ขับเกียร์ออโต้รถขึ้น-ลงเขา ต้องใช้เกียร์อะไร?
เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ หลายคนคงมีแผนขับรถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดกันอยู่ใช่ไหมล่ะ และสถานที่ยอดฮิตคงหนีไม่พ้นการออกไปรับอากาศบริสุทธิ์ตามยอดเขาหรือยอดดอยต่างๆ นั่นเอง
แต่การขับรถขึ้นและลงเขาจำเป็นจะต้องมีทักษะที่ถูกต้องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ บทความนี้ Sanook Auto จึงขอแนะนำตำแหน่งเกียร์ออโต้ที่เหมาะสมสำหรับการขับรถขึ้นเขา จะต้องใช้เกียร์อะไรจึงจะถูกต้องและปลอดภัย
การขับรถเกียร์ออโต้ขึ้น-ลงเขา ควรใช้เกียร์อะไร?
การเลือกเกียร์ที่เหมาะสมในการขับรถขึ้น-ลงเขาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้คุณควบคุมรถได้ดีขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่
สำหรับรถเกียร์ออโต้ โดยทั่วไปจะมีเกียร์ให้เลือก ได้แก่
เกียร์ D (Drive) - ใช้สำหรับขับขี่ปกติบนถนนราบ
เกียร์ L (Low) - เป็นเกียร์ต่ำสุด ใช้สำหรับการลากจูง หรือขับในสภาพถนนที่ต้องการแรงบิดสูง
เกียร์ 2, D2 หรือ D3 - เป็นเกียร์ที่อยู่ระหว่าง D และ L ใช้สำหรับควบคุมความเร็วในการลงเขา หรือในสภาพถนนที่ต้องการลดความเร็ว
รถบางรุ่นไม่มีตำแหน่งเกียร์ L แต่เป็นเกียร์แบบ + และ - แทน เมื่อผลักเกียร์ขึ้นหรือลง (หรือกดปุ่ม Paddle Shift ที่พวงมาลัย) หน้าจอจะแสดงตำแหน่งเกียร์เช่นเดียวกัน
เมื่อขับรถขึ้นเขา
เริ่มต้นขับขี่ - ใช้เกียร์ D ในการออกตัว
เมื่อเจอทางชัน - หากรู้สึกว่าเครื่องยนต์เร่งไม่ทัน อาจลดเกียร์ลงมาเป็น D2 หรือ D3 เพื่อเพิ่มแรงบิด หากเนินมีลักษณะชันมาก อาจเลือกตำแหน่งเกียร์ L หรือ 1 เพื่อให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้
เมื่อขับรถลงเขา
ลดเกียร์ - ก่อนเข้าโค้งหรือทางชัน ควรลดเกียร์ลงมาเป็น D2 หรือ D1 เพื่อใช้แรงฉุดของเครื่องยนต์ (Engine Brake) ช่วยในการชะลอความเร็ว โดยระหว่างนี้รอบเครื่องยนต์จะพุ่งขึ้นสูง ถือเป็นเรื่องปกติ และระบบหัวฉีดจะไม่มีการจ่ายน้ำมันแต่อย่างใด
หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกนานเกินไป - การเหยียบเบรกนานเกินไป จะทำให้เบรกเกิดความร้อนสูงจัด จนเกิดอาการเบรกเฟด และไม่สามารถชะลอความเร็วได้ในที่สุด หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "เบรกแตก" นั่นเอง
ทั้งนี้ การขับรถท่องเที่ยวทางไกลควรตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานก่อนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟส่องสว่าง, ระดับของเหลวในห้องเครื่องยนต์, สภาพยางและลมยาง ฯลฯ รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายจราจรเพื่อความปลอดภัยตลอดเส้นทางด้วยนะครับ