ดอกมะลิ สัญลักษณ์ของวันแม่ สื่อแทนความกตัญญู
ดอกมะลิ เป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง มีความหมายว่า เป็นดอกไม้ที่ได้รับความปราถนาดี เป็นที่รักและคิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสื่อแทนของความกตัญญูอีกด้วย ยิ่งใกล้ถึงวันแม่แบบนี้ ดอกมะลิ ก็จะกลายเป็นตัวแทนส่งมอบความรักจากลูกสู่แม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมนำดอกมะลิ หรือพวงมาลัยที่ทำจากดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่ในวันนี้ ฉะนั้นแล้ว เราจึงควรจะมาเรียนรู้ความหมายและความสำคัญของดอกมะลิให้กันให้มากขึ้นดีกว่า ว่าดอกไม้ชนิดนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีที่มาจากไหน
- กลอนวันแม่ คำขวัญวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2566
- คำขวัญวันแม่แห่งชาติ 2566 และทุกๆ ปี ที่มีความหมายดีกินใจคนไทยทั้งประเทศ
วันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม) เชื่อว่าลูกๆหลายคนเตรียมซื้อดอกมะลิไปไหว้คุณแม่กันแล้ว แต่...เพื่อนๆ sanook campus เคยส่งสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมดอกมะลิจึงเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ถ้าใครสงสัยวันนี้มีคำตอบมาบอก
ดอกมะลิ ถือว่าเป็นไม้มงคลที่มีมาตั้งแต่โบราณ ว่ากันว่าดอกไม้ชนิดนี้เป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ นอกจากนั้นผู้คนส่วนใหญ่ยังนิยมนำเอาดอกมะลิมาใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาพระ ด้วยกลิ่นหอมเย็นและสีขาวบริสุทธิ์ของดอกมะลิ เชื่อกันว่าบ้านใดที่ปลูกต้นมะลิเอาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยเสริมให้คนในบ้านได้รับความปราถนาดี เป็นที่รัก และเป็นที่คิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังทำให้คนในบ้านมีจิตใจที่บริสุทธิ์ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ดอกมะลิ นั้นเป็นดอกไม้ประจำวันแม่แห่งชาติด้วย
การปลูกและวิธีการรักษาต้นมะลิ
โดยปกติแล้วมะลิจะชอบดินร่วนซุย รับแสงแดดครึ่งวันถึงตลอดทั้งวัน ต้องการน้ำและความชุ่มชื้นปานกลาง ผู้ปลูกควรหมั่นพรวนดิน รดน้ำ และใส่ปุ๋ย แต่ต้องคอยระมัดระวังเพลี้ย ตลอดจนแมลงศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญที่สุดหากผู้ปลูกต้องการให้ดอกดก ควรรดต้นมะลิด้วยน้ำซาวขาวเป็นประจำทุกวัน รวมถึงจะต้องตัดใบออกบ้างและต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ มะลิจะออกดอกสวยตลอดทั้งปี แต่มักออกดกมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อนถึงช่วงต้นฤดูฝน เพราะมะลิจะชอบอากาศร้อนชื้น สามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอน ปักชำ และแยกกอ
ประโยชน์จากมะลิ
- ดอกสด นำมาแช่กับน้ำสำหรับกินบำรุงให้หัวใจชุ่มชื่น
- ดอกแห้ง นำมาต้มน้ำ หรือชงกับน้ำร้อนเพื่อดื่มปรุงเป็นยาหอม โดยจัดอยู่ในเกสรทั้งห้า ใช้ถอนพิษ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงครรภ์ แก้บิด ปวดท้อง ผดผื่นคันตามผิวหนัง และแผลเรื้อรัง
- ใบสด นำมาตำกับกากมะพร้าว หรือก้นกะลา ใช้สำหรับพอก หรือทาแผลพุพอง แก้พิษเรื้อรัง แก้พิษฝีดาษ
- ยอดใบสด 3 ยอด นำมาตำแล้วพอกบริเวณรอยแผลเป็น จะช่วยทำให้แผลเป็นั้นจางลงได้
- ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมไข่ไก่แดงต้มสุก นำไปอุดตามไรฟัน ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน หากนำรากสดๆ ผสมเหล้า ใช้สำหรับพอกขมับ ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ หากนำมาฝนต้นน้ำดื่ม จะช่วยแก้โรคปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เครียด หลอดลมอักเสบ แนะนำให้ใช้ในปริมาณที่น้อย เพราะหากรับประทานเข้าไปมากอาจทำให้สลบได้
"คำว่าแม่" นั้นมีความหมายในใจลูกทุกคน จนยากที่จะเปรียบเทียบได้กับทุกสรรพสิ่งในโลก ดังคำขวัญที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้ว่า "แม่เป็นพระอรหันต์ของลูก คนที่เที่ยววิ่งหาพระเพื่อกราบไหว้พระอรหันต์ อย่าลืมว่ามีพระอรหันต์อยู่กับตัวแล้ว ควรปฏิบัติต่อแม่อย่าให้บกพร่องได้"
ประเทศไทยเริ่มจัดงานวันแม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2486 ณ สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดงาน ต่อมามีการเปลี่ยนกำหนดงานวันแม่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม เป็น วันแม่แห่งชาติ และ กำหนดให้ "ดอกมะลิ" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
"ดอกมะลิ" จึงกลายสัญลักษณ์หนึ่งที่มาพร้อมกับเทศกาล "วันแม่" ซึ่งเป็นวันที่บรรดาลูกให้ความสำคัญกับผู้ที่ให้กำเนิดเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุผลที่ให้ ดอกมะลิ เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เนื่องจาก คนไทยถือเป็นดอกไม้มงคล นิยมเอาดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ และดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลายมะลิ นอกจากนี้ มะลิดอกแห้งก็ยังสามารถใช้ปรุงเครื่องยาหอมใช้บำรุงหัวใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ดอกมะลิ ยังสามารถนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยซึ่งถือเป็นวัฒนะรรมเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยได้ โดยใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความผูกพันธ์ระหว่างแม่ - ลูกอีกด้วย แต่หากเป็นดอกมะลิซ้อนก็สามารถนำไปแจกันประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามได้ นอกจากนั้นยังว่ากันว่า หากนำน้ำที่ลอยดอกมะลิมาล้างหน้าจะช่วยทำให้ตาสว่าง หรือหากนำไปผสมอาหารก็จะช่วยให้มีกลิ่นหอม อีกทั้ง มะลิ ก็ยังเป็นส่วนผสมสำหรับแต่งกลิ่น หรือใช้อบกลิ่นขนมให้หอม ใช้อบผ้า และแต่งกลิ่นใบชา แนะนำว่าไม่ควรรับประทานชาดอกมะลิติดต่อกันเป็นประจำ เพราะจะส่งผลให้ความจำไม่ค่อยดี รวมถึงดอกมะลิยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ใช้ปรุงแต่งเครื่องประทินผิว และเครื่องสำอางค์ คุณสมบัติที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิยังมีฤทธิ์ไล่หมัดได้อีกด้วย