สร้างเยาวชน สร้างชาติ

สร้างเยาวชน สร้างชาติ

สร้างเยาวชน สร้างชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



เยาวชน เป็นเหมือนดังความหวังของสังคม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เท่าทันกระแสสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่การสร้างและเปิดโอกาส เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้มีบทบาทและศักยภาพ สำหรับการสร้างอนาคตของประเทศให้เจริญก้าวหน้า นับว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญู่ ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

เนื่องในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับเยาวชนไทยในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป จะให้เด็กยึดติดกับสิ่งที่ผู้ใหญ่คิด หรือพูด แล้วหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการคงเป็นไปไม่ได้ ต้องยอมให้เขาเปลี่ยนแปลงตามภาวะแวดล้อม แต่ทำอย่างไรให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่เขาจะไม่เสียใจในภายหลัง ผู้ใหญ่เองก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยต้องประคับประคองไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม ช่วยได้แต่ไม่ใช่การดุด่า เพราะแบบนั้นเขาจะไม่ทำ แต่เราจะเข้าไปช่วยเติมในสิ่งที่ขาด สนับสนุนเขาในเรื่องที่ดี

"เด็กและเยาวชน ต้องมีทักษะชีวิตที่ดี เรียนเก่งเกินไปไม่เคยเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดก็อาจมีปัญหา คนที่จะอยู่รอดไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รู้จักการวิเคราะห์ กระบวนการเรียนการสอนต้องเน้นทักษะด้านนี้ให้มาก เด็กและเยาวชนปัจจุบันต้องรู้จักคิด รู้จักเลือกและปฏิเสธ แต่ต้องไม่เห็นแก่ตัว สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างให้เยาวชนไทย ด้านสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กฯ ได้สนับสนุนทุนให้กับเด็กและเยาวชน มีทั้งช่วงอายุปฐมวัย จนถึงอายุ 25 ปี จะเข้าไปดูสถานการณ์ปัญหา สุขภาพของเด็กในแต่ละกลุ่ม อย่างวัยเรียนต้องดูเรื่องปัญหาการขาดอาหาร เรื่องภาวะอ้วน เรื่องการเรียนรู้ จะดูเรื่องทักษะการเรียนรู้ หรือหลักสูตรการเรียนการสอน ส่วนกลุ่มวัยรุ่น จะเป็นประเด็นปัจจัยเสี่ยงเพราะเป็นเด็กโต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และเด็กเร่ร่อนที่ต้องให้ความสำคัญด้วย" นางเพ็ญพรรณกล่าว

เพื่อให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา ผู้ใหญ่ต้องกระตุ้นและจุดประกายโดยสนับสนุนในแง่ของการเป็นต้นแบบ หรือสร้างนวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กและเยาวชน

นางเพ็ญพรรณยังพูดถึงการสนับสนุนทุนสำหรับเยาวชนว่า การสนับสนุนทุนสำหรับกิจกรรมของเด็ก จะสนับสนุนองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ผ่านผู้ดำเนินโครงการต่างไปยังกิจกรรมต่างๆ เด็กจะไม่เข้ามาขอทุนด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น หน่วยงานหรือองค์กรต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการสนับสนุนเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมีรูปแบบการสนับสนุนทั้งที่ตัวเด็ก กลุ่มองค์กรและท้องถิ่น อย่างเช่น การจัดกิจกรรมของนักเรียนที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น กิจกรรม 5 อ. ของโรงเรียน คือ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ อากาศ และอนามัยสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน หรือกิจกรรมอาสาสมัคร เป็นต้น ส่วนกลุ่มเด็กด้อยโอกาสทั้งเด็กเร่ร่อนและยากจนปัญหาอยู่ที่การเข้าถึงสิทธิการให้บริการของรัฐ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กฯฯ จะสนับสนุนผ่านองค์กรที่ดูแล เป็นการทำงานเชิงระบบ ดูแลอย่างต่อเนื่องตามกฎหมายและสิทธิที่เด็กพึงได้รับ

อีกหนึ่งเรื่องท้าทายที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเตรียมความพร้อมของเด็กต่อการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน หรือ AEC ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กฯ บอกว่า "ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเตรียมความพร้อม สิ่งที่ต้องนึกถึงเป็นสำคัญ คือการการแทรกแซงของวัฒนธรรม เพราะ AEC มีความสำคัญเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่ต้องมองเรื่องการเรียนรู้ หากเราไม่ให้ความสำคัญเรื่องภูมิปัญญา หรือวัฒนธรรมอย่างจริงจัง วัฒนธรรมของเราก็อาจจะสูญหายไปเนื่องจากเราเป็นสังคมที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามา แต่เราไม่สามารถรักษาสิ่งดีๆ ที่เรามีไว้ได้ และเยาวชนในภูมิภาคต่างต้องการเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเยาวชนของไทย แต่เยาวชนไทยเองกลับไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากนัก ผลกระทบอาจเกิดกับเยาวชนได้จึงควรกระตุ้นและส่งเสริมให้เยาวชนไทยต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง" นางเพ็ญพรรณกล่าวทิ้งท้าย

เด็กและเยาวชนไทยจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในสังคม ส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ ผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสและยอมรับ รวมถึงส่งเสริมเด็กและเยาวชนในทางที่ถูกที่ควร เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นำพาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ที่มา : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team content www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook