น้ำมันเครื่องดีเซลกับเบนซิน ทำไมถึงใช้ด้วยกันไม่ได้?
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แต่เคยสงสัยไหมว่าน้ำมันเครื่องเบนซินและดีเซล ซึ่งต่างก็มีหน้าที่หล่อลื่นชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ด้วยกันทั้งคู่ ไม่ได้ถูกนำไปเผาไหม้ ทำไมถึงต้องแยกประเภทออกจากกัน ไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ บทความนี้ Sanook Auto มีคำตอบมาฝากกันครับ
ความแตกต่างระหว่างเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล?
ก่อนอื่นเรามารู้จักความแตกต่างของเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลกันก่อน เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะทำงานด้วยการสันดาปเพื่อสร้างพลังงาน แต่ลักษณะการทำงานของทั้งคู่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เครื่องยนต์เบนซิน
- จังหวะสูบอากาศ (Intake Stroke) - วาล์วไอดีเปิด วาล์วไอเสียปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ลงด้านล่าง ทำให้อากาศและน้ำมันเบนซินถูกดูดเข้าไปในห้องเผาไหม้
- จังหวะอัดอากาศ (Compression Stroke) - วาล์วไอดีและไอเสียปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน อัดอากาศและน้ำมันเบนซินให้มีอุณหภูมิและความดันสูง
- จังหวะจุดระเบิด (Power Stroke) - เมื่อลูกสูบถึงจุดสูงสุด สปาร์คปลั๊กจะจุดระเบิดส่วนผสมของอากาศและน้ำมันเบนซิน ทำให้เกิดแรงดันสูงดันลูกสูบลงด้านล่าง
- จังหวะคายไอเสีย (Exhaust Stroke) - วาล์วไอเสียเปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน ดันก๊าซไอเสียออกจากห้องเผาไหม้
เครื่องยนต์ดีเซล
- จังหวะสูบอากาศ (Intake Stroke) - วาล์วไอดีเปิด วาล์วไอเสียปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ลงด้านล่าง ดูดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้
- จังหวะอัดอากาศ (Compression Stroke) - วาล์วไอดีและไอเสียปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน อัดอากาศให้มีความดันและอุณหภูมิสูงมาก
- จังหวะจุดระเบิด (Power Stroke) - ณ จุดสูงสุดของจังหวะอัดอากาศ น้ำมันดีเซลถูกฉีดเข้าไปในห้องเผาไหม้ ซึ่งมีอุณหภูมิและความดันสูง ทำให้เกิดการเผาไหม้เองโดยอัตโนมัติ ดันลูกสูบลงด้านล่าง
- จังหวะคายไอเสีย (Exhaust Stroke) - วาล์วไอเสียเปิด ลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นด้านบน ดันก๊าซไอเสียออกจากห้องเผาไหม้
ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเครื่องเบนซินและดีเซล คืออะไร?
น้ำมันเครื่องเบนซินและดีเซลต่างก็ถูกผลิตขึ้นโดยการผสมน้ำมันพื้นฐานและสารเติมแต่งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามต้องการ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงคุณสมบัติการหล่อลื่น จะพบความแตกต่างกัน ดังนี้
ความหนืด (Viscosity)
ความหนืดเป็นคุณสมบัติสำคัญของน้ำมันเครื่อง โดยทั่วไปแล้วนั้น น้ำมันเครื่องดีเซลมีความหนืดสูงกว่าและมีความสามารถในการสูบน้ำมันที่อุณหภูมิต่ำกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องเบนซิน หากนำน้ำมันเครื่องดีเซลไปใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน อาจเกิดปัญหา เช่น ความร้อนสูง การสึกหรอก่อนกำหนดได้
ระดับสารเติมแต่ง
สารเติมแต่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันเครื่อง แต่น้ำมันเครื่องดีเซลจะมีสารเติมแต่งมากกว่าเพื่อช่วยในการชะล้างเขม่าและควันดำ เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดเขม่าสะสมมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน หากนำสารเติมแต่งเหล่านี้ไปผสมกับน้ำมันเครื่องเบนซิน อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของรถยนต์และทำให้เกิดการสูญเสียกำลังอัดได้
ช่วงเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องแต่ละประเภทมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน เนื่องจากน้ำมันเครื่องดีเซลมีสารเติมแต่งมากกว่า จึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายบ่อยเท่ากับน้ำมันเครื่องเบนซิน
การทำงานร่วมกับ Catalytic Converter
Catalytic Converter เป็นส่วนประกอบในระบบไอเสียที่มีหน้าที่เปลี่ยนไอเสียที่เป็นอันตรายให้เป็นสารที่ปลอดภัยก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
น้ำมันเครื่องดีเซลมีระดับการป้องกันการสึกหรอที่สูงกว่า ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาในระบบไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับสภาพดังกล่าว ในขณะที่ระบบไอเสียของเครื่องยนต์เบนซินไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับน้ำมันเครื่องที่มีระดับการป้องกันการสึกหรอสูง ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำมันเครื่องดีเซลในเครื่องยนต์เบนซิน
เติมน้ำมันเครื่องดีเซลลงในเครื่องเบนซินได้หรือไม่?
แม้ว่าน้ำมันเครื่องทั้งสองชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แต่การนำน้ำมันเครื่องดีเซลมาเติมลงในเครื่องยนต์เบนซินอาจทำได้ โดยพิจารณาจากมาตรฐาน API (American Petroleum Institute) ซึ่งกำหนดตัวอักษร C สำหรับน้ำมันเครื่องดีเซล และ S สำหรับน้ำมันเครื่องเบนซิน
หากน้ำมันเครื่องดีเซลที่เลือกใช้ ได้มาตรฐานทั้ง C และ S แม้ว่าจะถูกออกแบบมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก แต่ก็สามารถนำมาเติมกับเครื่องยนต์เบนซินได้ แต่หากไม่กำหนดมาตรฐาน S เอาไว้ ก็ไม่ควรนำมาใช้กับเครื่องยนต์เบนซินโดยเด็ดขาด
เมื่อทราบเช่นนี้แล้วก็ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องอย่างถูกต้องกันด้วยนะครับ