟฟ้าแบบสวิตช์, ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อม Auto Brake Hold และแป้นช่วยชะลอความเร็ว Deceleration Paddle Selectors ที่พวงมาลัย ปรับได้ 3 ระดับ เป็นต้น
ระบบ Honda SENSING ของ e:N1 ประกอบด้วย
ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก (CMBS)
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (LKAS)
ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (RDM with LDW)
ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (AHB)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน พร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (ACC with LSF)
ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ (LCDN)
อีกหนึ่งจุดที่ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะรอบนี้ฮอนด้าไม่ได้ใส่ระบบกล้อง Honda LaneWatch เหมือนกับฮอนด้ารุ่นอื่นๆ หากแต่เลือกติดตั้งระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง (BSI) พร้อมระบบเตือนเมื่อมีรถเคลื่อนผ่านขณะถอย (CTM) เหมือนค่ายอื่นๆ มาให้เสียที ถึงกระนั้นก็ยังมีเฉพาะกล้องมองภาพด้านหลังปรับได้ 3 ระดับ ไม่ใช่กล้องมองภาพรอบคัน แต่ยังดีที่มีเซนเซอร์กะระยะ 8 จุด (หน้า 4 จุด และหลัง 4 จุด) มาให้
ส่วนระบบความปลอดภัยมาตรฐานอื่นๆ ระบบช่วยควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA), ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่ (AHA), ระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock) และระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง (TPMS) เป็นต้น
สมรรถนะไฟฟ้าแต่ขับเนียนเหมือนรถสันดาป
จุดขายของ e:N1 ที่ฮอนด้าเน้นย้ำมาตลอดตั้งแต่เราได้ไปทดลองขับที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา คือ คาแร็กเตอร์การขับขี่ที่นุ่มนวลใกล้เคียงกับรถสันดาป แม้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ก็ตาม ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากนัก หากที่บ้านมีรถฮอนด้าอยู่แล้ว ก็สามารถสลับมาขับ e:N1 ได้ทันที และยังสลับไปขับรถคันเดิมที่บ้านได้โดยไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก
ซึ่งคาแร็กเตอร์ดังกล่าว จะรู้สึกได้ทันทีที่เริ่มออกตัว เพราะแทนที่จะเซ็ตคันเร่งเพื่อรีดอัตราเร่งที่ปรู๊ดปร๊าดเหมือนกับรถไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ นั้น ฮอนด้ากลับเลือกเซ็ตให้สามารถออกตัวได้อย่างนุ่มนวล มี Linear ในการรีดกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างนุ่มนวล ไม่กระชาก แต่เมื่อต้องการเพิ่มความเร็วก็สามารถเพิ่มน้ำหนักคันเร่ง แรงบิดกว่า 310 นิวตัน-เมตร ก็สามารถส่งให้ตัวรถพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
แต่อย่างเพิ่งเข้าใจผิดว่าฮอนด้าทำรถไฟฟ้าได้ไม่แรงเท่ารถจีน ก็เลยออกมาพูดขายของเชิงการตลาดสร้างภาพลักษณ์ให้รถตัวเองดูดีขึ้นมานะครับ เพราะหากเปลี่ยนเป็นจากโหมด Normal เป็นโหมด Sport ผ่านปุ่ม Drive Mode ที่อยู่ใกล้กับปุ่มเบรกมือไฟฟ้าแล้วล่ะก็ คาแร็กเตอร์การขับขี่ของ e:N1 ก็ถูกเปลี่ยนให้มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น สามารถรีดพละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เท่าที่ทดสอบในโหมด Sport ทำได้ราว 7.5 วินาที ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่เคลมเอาไว้เสียอีก
ส่วนความเงียบภายในห้องโดยสารนั้น ต้องยอมรับว่าการใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะไม่มีเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ก็จริง แต่ e:N1 คันที่เราได้ทดสอบกลับพบว่ามีเสียงมอเตอร์ครางให้ได้ยินเบาๆ และจะชัดเจนที่สุดในช่วงความเร็วประมาณ 85-90 กม./ชม. ซึ่งถ้าหากเราแช่ความเร็วนั้นเอาไว้ ก็จะมีเสียงมอเตอร์แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องน่าซีเรียสอะไรนัก แต่เมื่อใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% ก็คาดหวังว่าจะได้สัมผัสกับความเงียบมากกว่านี้
นอกจากนี้ หากเป็นผู้โดยสารตอนหลังก็สัมผัสได้ถึงเสียงยางบดพื้นถนนที่แทรกเข้ามายังห้องโดยสารตั้งแต่ช่วงความเร็ว 90 - 100 กม./ชม. และจะดังขึ้นเรื่อยๆ ตามความเร็วที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการหายไปของเสียงเครื่องยนต์ ส่งผลให้ได้ยินเสียงจากพื้นถนนค่อนข้างชัดเจน
ขณะที่ช่วงล่างของ e:N1 ก็ถูกเซ็ตมาค่อนข้างลงตัว มีความนุ่มนวลและหนักแน่นกว่า HR-V อยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะน้ำหนักของแบตเตอรี่ที่ถูกติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ ทำให้บาลานซ์ของตัวรถค่อนข้างดี หากขับด้วยความเร็วสูงก็ไว้ใจได้ หรือหากวันไหนต้องพาครอบครัวที่มีผู้ใหญ่เดินทางไปด้วย ก็นุ่มสบายพอที่จะไม่โดนบ่นอย่างแน่นอน
ส่วนการใช้งานของแบตเตอรี่นั้น เราเริ่มต้นเดินทางออกจากสำนักงานใหญ่ของฮอนด้าที่นิคมบางชัน ด้วยปริมาณแบตเตอรี่ 98% หน้าจอโชว์ระยะทางขับขี่คงเหลือ 414 กม. มุ่งหน้าสู่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ใช้ความเร็วตามการจราจรปกติ ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ท็อปสปีดไม่เกิน 120 กม./ชม. เมื่อถึงจุดหมายใช้ระยะทาง 115 กม. ปริมาณแบตเตอรี่คงเหลืออยู่ที่ 71% หน้าจอโชว์ระยะทางคงเหลือ 308 กม. พร้อมกับแสดงอัตราการกินไฟอยู่ที่ 6.5 กม. ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)
หากคำนวณแบบคร่าวๆ แปลว่าแบตเตอรี่ 1% จะสามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางประมาณ 4.2 กิโลเมตร หมายความว่าหากขับ e:N1 ด้วยแบตเตอรี่เต็ม 100% จนกระทั่งแบตเกลี้ยง ก็น่าจะได้ระยะทางขับขี่ราว 400+- กม. ตามที่ปรากฏบนหน้าจอจริงๆ
รถไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับการใช้งานในครอบครัว
หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว Honda e:N1 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าใช้งานมากที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดขณะนี้ ด้วยชื่อชั้นของแบรนด์ฮอนด้าที่ไว้ใจได้ถึงคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ห้องโดยสารกว้างขวางภายใต้บอดี้ขนาดกะทัดรัด จะใช้งานคนเดียวในวันธรรมดา หรือพาครอบครัวไปเที่ยวช่วงวันหยุดก็ได้ ส่วนออปชันก็มีให้แบบครบๆ โดยเฉพาะหน้าจอ 15.1 นิ้ว ที่ใช้งานง่าย และดีมากพอที่ฮอนด้าควรนำมาใช้เป็นมาตรฐานในรถรุ่นอื่นๆ
แต่แอบน่าเสียดายที่ Honda e:N1 ถูกวางจำหน่ายด้วยระบบเช่าระยะยาวเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ทราบสัญญาเช่าสูงสุดจะอยู่ที่ 60 เดือน หรือ 5 ปี ขณะที่ใครหลายคนอาจจะอยากเก็บรถเอาไว้นานกว่านั้น ส่วนใครที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้า และพร้อมที่จะจ่ายเงินเดือนละราว 3 หมื่นบาท โดยไม่แคร์ว่าจะต้องเป็นเจ้าของเมื่อครบอายุสัญญา รถคันนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ
หมายเหตุ: บริษัทเช่ารถที่ให้บริการเช่า Honda e:N1 ประกอบด้วย
- Krungthai Car Rent
- CH Pattana
- Sumitomo Mitsui Auto Leasing
- Bizcar Rental
- Easy Car
- Orix
- Hertz
- Chic Car Rent
- Phatra Leasing
- Master Car Rental
- Budget
- Payless Car Rental
อัลบั้มภาพ 40 ภาพ