ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ทำได้จริงไหม? ต้องจ่ายอะไรเพิ่มบ้าง?

ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ทำได้จริงไหม? ต้องจ่ายอะไรเพิ่มบ้าง?

ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ทำได้จริงไหม? ต้องจ่ายอะไรเพิ่มบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0% มีจริงไหม? วันออกรถมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกบ้าง? และข้อควรระวังของการออกรถดาวน์ 0 บาทคืออะไร? บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกัน

ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ทำได้จริงไหม?

โดยปกติแล้วการซื้อรถยนต์แบบผ่อน จะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินดาวน์ จากนั้นยอดเงินส่วนที่เหลือจะถูกนำไปคิดดอกเบี้ยและแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน ยิ่งดาวน์มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะนอกจากจะแสดงถึงศักยภาพในการชำระหนี้แล้วนั้น ยังทำให้ค่างวดต่อเดือนลดลงด้วยเช่นกัน

ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ได้ทั้งรถป้ายแดง และรถมือสองหรือไม่?

ส่วนมากแล้วการออกรถฟรีดาวน์จะทำได้กับรถยนต์มือสอง โดยเฉพาะรถที่ตั้งราคาไว้เท่ากับหรือต่ำกว่ายอดจัดไฟแนนซ์ หากเครดิตผู้ซื้อดี ก็มีโอกาสจะได้ฟรีดาวน์สูง ขณะที่รถป้ายแดงจะมีตัวเลือกน้อยกว่า เนื่องจากเป็นโปรโมชันพิเศษที่ทำขึ้นเฉพาะบางรุ่นเท่านั้น

ออกรถฟรีดาวน์ 0 บาท ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?

การออกรถฟรีดาวน์ รถที่ต้องการซื้อจะต้องมีมูลค่าซื้อ-ขายเท่ากับหรือน้อยกว่ายอดจัดไฟแนนซ์ที่สถาบันการเงินกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น ไฟแนนซ์กำหนดรถยนต์ยี่ห้อ-รุ่น A จัดได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หากมีการซื้อ-ขายจริงเท่ากับหรือต่ำกว่า 500,000 บาท ก็สามารถฟรีดาวน์ได้

อย่างไรก็ดี การออกรถฟรีดาวน์จะขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้ซื้อด้วย โดยจะคำนวณจากความสามารถในการชำระแต่ละเดือน ซึ่งโดยมากแล้วจะต้องมีรายได้คิดเป็น 2 เท่าของยอดผ่อนต่อเดือน เช่น เงินเดือน 15,000 บาท จะผ่อนได้สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน

แต่หากมีภาระอย่างอื่น เช่น ผ่อนบ้าน, ผ่อนบัตรเครดิต, ผ่อนสินเชื่อ ฯลฯ ก็จะทำให้ความสามารถในการชำระรายเดือนลดลง จาก 7,500 บาท อาจผ่อนได้จริงเพียง 3,500 บาทต่อเดือน โดยตัวเลขที่แน่ชัดจะแตกต่างกันไปตามภาระทางการเงินของผู้ขอกู้ และเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน

เมื่อไฟแนนซ์คำนวณตัวเลขยอดผ่อนสูงสุดแต่ละเดือน ก็จะนำไปคำนวณกับดอกเบี้ยและระยะเวลาการผ่อน จนกลายเป็นยอดจัดไฟแนนซ์สูงสุดเท่าที่ผู้ขอกู้จะสามารถยื่นได้ หากคำนวณแล้วว่าผู้ขอกู้ผ่อนชำระไหวสูงสุดที่ 3,500 บาทต่อเดือน ระยะเวลาสูงสุด 84 เดือน (7 ปี)

เท่ากับว่าหากต้องการฟรีดาวน์ รถคันดังกล่าวจะต้องมียอดจัดรวมดอกเบี้ยและ VAT เท่ากับหรือน้อยกว่า 3,500 x 84 = 294,000 บาท จึงจะสามารถฟรีดาวน์ได้นั่นเอง (ย้ำว่าเป็นยอดจัดรวมดอกเบี้ยและ VAT แล้ว)

ออกรถฟรีดาวน์มีข้อควรระวังอย่างไร?

การออกรถฟรีดาวน์ หรือดาวน์ 0 บาท สถาบันการเงินมักเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าแบบมีดาวน์ (มีตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไป) เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสเบี้ยวหนี้สูง เมื่อรวมกับยอดจัดไฟแนนซ์ที่สูงด้วยแล้วนั้น ก็จะต้องเจอกับค่างวดที่สูงกว่าปกติเช่นกัน รวมแล้วหากชำระจนสิ้นสุดสัญญาอาจต้องจ่ายแพงกว่าแบบมีดาวน์นับแสนบาทก็เป็นได้

ดังนั้น การออกรถไม่ว่าจะมือสองหรือป้ายแดง ควรคิดคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบตลอดอายุสัญญา อย่ารีบตัดสินใจออกรถเพียงเพราะฟรีดาวน์ จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลังนั่นเองครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook