ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่
บุหรี่ไม่เพียงก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สูบเพียงอย่างเดียว หากแต่ควันบุหรี่ในบรรยากาศ ยังคงเต็มไปด้วยสารพิษอันตรายต่างๆ ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายคนที่ไม่ได้สูบได้โดยง่าย และทำลายสุขภาพจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หายนะประเภทนี้กำลังเป็นที่น่าวิตกในสังคม ซึ่งก็คือ "ควันบุหรี่มือสอง" นั่นเอง
1. ก้นกรองบุหรี่ช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้
เป็นความเชื่อที่ผิด แท้จริงแล้วก้นกรองบุหรี่ไม่ได้ช่วยทำให้ร่างกายปลอดภัยขึ้น เพราะส่วนที่เป็นก้นกรองไม่สามารถสกัดสารนิโคตินหรือสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในบุหรี่ออกได้ทั้งหมด
2. บุหรี่รสอ่อนมีอันตรายน้อยกว่า
บุหรี่ชนิดที่เรียกว่า "ไลท์" และ "ไมลด์" โดยระบุว่าเป็นบุหรี่ชนิดรสอ่อนที่มีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่จากผลการวิจัยพบว่า บุหรี่ทั้งสองชนิดมิได้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาแต่อย่างใด เพียงแต่ต่างกันที่รสชาติเท่านั้น อันตรายของบุหรี่รสอ่อน คือทำให้ผู้สูบบุหรี่ง่ายขึ้น เพราะสูบแล้วไม่ระคายคอสามารถสูบได้ลึกและอัดควันอยู่ในปอดได้นานขึ้น ผลก็คือทำให้เกิดมะเร็งได้มากขึ้นด้วย
3. สูบบุหรี่ทำให้หายเครียด
แท้จริงความเครียดดังกล่าวน่าจะมาจากการที่ร่างกายต้องการได้รับสารนิโคตินทุกครั้งที่สูบบุหรี่ สารนิโคตินจะเข้าสู่รางกายโดยร้อยละ 95 จะจับอยู่ที่ปอด บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เมื่อใดที่ระดับของสารนิโคตินลดลงจากที่เคยมีอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนมวนบุหรี่ที่ผู้สูบต่อวัน และจะทำให้เกิดอาการขาดสารนิโคติน คือกระวนกระวาย หงุดหงิด ขาดสมาธิ มึนศีรษะ เหม่อลอย บางคนนอนไม่หลับ และบางคนมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ครั่นเนื้อครั่นตัว ถ้าผู้สูบบุหรี่ไม่มีความตั้งใจแน่วแน่ในการเลิกสูบก็จะหวนกลับไปสูบอีกเพื่อระงับอาการเหล่านี้
4. ถ้าหยุดสูบทันทีจะทำให้ป่วย
ในผู้ที่หยุดสูบบุหรี่มักจะถูกตรวจพบว่าเป็นโรคต่างๆ มากที่สุด ภายในปีแรกที่เลิกสูบบุหรี่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความจริงที่ว่า โรคต่างๆ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ผู้สูบจะหยุดสูบบุหรี่ได้ และแม้ว่าจะเลิกสูบบุหรี่ได้ โรคที่เป็นอยู่แล้วมักจะแสดงออกภายหลังจากที่เลิกสูบบุหรี่ จึงทำให้เข้าใจผิดว่าป่วยเพราะการหยุดสูบบุหรี่ และทำให้เลิกสูบบุหรี่ไม่สำเร็จ
5. ยาเส้นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซอง
สถานการณ์การบริโภคบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากราคาถูกกว่าบุหรี่ซองหลายเท่า แต่ผลที่เกิดขึ้น พบว่ามีอันตรายเหมือนกันทุกอย่าง คือ ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจอุดตันและทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก ซึ่งสรุปว่าบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดมีโทษและพิษภัยต่อระบบทางเดินหายใจไม่ต่างกัน
6. การสูบบุหรี่ทำให้มีความมั่นใจ
สาเหตุที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ติดบุหรี่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความมั่นใจในตนเอง ทันทีที่สูบบุหรี่เข้าไป สารนิโคตินจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเดือดและสมองอย่างรวดเร็ว แทบไม่ถึง 10 วินาที จากนั้นสารนิโคตินจะกระตุ้นการหลั่งของสารโดปามีน (Dopamine) จากต่อมไร้ท่อใต้สมองและเพิ่มการหลั่งสารนอร์อีพิเนฟฟริน (Norepinephrine) ซึ่งมีผลทำให้เกิดการตื่นตัวและมีพลัง จึงอยากจะสูบบุหรี่ไปเรื่อยๆ และทำให้ติดบุหรี่ในที่สุด
7. การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติของคนธรรมดาทั่วไป
ที่ผ่านมาสังคมยังไม่ตระหนักถึงผลเสียของการสูบบุหรี่มากนัก จึงทำให้มีผู้สูบบุหรี่ให้เห็นทั่วไปจนชินตา หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะสูบบุหรี่ แต่ในปัจจุบันมีผลการศึกษาออกมายืนยันแล้วว่าการสูบบุหรี่และยาสูบอื่นๆ เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ไม่สูบที่อยู่ใกล้ชิด ทำให้เกิดโรคและผลกระทบต่างๆ ต่อร่างกาย และนำมาซึ่งการเสียชีวิตทั้งที่สามารถและป้องกันได้
8. สูบซิการ์ปลอดภัยกว่าบุหรี่
น้อยคนที่จะรู้ว่าการสูบซิการ์เป็นอันตรายยิ่งกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก เพราะในซิการ์มาตรฐานหนึ่งออนซ์ให้สารทาร์มากกว่าบุหรี่ 1 มวนถึง 7 เท่า ให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากกว่า 11 เท่า และให้สารนิโคตินมากกว่าถึง 4 เท่า
9. การสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล
เป็นความจริงที่ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เนื่องจากการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมากมาย ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้ใกล้ชิด รวมถึงเป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้ องค์การอนามัยโลดจึงขอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องของโทษและพิษภัยบุหรี่ให้มากขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนสูบบุหรี่น้องลง
ที่มา : หนังสือบุหรี่ภัยร้ายทำลายคุณ โดย เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล