ทำไม "วันแรงงาน" ทางด่วนถึงไม่ฟรี?
ชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องขับรถส่วนตัวเป็นประจำมักคุ้นเคยกับธรรมเนียม "ทางด่วนฟรี" ช่วงวันหยุดกันดีอยู่แล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่า "วันแรงงาน" วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันหยุดเช่นเดียวกัน แต่ทางด่วนกลับไม่ฟรีเหมือนวันหยุดอื่นๆ สาเหตุเป็นเพราะอะไรมาดูคำตอบกัน
ทำไมทางด่วนถึงฟรีวันหยุด?
การยกเว้นเก็บค่าผ่านทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เกิดจากการปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทาน ตามที่คณะกรรมการ กทพ. มีมติอนุมัติผลการเจรจาข้อยุติพิพาทคดีความ 17 คดี ที่ กทพ. กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2578 โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่ตกลงกัน คือ การยกเว้นค่าผ่านทางในวันหยุดราชการประจำปีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของ กทพ. ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1), ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
ทำไมวันแรงงานทางด่วนไม่ฟรี?
"วันแรงงาน" วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ไม่มีการยกเว้นเก็บค่าผ่านทางเหมือนกับวันหยุดอื่นๆ เนื่องจากวันแรงงานไม่ใช่วันหยุดราชการประจำปีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เป็นวันหยุดของหน่วยงานภาคเอกชนนั่นเอง
ทางด่วนฟรีวันไหนบ้าง?
วันหยุดราชการที่สามารถขึ้นทางด่วนฟรี 19 วัน มีดังนี้
- 1 มกราคม วันขึ้นปีใหม่
- วันมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของแต่ละปี)
- 6 เมษายน วันจักรี
- 13 เมษายน วันสงกรานต์
- 14 เมษายน วันสงกรานต์
- 15 เมษายน วันสงกรานต์
- 4 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล
- วันวิสาขบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของแต่ละปี)
- 11 พฤษภาคม วันพืชมงคล
- 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนม์พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
- วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของแต่ละปี)
- วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ของแต่ละปี)
- 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว
- 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ
- 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช
- 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ
- 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ
- 31 ธันวาคม วันสิ้นปี