ทำไมรถบางคันถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็ว

ทำไมรถบางคันถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็ว

ทำไมรถบางคันถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพื่อนๆ หลายคนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมรถบางคันขับแค่ 80 กม./ชม. ก็รู้สึกเร็ว แต่บางคันขับเกิน 120 กม./ชม. ก็ยังรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้เร็วอะไรมากมาย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกัน

ทำไมรถบางคันขับแล้วถึงรู้สึกเร็ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขับเร็วขนาดนั้น

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงความเร็วที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ (หากไม่เชื่อก็ลองนึกภาพว่าคุณกำลังยืนสงบนิ่ง แต่โลกที่คุณกำลังยืนอยู่นั้นกลับหมุนด้วยความเร็วมากถึง 1,675 กม./ชม. หรือ 465 เมตรต่อวินาทีดูสิ เห็นไหมล่ะ! คุณไม่รู้สึกถึงความเร็วนั้นเลยแม้แต่น้อย) แต่ร่างกายของคนเราจะพอรับรู้ได้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเร่งหรือแรง G ในขณะนั้น

นั่นหมายความว่ายิ่งร่างกายของคุณต้องเผชิญกับแรง G มากขึ้นเท่าไหร่ ก็พอจะรับรู้ได้ว่ามีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ทีนี้เมื่อพูดถึงแรง G ของรถ เรามักจะนึกถึงรถแข่งหรือซูเปอร์คาร์ที่สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ได้อย่างรวดเร็วจนหลังติดเบาะ หรือแรงเบรกจากจานเบรกคาร์บอนเซรามิกและคาลิเปอร์แบบ 4-pot ที่สามารถหยุดรถจากความเร็วสูงได้ชนิดที่คอแทบเคล็ด

แต่ในความเป็นจริงนั้นการเคลื่อนที่ของรถยนต์จะเกิดความเร่งแบบยิบย่อย หรือ Micro-acceleration ตลอดเวลาโดยที่ผู้โดยสารแทบไม่รู้ตัว ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพถนนที่ไม่เรียบ การขับผ่านลูกระนาด หรือแม้กระทั่งขับอยู่บนถนนที่ดูเหมือนจะเรียบ แต่ร่างกายก็ต้องเผชิญกับแรงสั่นเบาๆ ไปยังทิศทางต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดการรับรู้ว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากหรือน้อยแตกต่างกันไป

speed

คราวนี้มาพูดถึงรถยนต์กันดูบ้าง เพราะรถแต่ละรุ่นและยี่ห้อต่างก็ถูกออกแบบให้มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งความยาว ความกว้าง ความสูง ระยะฐานล้อ ระบบช่วงล่าง การซับแรงสะเทือน การเก็บเสียงภายในห้องโดยสาร และอื่นๆ อีกมากมาย นำไปสู่สิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์มักกล่าวถึงบ่อยๆ เรียกว่า NVH หรือ Noise Vibration และ Harshness ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ เสียงรบกวน, แรงสั่น และแรงสะเทือน นั่นเอง

Advertisement

รถไซซ์เล็กกลุ่ม B-segment ทั้งหลายถูกออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด ฐานล้อสั้น ช่วงล่างแข็ง เมื่อขับขี่บนถนนก็จะสร้าง Micro-acceleration ได้มากกว่า ทำให้ร่างกายรู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วจริง ขณะที่รถกลุ่ม D-segment หรือ D-SUV ที่มีขนาดใหญ่นั้น ถูกออกแบบให้มีฐานล้อยาว ช่วงล่างนุ่มนวล ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกถึง Micro-acceleration ได้น้อยกว่า ทำให้รู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ไม่เร็วนัก แม้ว่าจะใช้ความเร็วสูงอยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ เสียงที่เล็ดลอดจากภายนอกเข้ามายังห้องโดยสาร ยังส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่อยู่ภายในรถได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงของเครื่องยนต์ หรือเสียงยางบดถนน ยิ่งเสียงเหล่านี้ดังมากเท่าไหร่ ผู้โดยสารจะยิ่งรู้สึกว่ารถมีความเร็วสูงขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามหากรถสามารถเก็บเสียงได้ดี ไร้เสียงรบกวนจากภายนอก ผู้โดยสารภายในรถก็จะรู้สึกสงบ ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอกรถ เป็นส่วนช่วยที่ทำให้รู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่ช้ากว่าความเป็นจริงนั่นเอง

ดังนั้น หากสรุปง่ายๆ นั่นก็คือ รถขนาดเล็กที่มีฐานล้อสั้นและช่วงล่างแข็ง จะทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรู้สึกว่ารถกำลังเคลื่อนที่เร็วกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างความรู้สึกสนุกในการขับขี่ ในทางตรงกันข้ามรถที่มีขนาดใหญ่ ฐานล้อยาว ช่วงล่างนุ่มนวล จะส่งผลให้การรับรู้แรง G น้อยกว่า ก็จะช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้ดีกว่านั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้