กายพร้อม ใจพร้อม รับมือน้ำท่วม
สายฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ประชาชนได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ อย่างเหตุการณ์น้ำท่วม เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกันและกระตุ้นให้ประชาชนมีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่อง การปฎิบัติตัวเมื่อเกิดน้ำท่วม การดูแลสุขภาพกาย ใจ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ด้านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมให้กับประชาชน โดยอันดับแรกคือ การติดตามข่าวสาร การเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ สำรวจเส้นทางอพยพและพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมถึง ควรซ่อมแซมบ้านเรือนให้มีความแข็งแรง ทนทาน เตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้หากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง อย่างเช่น กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ รวมถึงการเตรียมถุงยังชีพให้พร้อม ภายในถุงจะต้องมี อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ และเตรียมหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ รวมถึงห้ามปิดสวิตช์ไฟทั้งที่ร่างกายยังเปียกอยู่ เพื่อป้องกันไฟดูด นอกจากนี้ควรระมัดระวังสัตว์มีพิษต่างๆ ที่มากับน้ำด้วย
กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารในช่วงน้ำท่วม เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำว่า การรับประทานอาหารในช่วงน้ำท่วม ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และควรดื่มน้ำสะอาด เพื่อป้องกันโรคระบาดที่มาจากน้ำ อย่างโรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องร่วงเฉียบพลัน สำหรับผู้บริจาคอาหารให้กับผู้ประสบภัย ควรบริจาคอาหารแห้ง และเก็บไว้ได้นาน ไม่บูดและเน่าเสียง่าย อย่างเช่น พวกเนื้อสัตว์ทอด ปลาทอด ไข่ต้ม และควรรับประทานอาหารบริจาคภายใน 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้ข้ามคืน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยตลอด 24 ชม. โดยกว่าร้อยละ 50 อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลาง โดยออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่วันละ 30 ทีม เพื่อติดตาม เฝ้าระวังและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วย การป้องกันควบคุมโรคที่เกิดจากน้ำท่วม รวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ประสบภัยด้วย พบว่าระหว่างวันที่ 9 - 21 ก.ย. มีผู้ป่วยสะสม 25,369 ราย เฉลี่ยวันละเกือบ 2,000 ราย โรคที่พบมากอับดับ 1 คือ ปวดศีรษะ ร้อยละ 50 รองลงมาคือ น้ำกัดเท้า และไข้หวัด ประมาณร้อยละ 30 ส่วนการประเมินด้านสุขภาพจิตผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงจากภาวะน้ำท่วม เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว และผู้ทรัพย์สินเสียหายจากน้ำท่วมเกือบ 5,000 ราย พบเครียดสูง 111 ราย ต้องติดตามดูแลใกล้ชิด 38 ราย
เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยในช่วงน้ำท่วมและการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงแนะนำวิธีการปฏิบัติโดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำบริเวณที่น้ำท่วมสูงและไหลเชี่ยว ไม่ปล่อยเด็กเล่นน้ำและเดินลุยน้ำอยู่ตามลำพัง และควรสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันการเดินเหยียบเศษแก้ว หรือของมีคมที่จมอยู่ใต้น้ำ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเรือขณะที่อยู่กลางกระแสน้ำไหลเชี่ยวและไม่ควรอยู่ใกล้แนวสายไฟหรือเสาไฟฟ้า เพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ควรเตรียมอุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เป็นต้น เพื่อใช้พยุงตัวเมื่อต้องเดินลุยน้ำ รวมถึงไม่ควรจับสัตว์น้ำในบริเวณที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก เพราะอาจถูกน้ำพัดจมน้ำเสียชีวิตได้
ถ้าทุกหน่วยงานและประชาชน ร่วมมือร่วมใจเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม เพียงเท่านี้ก็สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้