เพิ่งจะรู้! ทำไมเข็มความเร็วต้องเผื่อไว้ถึง 240 กม./ชม. แม้รถไม่มีทางวิ่งถึง
เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมความเร็วสูงสุดบนเรือนไมล์ของรถแต่ละคัน ถึงสูงกว่าความเร็วจริงที่รถคันนั้นสามารถวิ่งได้เสมอ แม้แต่รถที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกอย่าง Bugatti Chiron ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ 420 กม./ชม. ยังต้องเผื่อเรือนไมล์ไว้สูงถึง 500 กม./ชม. บทความนี้ Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกันครับ
ทำไมความเร็วสูงสุดบนเรือนไมล์ถึงสูงกว่าความเร็วจริงที่รถวิ่งได้
เชื่อว่าสมัยเด็กหลายคนคิดว่าความเร็วสูงสุดที่โชว์อยู่บนเรือนไมล์ของรถ หมายถึงความเร็วสูงสุดที่รถคันนั้นสามารถวิ่งได้ เช่น ถ้าเรือนไมล์โชว์อยู่ที่ 220 กม./ชม. ก็เข้าใจว่ารถสามารถวิ่งได้ถึง 220 กม./ชม. จริงๆ
แต่พอโตขึ้นมาถึงได้รู้ว่ารถแทบทุกคันบนโลกใบนี้ ไม่สามารถขับไปถึงความเร็วสูงสุดที่โชว์บนเรือนไมล์ได้เลย เว้นแต่ว่าจะมีการโมดิฟายเครื่องยนต์อย่างสุดพลังจริงๆ เท่านั้น
แล้วทำไมผู้ผลิตรถยนต์ถึงต้องทำเข็มไมล์เผื่อไว้มากมายขนาดนั้นด้วยล่ะ?
สาเหตุที่ผู้ผลิตรถยนต์ถึงต้องเผื่อความเร็วสูงสุดบนเรือนไมล์มากกว่าความเร็วที่รถวิ่งได้จริงนั้น ก็เพื่อให้ช่วงความเร็วที่ใช้งานจริง (ช่วงตั้งแต่ 0 - 120 กม./ชม. หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย) อยู่ในตำแหน่งที่ง่ายต่อการอ่านนั่นเอง
นอกจากนี้ การที่เข็มไมล์เผื่อความเร็วสูงสุดมากกว่าความเร็วจริง ยังมีส่วนด้านจิตวิทยาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงจนเกินไปอีกด้วย
เช่น ถ้าเรือนไมล์แสดงความเร็วสูงสุดที่ 240 กม./ชม. จะมีจุดกึ่งกลาง (ตำแหน่ง 12 นาฬิกา) อยู่ที่ประมาณ 120 กม./ชม. หากผู้ขับขี่ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด เข็มความเร็วจะขึ้นลงเฉพาะฝั่งซ้ายของเรือนไมล์เท่านั้น แต่หากใช้ความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด (เกิน 120 กม./ชม.) เข็มความเร็วจะเริ่มเบี่ยงมาทางด้านขวา ช่วยกระตุ้นให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่ากำลังใช้ความเร็วสูงเกินกว่าปกตินั่นเอง
อย่างไรก็ดี เรือนไมล์ของรถที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นถูกกำหนดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 180 กม./ชม. เนื่องจากกฎหมายของญี่ปุ่นกำหนดให้รถทุกคันที่ออกจากโรงงานจะต้องล็อกความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 180 กม./ชม. นั่นเอง
เมื่อทราบเช่นนี้ก็คงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมครับ