ร้ายสาระ : อ่างอาบน้ำกับตำนานลวง

ร้ายสาระ : อ่างอาบน้ำกับตำนานลวง

ร้ายสาระ : อ่างอาบน้ำกับตำนานลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนทั่วโลกดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ล้วนมีแต่เรื่องความหดหู่และความสูญเสีย นักข่าวคนหนึ่งจึงแต่งนิยายเบาๆเกี่ยวกับประวัติของอ่างอาบน้ำลงในคอลัมน์ หากแต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อสนิทใจ นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อ้างอิงจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

สำหรับในบ้านเราอ่างอาบน้ำอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเท่าไรนัก แต่ในบ้านอังกฤษและอเมริกามีอ่างน้ำติดตั้งแทบจะทุกหลังคาเรือน ดังนั้น จึงถือได้ว่าอ่างอาบน้ำเป็นของใช้ที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กระทรวงสาธารณสุขอเมริกามีความกังวลเกี่ยวกับสุขอนามัยของประชาชนและการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดคือการรณรงค์ให้ประชาชนดูแลรักษาความสะอาดตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นล่าง

จากการศึกษาพบว่าการแยกแหล่งเพาะเชื้อโรคออกจากสถานที่อยู่อาศัยเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดีดังจะเห็นว่าในปี 1870 การรณรงค์สร้างห้องครัวและห้องน้ำแยกเป็นเอกเทศไม่ปะปนกับห้องอื่นๆภายในอาคารทำให้อัตราการแพร่เชื้อโรคลดน้อยลง

เฮนรี่ หลุยส์ เมน์กเคน (Henry Louis Mencken) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กอีฟนิ่งนิวส์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของอ่างอาบน้ำ จึงได้ทำการค้นคว้าสืบสาวประวัติความเป็นมา เรียบเรียงบทความเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 75 ปีการติดตั้งอ่างอาบน้ำในทำเนียบขาว บทความนี้ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1917 โดยให้ชื่อเรื่องว่า A Neglected Anniversary หรือวันครบรอบที่ถูกลืม

ของใช้ชาววัง
เฮนรี่กล่าวว่า วันที่ 20 ธันวาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวอเมริกันหากแต่ไม่มีใครสักคนที่เฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญนี้เพราะมันได้ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำอย่างสิ้นเชิง เมื่อราว 8 เดือนก่อนกลุ่มแพทย์รุ่นใหม่พยายามจะรื้อฟื้นความสำคัญของวันนี้โดยการติดต่อกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ประกาศเป็นวันสำคัญของชาติ มีการจัดงานเฉลิมฉลองเหมือนวันสำคัญวันอื่นๆ หากแต่ว่ากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประสบกับภาวะภัยแล้งเสียก่อนแผนการทั้งหมดจึงถูกระงับ

ประวัติอ่างอาบน้ำในอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่ออดัม ทอมป์สัน พ่อค้าขายเมล็ดฝ้ายและเมล็ดพันธุ์พืชชาวซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ เดินทางไปยังประเทศอังกฤษเมื่อราวทศวรรษที่ 1830 เขาได้สัมผัสกับการใช้ชีวิตของขุนนางชั้นสูง ทำให้มีโอกกาสได้ใช้สิ่งประดิษฐ์ใหม่อย่างเช่นอ่างอาบน้ำ

อ่างอาบน้ำประดิษฐ์โดยลอร์ดจอห์น รัสเซล เมื่อราวปี 1828 มันถูกจำกัดการใช้งานอยู่ในแวดวงราชสำนัก แม้ว่าอ่างอาบน้ำในยุคแรกๆจะมีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่มันก็ยังต้องใช้ข้าทาสบริวารจำนวนมากในการเติมน้ำและนำน้ำที่อาบแล้วไปเททิ้ง ลอร์ดจอห์นถึงกับคุยโม้โอ้อวดว่าเขาเป็นเพียงคนเดียวในประเทศอังกฤษที่สามารถอาบน้ำในอ่างได้ทุกวัน

อดัมเห็นว่าอ่างอาบน้ำของคนอังกฤษนั้นมีขนาดเล็กเกินไป มันคงจะดีไม่ใช่น้อยหากอ่างอาบน้ำมีขนาดใหญ่พอให้คนขนาดผู้ใหญ่ลงไปนอนแช่ในอ่างได้ทั้งตัวและสามารถต่อประปามายังอ่างอาบน้ำได้โดยตรง โดยไม่ต้องใช้แรงงานทาสตักน้ำจากบ่อมาเติมทีละถัง

นวัตกรรมล้ำสมัย
หลังจากกลับจากอังกฤษ อดัมสร้างอ่างอาบน้ำอันแรกของประเทศอเมริกาขึ้นในปี 1842 ติดตั้งในห้องห้องน้ำคฤหาสน์ เมืองซินซินเนติ และแน่นอนว่าในสมัยนั้นยังไม่มีระบบประปา อดัมแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งปั๊มสูบน้ำ สูบน้ำจากบ่อในสวนให้ไหลมาตามท่อที่เชื่อมต่อมายังห้องน้ำในตัวคฤหาสน์

แต่สมัยนั้นการเดินเครื่องสูบน้ำก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเช่นกัน มันต้องใช้แรงงานทาสถึง 6 คนในการเดินเครื่องสูบน้ำ น้ำจะถูกสูบขึ้นไปยังถังไม้ที่ติดตั้งอยู่ในห้องใต้หลังคา ด้านล่างของถังน้ำมีท่อ 2 ท่อ คือท่อน้ำเย็นและท่อน้ำร้อน ท่อน้ำร้อนถูกวางผ่านตามปล่องไฟในครัว ภายในท่อมีเส้นลวดโลหะขดเพื่อเก็บกักความร้อน

อ่างน้ำได้รับการออกแบบใหม่โดยเจมส์ คูลเนสส์ ช่างทำตู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น มันทำด้วยไม้มาฮอกกานีจากนิการากัว ความยาว 7 ฟุต กว้าง 2 ฟุต ด้านในบุด้วยแผ่นตะกั่ว เชื่อมรอยต่อแต่จะจุดแนบสนิทป้องกันน้ำซึมออกจากถัง เนื่องจากมันมีน้ำหนักเกือบ 800 กิโลกรัมจึงต้องเสริมพื้นให้มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักได้

อดัมใช้อ่างอาบน้ำนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม 1842 และใช้เป็นครั้งที่สอง อาบน้ำอุ่นในตอนบ่ายของวันเดียวกัน การทำน้ำอุ่นทำโดยการติดเตาในครัวตั้งความร้อนไว้ที่ 40 องศาเซลเซียส

อดัมจัดงานปาร์ตี้ที่บ้านในคืนวันคริสต์มาส เขานำแขกที่มาในงานเข้าชมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ รวมถึงพันเอกดัชเนล จากกองทัพฝรั่งเศสที่ตื่นเต้นจนเกือบจะกระโดดลงอ่างทันทีที่เห็น ข่าวได้แพร่สะพัดปากต่อปากออกไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเวลาต่อมา

เรื่องระดับชาติ
การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทำให้อ่างอาบน้ำกลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง บรรดาผู้ดีมีเงินต่างสั่งต่ออ่างอาบน้ำมาใช้ที่บ้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ถูกคนค่อนแคะว่าเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย มีไว้ใช้เพื่อความสำราญ ขณะเดียวกันสมาคมแพทย์ก็ออกมาให้ความเห็นว่าการใช้อ่างอาบน้ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค โรคไขข้อ ปอดบวม และโรคที่เกิดจากการหมักหมมสิ่งปฏิกูล

สภาเทศบัญญัติเมืองฟิลาเดลเฟียเสนอร่างกฎหมายห้ามใช้อ่างอาบน้ำระหว่างวันที่ 1พฤศจิกายนถึง 15 มีนาคม แต่ญัตตินี้ถูกตีตกไปด้วยเสียงค้านข้างมากที่ชนะไปเพียง 2 เสียงเท่านั้น และในปีเดียวกัน รัฐเวอร์จิเนียได้ออกกฎหมายเก็บภาษีติดตั้งอ่างอาบน้ำเป็นเงิน 30 ดอลลาร์ต่อปี อีกทั้งยังเรียกเก็บภาษีใช้น้ำจากผู้ติดตั้งอ่างอาบน้ำใน 4 เมืองใหญ่

ปี 1845 เมืองบอสตันออกกฎหมายให้อ่างอาบน้ำเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อบำบัดทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งต่อมากฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกในปี 1862
อันตรายของอ่างอาบน้ำเป็นที่ถกเถียงกันมากในวงการแพทย์จนกระทั่งสมาคมแพทย์อเมริกันได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นที่เมืองบอสตัน เมื่อปี 1849 และผลสรุปออกมาว่าแพทย์ผู้เข้าร่วมสัมมนา 55 เปอร์เซ็นต์ลงความเห็นว่าอ่างอาบน้ำไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ผู้นำประเทศคอนเฟิร์ม
เดือนมีนาคม 1850 ประธานาธิบดีมิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ (Millard Fillmore) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี มีโอกาสเดินทางไปยังคฤหาสน์ของอดัมและได้ทดลองใช้อ่างอาบน้ำจนติดใจ หลังจากนั้นไม่นาน มิลลาร์ดได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนแซคารี เทย์เลอร์ (Zachary Taylor) ที่เสียชีวิตลง

ปี 1851 มิลลาร์ดสั่งให้พลเอกชาร์ล คอนราด (Charles Conrad) รัฐมนตรีกระทรวงสงครามติดตั้งอ่างอาบน้ำในทำเนียบขาว เท่ากับเป็นการยอมรับว่าอ่างอาบน้ำเป็นสิ่งถูกกฎหมายและมีความปลอดภัย ทำให้อ่างอาบน้ำกลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวอเมริกัน
บทความประวัติความเป็นมาของอ่างอาบน้ำในอเมริกาได้ถูกนำไปอ้างอิงหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2004 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เขียนบทความเกร็ดสาระน่ารู้โดยอ้างบทความของเฮนรีว่า "พนันกันได้ว่าคุณไม่รู้ว่าประธานาธิบดีมิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ติดตั้งอ่างอาบน้ำในทำเนียบขาว"

เดือนพฤษภาคม 1926 เฮนรี่พยายามยุติข่าวโคมลอยที่ตัวเองกุชึ้นมาโดยเขียนบทความรับสารภาพว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นเขาเสกสรรปั้นแต่ง นั่งเทียนเขียนเพื่อความบันเทิง แต่หลายคนได้อ่านแต่เพียงบทความแรกไม่ได้อ่านบทความรับสารภาพ เรื่องราวประวัติอ่างอาบน้ำลวงโลกของชาวอเมริกันจึงยังคงตามหลอกหลอนอยู่ตราบจนกระทั่งในปัจจุบัน


"อันตรายของอ่างอาบน้ำเป็นที่ถกเถียงกันมากในวงการแพทย์
จนกระทั่งสมาคมแพทย์ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น
แพทย์ 55% ลงความเห็นว่าอ่างอาบน้ำไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ"

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ silp@watta.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook