วิธีป้องกันไม่ให้เบรกแตกขณะขับรถลงเขา ทั้งเกียร์ออโต้และธรรมดา
การขับรถลงเขาเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการเหยียบเบรกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เบรกร้อนจัดจนไม่สามารถชะลอความเร็วได้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "เบรกแตก" นั่นเอง
บทความนี้ Sanook Auto จึงขอแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เบรกแตกขณะลงเขาสำหรับรถเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา เพียงทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
กรณีรถเกียร์อัตโนมัติ
ใช้เกียร์ต่ำ - เลือกตำแหน่งเกียร์ต่ำ เช่น 2 หรือ L (หรือ 1) เพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยสร้างแรงเบรก (Engine Brake) จะช่วยชะลอความเร็วรถ ทำให้ไม่ต้องใช้เบรกบ่อยจนเกินไป
หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกต่อเนื่อง - การเหยียบเบรกต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ผ้าเบรกและจานเบรกเกิดความร้อนสะสมสูง จนอาจทำให้เกิดอาการเบรกเฟด (Brake fade) ได้ ควรแตะเบรกเบาๆ เป็นระยะๆ ควบคู่กับการใช้เกียร์แทน
รักษาระยะห่าง - ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้เพียงพอ เพื่อให้มีเวลาในการตอบสนองหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือกรณีรถคันหน้าหยุดกะทันหัน
กรณีรถเกียร์ธรรมดา
ลดเกียร์ - เลือกเกียร์ต่ำ เช่น เกียร์ 2 หรือ 1 เพื่อให้สร้างแรงเบรกจากเครื่องยนต์ช่วยชะลอความเร็วไม่ให้สูงจนเกินไป
หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรก - การเหยียบเบรกต่อเนื่องจะทำให้ผ้าเบรกและจานเบรกร้อนจัด ควรเหยียบเบรกเท่าที่จำเป็น และเหยียบเป็นระยะๆ เท่านั้น
หลีกเลี่ยงการเหยียบคลัตช์ - การเหยียบคลัตช์จะเป็นการตัดกำลังเครื่องยนต์ จึงควรปล่อยคลัตช์เพื่อถ่ายทอดเอนจิ้นเบรกลงสู่พื้นถนน จะช่วยลดการใช้เบรกลงได้
ข้อสังเกตการใช้ Engine Brake
ระหว่างที่เครื่องยนต์สร้าง Engine Brake ขณะอยู่เกียร์ต่ำทั้งเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา รอบเครื่องยนต์จะพุ่งขึ้นสูงเป็นเรื่องปกติ โดยระหว่างนี้หัวฉีดจะไม่มีการจ่ายน้ำมัน จึงไม่ทำให้รถกินน้ำมันเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องคอยสังเกตว่ารอบเครื่องยนต์ไม่สูงถึงขั้นแตะเรดไลน์ ซึ่งอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้
อย่างไรก็ดี หากระหว่างลงทางชันเริ่มรู้สึกว่าเบรกเริ่มมีอาการจม เบรกไม่อยู่ ควรจอดรถในที่ปลอดภัยทันทีเพื่อให้เบรกเย็นลง โดยไม่พยายามฝืนขับต่อไป เพราะอาจเกิดอันตรายได้