4 วิธีเปลี่ยนให้รถนุ่มนวล ช่วงล่างไม่แข็งกระด้าง

4 วิธีเปลี่ยนให้รถนุ่มนวล ช่วงล่างไม่แข็งกระด้าง

4 วิธีเปลี่ยนให้รถนุ่มนวล ช่วงล่างไม่แข็งกระด้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าใครหลายคนอาจกำลังหงุดหงิดกับช่วงล่างของรถที่รู้สึกแข็งกระด้างกว่าสมัยออกป้ายแดงใหม่ๆ ขับตกหลุมแต่ละครั้งก็กระเด้งกระดอน แถมมีเสียงกระแทกดังจนน่ารำคาญ บทความนี้ Sanook Auto มี 4 เทคนิคที่จะช่วยให้ช่วงล่างกลับมานุ่มนวลเหมือนใหม่ มีอะไรบ้างไปดูกัน

4 วิธีเปลี่ยนให้รถกลับมานุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง

1. เปลี่ยนกลับไปใช้ล้อเดิม

หลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนล้อให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสวยงาม แต่ก็แลกมาด้วยกับแก้มยางที่มีขนาดบางลง ทำให้การซับแรงกระแทกจากพื้นถนนทำได้น้อยลง ส่งผลให้รถกระด้างมากขึ้น ทางที่ดีหากต้องการให้รถกลับมานุ่มนวลดังเดิมแล้วล่ะก็ ควรเปลี่ยนกลับมาเป็นล้อเดิม หรือลดขนาดล้อให้เล็กลง ก็จะช่วยลดความแข็งกระด้างลงได้

2. เปลี่ยนเป็นยางนุ่มเงียบ

ยี่ห้อและรุ่นของยางมีผลทำให้บุคลิกการขับขี่ของรถเปลี่ยนไป การเลือกใช้ยางที่ออกแบบเน้นความนุ่มเงียบ จะช่วยลดแรงสะเทือนจากพื้นถนนลงได้ แถมยังช่วยลดเสียงรบกวนจากพื้นถนนได้อีกด้วย ซึ่งโดยมากแล้วยางนุ่มเงียบจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่ายางทั่วไป เหมาะสำหรับรถที่ช่วงล่างถูกเซ็ตมาแข็งตั้งแต่กำเนิด จะช่วยชดเชยความกระด้างลดน้อยลงได้

3. เติมลมยางให้เหมาะสม

การเติมลมยางมากเกินกว่าที่ผู้ผลิตกำหนด ส่งผลให้การตอบสนองของช่วงล่างมีความกระด้างได้เช่นกัน จึงควรเติมลมยางให้ได้ตามที่ระบุบนสติกเกอร์บริเวณเสาประตูฝั่งผู้ขับขี่ (รถบางรุ่นอาจติดตั้งไว้บริเวณด้านในของฝาถังน้ำมัน) แต่ไม่ควรเติมลมยางต่ำกว่าที่ระบุไว้ เนื่องจากแรงดันลมยางจะค่อยๆ ลดลงทีละน้อยตามการใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขณะขับขี่ที่ความเร็วสูงได้

4. เปลี่ยนโช้กอัปและสปริง

วิธีสุดท้ายที่เห็นผลมากที่สุดคือการเปลี่ยนโช้กหรือสปริงให้มีความนุ่มลง แต่ทางที่ดีควรปรึกษาช่างที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เนื่องจากการเปลี่ยนโช้กหรือสปริงจำเป็นต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน การเปลี่ยนทั้ง 2 สิ่งพร้อมกันอาจทำให้รถเกิดอาการโคลง ไม่เกาะถนน จึงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

อย่างไรก็ดี รถบางรุ่นถูกออกแบบมาเพื่อเน้นการขับขี่สนุก ซึ่งมักจะแลกมาด้วยช่วงล่างที่มีความแข็งกระด้างมากกว่าปกติ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถควรพิจารณาถึงการใช้งานอย่างเหมาะสม จะได้ไม่รู้สึกเสียใจภายหลังครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook