ลองขับ NETA V-II 2024 ใหม่ ปรับโฉมทันสมัย เพิ่มฟังก์ชัน ADAS ปลอดภัยยิ่งขึ้น
เดิมที NETA V ก็ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นขายดีในบ้านเราอยู่แล้ว การปรับโฉมเปลี่ยนเป็น NETA V-II ครั้งนี้ ก็น่าจะกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อย ด้วยออปชันที่เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด แลกกับราคาจำหน่ายที่ยังคงเน้นเข้าถึงง่ายเช่นเคย
NETA V-II (อ่านว่า เนต้า วี-ทู) ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่งานบางกอกอินเตอร์เนชันแนลมอเตอร์โชว์ เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการต่อยอดมาจาก NETA V รุ่นแรก (ที่ยังคงวางจำหน่ายควบคู่กัน) เพิ่มเติมด้วยอุปกรณ์มาตรฐานเน้นความคุ้มค่าทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการติดตั้งระบบความปลอดภัย ADAS เป็นครั้งแรก กับราคาจำหน่ายที่ยังคงต่ำกว่า 6 แสนบาทเช่นเคย
ราคาจำหน่าย NETA V-II ทั้ง 2 รุ่นย่อย
- NETA V-II Lite ราคา 549,000 บาท
- NETA V-II Smart ราคา 569,000 บาท
รูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย
ดีไซน์ภายนอกของ NETA V-II มีการตกแต่งเน้นลูกเล่นเพิ่มขึ้นจากเดิม ด้วยไฟหน้าที่ถูกเปลี่ยนเป็นแบบ Projector LED จากเดิมที่เป็นฮาโลเจน พร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และไฟเลี้ยวแบบ LED ส่วนกันชนหน้าถูกออกแบบด้วยลวดลายรังผึ้ง เสริมความหรูขึ้นอีกนิดด้วยแถบโครเมียมที่ปลายกันชน
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ด้านท้ายที่มีการออกแบบชุดไฟท้าย Through-type LED มีแถบพาดยาวเชื่อมไฟทั้งสองข้างเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงกันชนท้ายที่ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด ตกแต่งด้วยแถบโครเมียมเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ด้านหน้า ส่วนล้อยังคงเป็นลายเดิมขนาด 16 นิ้ว พร้อมดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ
ห้องโดยสารเหมือนเดิม เพิ่ม ADAS เพื่อความปลอดภัย
แม้ว่าตัวรถจะมีขนาดกะทัดรัด แต่ด้วยการออกแบบหลังคาให้สูงโปร่ง ทำให้ห้องโดยสารไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไปนัก โดดเด่นด้วยหน้าจอสัมผัสแนวตั้งขนาด 14.6 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay ผ่านสาย USB ได้ ส่วนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 12 นิ้ว ถูกยกมาจาก NETA V เดิมเช่นกัน
สำหรับ Interface ของหน้าจอกลางขนาด 14.6 นิ้ว ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าใช้งานง่าย ตอบสนองไวไม่แพ้ iPad และมีรูปแบบการแสดงผลที่สวยงาม พร้อมทั้งมีปุ่ม Shortcut เพื่อการเข้าถึงเมนูต่างๆ ได้สะดวกขึ้น แต่ถึงกระนั้นการปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียงก็ยังจำเป็นต้องใช้การแตะบนหน้าจอ หรือไม่ก็กดปุ่มที่พวงมาลัยอยู่ดี เนื่องจากไม่มีปุ่มหมุนมาให้เหมือนรถรุ่นอื่นๆ ที่เริ่มนำปุ่ม Volume กลับมาบ้างแล้ว
พวงมาลัยเป็นแบบ 2 ก้าน ตัดเรียบทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ชวนให้นึกถึงพวงมาลัยของเปอโยต์รุ่นใหม่ๆ รอบวงมีขนาดเล็ก จับกระชับมือ สามารถควบคุมทิศทางได้ง่ายและฉับไว เพิ่มเติมด้วยปุ่มควบคุมการทำงานของระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หรือ ICA - Integrated Cruise Assist ที่บริเวณด้านซ้ายของพวงมาลัย
ก้านควบคุมตำแหน่งเกียร์ถูกติดตั้งไว้ทางด้านขวามือของพวงมาลัย โดยหากต้องการเปิดระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (ICA) ก็ใช้วิธีกดก้านลงแบบเดียวกับ Tesla เปี๊ยบ
ส่วนอุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ของทั้งรุ่น Lite และ Smart ประกอบด้วย ระบบกุญแจ Smart Key, ระบบปรับอากาศพร้อมกรองฝุ่น N95, ช่อง USB หน้าและหลังรวม 3 ตำแหน่ง, ที่ชาร์จมือถือไร้สาย, เบาะนั่งคู่หน้าปรับมือ 6 ทิศทาง, เบาะนั่งด้านหลังพับพนักพิงได้ พร้อมเข็มขัดนิรภัย 3 ตำแหน่ง และลำโพง 6 ตำแหน่ง
ระบบความปลอดภัยขั้นสูง ADAS (เฉพาะรุ่น Smart) ประกอบด้วย
ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ (AEB)
ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการชนรถคันหน้าขณะขับขี่ (FCW)
ระบบช่วยเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อน (FSA)
ระบบช่วยควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ (TJA)
ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ (HBA)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA)
ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน (ELKS)
ขณะที่ระบบความปลอดภัยมาตรฐานของ NETA V-II ทั้ง 2 รุ่นย่อย ได้แก่ ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อม Auto Vehicle Hold, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว ESC, ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC, ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง TPMS และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control
NETA V-II ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor กำลังสูงสุด 95 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 150 นิวตัน-เมตร และแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ความจุ 36.1 kWh ให้ระยะทางขับขี่ 382 กม. (ตามมาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จด่วนจาก 30-80% ในเวลาประมาณ 30 นาที
ขับง่าย คล่องตัว ระบบ ADAS ทำงานดี
จากการขับขี่เป็นระยะทางสั้นๆ ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ หรือ ATTRIC พบว่า NETA V-II มีการตอบสนองเหมือนกับรุ่น NETA V เปี๊ยบ ไม่ว่าจะเป็นด้านอัตราเร่ง และการทรงตัวของช่วงล่าง แม้ว่าจะมีแรงม้าเพียง 95 ตัว แต่ด้วยแรงบิดสูงสุดที่มาแบบทันทีทันใด ทำให้รถมีความคล่องตัวตามฉบับรถยนต์ไฟฟ้า
ความเร็วสูงสุดยังคงจำกัดไว้ที่ 110 กม./ชม. ในโหมดปกติ และเพิ่มเป็น 120 กม./ชม. ในโหมด Sport เพียงพอต่อการใช้งานแบบไม่รีบร้อน แต่จุดสำคัญอยู่ที่การเพิ่มระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ โดยเฉพาะระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ (ICA) ที่สามารถปรับความเร็วตามรถคันหน้าได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งการทดสอบพบว่าหากมีรถแทรกเข้ามาด้านหน้าในระยะค่อนข้างกระชั้นชิด ตัวรถจะลดความเร็วลงอย่างนุ่มนวล ไม่เบรกจนหัวทิ่มเหมือนกับระบบ ACC ยุคแรกๆ แต่การทำงานบนถนนจริงคงต้องรอการทดสอบกันอีกครั้ง
อีกหนึ่งระบบที่เรามีโอกาสทดลองใช้งานนั่นก็คือ ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน ELKS - Emergency Lane Keeping Assist โดยระบบนี้จะไม่ได้เป็นการช่วยประคองรถให้อยู่กลางเลนเหมือนกับระบบ LKAS ของฮอนด้า แต่จะเป็นการดึงพวงมาลัยกลับหากพบว่าหากล้อรถข้างใดข้างหนึ่งแตะเส้นแบ่งเลนจนเกือบจะทะลุไปอีกเลน ซึ่งระบบที่ว่านี้ทำงานทั้งบนเส้นทึบและเส้นประ และถือว่าค่อนข้างไว้ใจได้พอสมควร
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการแสดงผลบนหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาด 12 นิ้ว ทำให้การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระบบ ADAS ถูกย้ายไปแสดงบริเวณส่วนล่างของหน้าจอกลางขนาด 14.2 นิ้วแทน ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่ดีนักในการเหลือบมองขณะขับรถ
สรุป NETA V-II ก็คือ NETA V ที่เพิ่มความน่าใช้ขึ้นอีกขั้น
นอกจากรูปลักษณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนจากรุ่น NETA V เดิม (ซึ่งความสวยงามก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเลย) การเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานอีกหลายอย่าง รวมถึงระบบความปลอดภัย ADAS ก็ทำให้รถคันนี้มีความน่าใช้มากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาคู่กับราคาจำหน่ายตัวท็อปเพียง 569,000 บาท ก็น่าจะเพียงพอที่จะรักษาตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าขายดีเอาไว้ได้ เรียกว่าถ้าจะเน้นความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปแล้วล่ะก็ นาทีนี้คงไม่มีใครสู้ NETA V-II ได้แล้วล่ะครับ