3 เหตุผลว่าทำไมไม่ควรซื้อรถมือสองกรอไมล์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เลขไมล์" เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อรถมือสอง แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ารถมือสองในตลาดจำนวนไม่น้อยถูกกรอไมล์เพื่อให้ปล่อยขายได้ง่ายขึ้น บทความนี้ Sanook Auto จะมาบอกว่าทำไมถึงไม่ควรซื้อรถมือสองที่ถูกกรอไมล์มาเด็ดขาด
ทำไมรถมือสองถึงไม่ควรถูกกรอไมล์?
1. ไม่รู้สภาพที่แท้จริง
โดยปกติแล้วรถยนต์จะมีสภาพทรุดโทรมไปตามระยะการใช้งาน ยิ่งใช้งานหนักเท่าไหร่ ก็มักจะยิ่งทรุดโทรมมากขึ้นเท่านั้น ทำให้รถกลุ่มนี้ขายต่อได้ยาก (ยกตัวอย่างเช่น รถอายุ 5 ปี แต่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 200,000 กม. ผู้ซื้อก็มักจะเลี่ยงไปดูคันอื่นแทน)
การกรอเลขไมล์แม้ว่าจะทำได้เนียนจนผู้ซื้อทั่วไปแทบไม่มีทางรู้ว่าถูกกรอไมล์มา แต่ในความเป็นจริงสภาพตัวรถมักจะขัดกับเลขไมล์ที่โชว์บนหน้าจอ เช่น รถอายุน้อยผ่านการใช้งานไม่ถึง 1 แสนกิโลเมตร แต่เบาะคนขับกลับอยู่ในสภาพที่ยับเยินกว่าปกติ เครื่องยนต์หรือเกียร์มีอาการไม่สมบูรณ์ เหล่านี้จะทำให้คนซื้อไม่สามารถรับรู้ถึงสภาพของตัวรถได้อย่างแน่ชัด
2. อาจถูกละเลยการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม
รถยนต์จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาตามระยะทางอยู่เสมอเพื่อให้คงสภาพดีไปตลอด แต่การกรอเลขไมล์จะทำให้การบำรุงรักษาชิ้นส่วนบางอย่างผิดเพี้ยนไป เช่น สายพานไทม์มิ่งที่มีกำหนดเปลี่ยนทุก 120,000 - 150,000 กม. ไส้กรองน้ำมันเบนซินทุก 80,000 กม. ฯลฯ เหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ซื้อเกิดความเข้าใจผิดว่ายังไม่ถึงกำหนดเปลี่ยนนั่นเอง
3. อาจถูกหมกเม็ดมากกว่าแค่กรอไมล์
การกรอเลขไมล์ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของช่างไทย ดังนั้น หากรถถูกกรอเลขไมล์มา ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกหมกเม็ดความผิดปกติอื่นๆ ของตัวรถด้วยเช่นกัน
วิธีดูรถกรอไมล์ทำอย่างไร?
การตรวจสอบรถที่ถูกกรอไมล์สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
ตรวจสอบสภาพรถควบคู่กัน - สภาพรถทั้งภายนอกและภายในควรสอดคล้องกับระยะการใช้งาน เช่น หากรถอายุไม่ถึง 5 ปี ใช้งานไม่ถึง 100,000 กม. หนังหุ้มเบาะควรอยู่ในสภาพดี ไม่ช้ำ ปุ่มบนแผงคอนโซลไม่ควรลอกเลือน แป้นคันเร่งและเบรกควรอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ฯลฯ
ตรวจสอบประวัติการซ่อม - หากรถมือสองมีเอกสารการซ่อมบำรุงติดรถมาด้วย ให้ตรวจเช็กรายการซ่อมแซมว่าสอดคล้องกับเลขไมล์หรือไม่ รวมถึงหลีกเลี่ยงรถที่ผ่านการเปลี่ยนเครื่องยนต์มา เพราะส่วนมากมักถูกใช้งานหนักมาก่อน
เช็กประวัติอู่หรือศูนย์ - ตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุงจากอู่หรือศูนย์บริการที่เจ้าของเดิมใช้เป็นประจำ ซึ่งอาจหาได้จากใบเสร็จรับเงินการซ่อมบำรุงที่ติดมากับรถ โดยมากแล้วจะระบุเลขไมล์เอาไว้ หรืออาจใช้วิธีสอบถามกับศูนย์บริการยี่ห้อนั้นๆ โดยแจ้งหมายเลขทะเบียน เพื่อตรวจสอบว่ารถถูกนำเข้าศูนย์ครั้งสุดท้ายเมื่อใด
ถูกหลอกขายรถกรอไมล์ทำอย่างไร?
หากพบว่ารถที่ซื้อมาถูกกรอเลขไมล์ สามารถยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ตามกฎหมายมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พร้อมกับแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหลอกลวงประชาชนด้วยการปกปิดความจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2549 มาตรา 343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แน่นอนว่าการซื้อรถมือสองมีความยุ่งยากกว่ารถป้ายแดง เสี่ยงต่อการถูกย้อมแมวได้ แต่หากเลือกรถมือสองไม่เป็นแล้วล่ะก็ ควรพาผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างที่ไว้ใจได้ไปช่วยเลือก จะช่วยลดโอกาสได้รถที่ผ่านการกรอไมล์หรือย้อมแมวได้ครับ