วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม ของทุกปี

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม ของทุกปี

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม ของทุกปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่มาของวันวิทยาศาสตร์

เริ่มมาจากวันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ เป็นวันสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4, ตลอดจนบรรดาผู้โดยเสด็จ และผู้มาเข้าเฝ้าทั้งไทยและเทศต่างเฝ้ารอ คำพยากรณ์จากการคำนาณทางดาราศาสตร์, ก็ปรากฎว่า เมื่อเวลา ๑๐.๑๖ น. ท้องฟ้าเหนือชายทะเล บ้านหว้ากอ ซึ่งแต่เดิมปกคลุมด้วยเมฆฝนก็พลันกระจ่างมองเห็นดวงอาทิตย์ไรๆ, พอรู้ว่าสุริยุปราคาได้เริ่มขึ้นแล้ว, จนกระทั่งเวลา ๑๑.๓๖ น. กับอีก ๒๐ วินาที ก็จับเต็มดวง, ซึ่งกินเวลาจับเต็มดวง ทั้งสิ้น ๖ นาที กับ ๔๕ วินาที. เล่ากันมาว่า "เวลานั้นมืดเหมือนเวลากลางคืน เวลาพลบค่ำ คนที่นั่งไกล้ๆก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน" ท่ามกลางความมืดจากสุริยุปราคานั้น, พระบารมีขององค์พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยก็เจิดจรัสแจ่มฟ้า พระองค์ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบล หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ซึ่งเป็นการพิสูจน์ผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งแรกของชาติไทย จนเป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของประเทศชาติ

เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้เทิดทูนพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" องค์ปฐมดำริสร้างไทยก้าวทันโลก และกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการเร่งรัดส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อยกย่องสดุดีพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และเพื่อกระตุ้นสำนึกและเสริมสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีผลต่อการพัฒนาฐานะของประเทศให้ดีขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมขยายออกไปอย่างกว้างขวางและพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดพลังสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนและเยาวชนไทยมีความตื่นตัว และเห็นความสำคัญของบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการจัดงานข้างต้น ดังนั้น เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๘ คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการจัดงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม และอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดงานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็น"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"

เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ

เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคน ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอภิปรายทางวิชาการ การตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การประกวดการแข่งขันต่าง ๆ เช่น โครงการทางวิทยาศาสตร์ และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

ในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยจะทำพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ นับได้ว่ามีส่วนที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนคนไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook