คลอดปฏิทินรับม.1ปี"56 เรียนต่อม.4ต้องเกรด2ขึ้น ร.ร.ดังให้จับสลากในเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 50%

คลอดปฏิทินรับม.1ปี"56 เรียนต่อม.4ต้องเกรด2ขึ้น ร.ร.ดังให้จับสลากในเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 50%

คลอดปฏิทินรับม.1ปี"56 เรียนต่อม.4ต้องเกรด2ขึ้น ร.ร.ดังให้จับสลากในเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 50%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนในสังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2556 ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้ การรับนักเรียนชั้นก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดหาที่เรียนให้เด็กได้เข้าเรียนตามความเหมาะสม โดยให้รับเด็กอายุ 4-5 ขวบ ที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียน โดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้ กรณีที่มี ผู้สมัครเกินจำนวนรับได้ ให้ใช้วิธีการจับสลาก ส่วนนักเรียนชั้น ป.1 ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 หรือจบชั้นก่อนประถมฯที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียนชั้น ป.1 ทุกคน โดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้ กรณีมีผู้สมัครเกินให้ใช้วิธีการจับสลาก และประสานกับโรงเรียนใกล้เคียงเพื่อจัดหาที่เรียนให้เด็กทุกคน

นายชินภัทรกล่าวต่อว่า การรับนักเรียนชั้น ม.1 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สำรวจรายชื่อเด็กที่จบชั้น ป.6 ที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯ และจำนวนนักเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนทุกสังกัดในเขตพื้นที่ฯจะประกาศรับ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการเขตพื้นที่ฯพิจารณาจัดหาที่เรียนที่เหมาะให้กับทุกคน โดยคำนึงถึงหลักการให้นักเรียนได้เรียนใกล้บ้าน ให้โรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนเยี่ยมชมโรงเรียน เพื่อประกอบการตัดสินใจ และรับนักเรียนทุกคนที่ได้รับการจัดสรรโอกาสโดยไม่มีการคัดเลือก สำหรับโรงเรียนทั่วไปให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่มาสมัครเข้าเรียนทุกคน ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่ฯได้

"สำหรับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการสอบคัดเลือก และใช้ผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ให้เสนอสัดส่วนและวิธีการรับนักเรียนต่อคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน โดยให้กำหนดสัดส่วนการรับนักเรียน ดังนี้ 1.การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการไม่น้อยกว่า 50% โดยวิธีการจับสลาก กรณีมีเด็กในพื้นที่ไม่ถึง 50% ให้รับเข้าเรียนทุกคน และนำที่นั่งเหลือไปรับนักเรียนทั่วไป แต่ในกรณีที่โรงเรียนต้องการสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ให้ใช้คะแนนสอบของโรงเรียนใน 5 วิชาหลัก 80% และใช้คะแนนโอเน็ต 20% 2.การรับนักเรียนทั่วไป ให้รับได้ไม่เกิน 50% และให้ใช้การสอบคัดเลือกเกณฑ์เดียวกับการรับนักเรียนเขตพื้นที่บริการ 3.การรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ต้องเป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4.การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งอาจมีได้ในหลายกรณี เช่น นักเรียนที่ได้คะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย, นักเรียนที่มีข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน, นักเรียนยากไร้และด้อยโอกาส, นักเรียนบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ, นักเรียนโควตาตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือโรงเรียนคู่พัฒนา, นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียน และนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายชินภัทรกล่าวอีกว่า ให้โรงเรียนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ พร้อมประกาศหลักเกณฑ์ ก่อนการพิจารณาและประกาศผลการรับนักเรียนพร้อมรายชื่อให้ประชาชนทราบ และการรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้รับรอบเดียว ส่วนนักเรียนที่พลาดจากการสอบคัดเลือก หรือการจับสลาก สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนที่ได้รับการประกาศชื่อในการจัดสรรโอกาส หรือเสนอชื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาอำนวยความสะดวกในการจัดหาโรงเรียนให้ตามความเหมาะสม

นายชินภัทรกล่าวว่า การรับนักเรียนชั้น ม.4 ให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าเรียน โดยกำหนดเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพเหมาะสมจากผลการเรียนเฉลี่ยรวม 5 ภาคเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 ในกรณีที่ผลการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 แต่สูงกว่า 1.50 ให้โรงเรียนจัดสอบประมวลความรู้ หากผ่านเกณฑ์ให้ถือว่าเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพเหมาะสม หรือใช้การประเมินศักยภาพพิเศษอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนเดิมที่โรงเรียนรับไว้ทั้งหมดให้คิดเป็น 80% ของแผนการรับนักเรียน ที่เหลืออีก 20% ให้รับนักเรียนทั่วไป โดยให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกด้วยข้อสอบของโรงเรียน 80% และผลคะแนนโอเน็ต 20% ส่วนการรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษและเงื่อนไขพิเศษ ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับชั้น ม.1

"การรับนักเรียนครั้งนี้ได้กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องไว้ด้วย โดยระดับก่อนประถมฯห้องละไม่เกิน 40 คน ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ห้องละ 40 คน หากมีความจำเป็นต้องไม่เกินห้องละ 50 คน โดยเสนอเขตพื้นที่ฯพิจารณา ส่วนโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ เช่น ห้องเรียน English Program ในทุกระดับให้รับห้องละ 30 คน ส่วนห้องเรียนพิเศษอื่นๆ ไม่เกินห้องละ 40 คน ทั้งนี้ โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่ประสงค์จะรับนักเรียนห้องละ 50 คน จะต้องรับนักเรียนโดยการสอบคัดเลือกรับนักเรียนทั่วไป และจับสลากรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ โดยรับนักเรียนทั่วไปไม่น้อยกว่าห้องละ 40 คน ที่เหลือให้รับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ หรืออื่นๆ และให้ประกาศรับนักเรียนทุกประเภทรอบเดียว และแยกประกาศแต่ละประเภทให้ชัดเจน" นายชินภัทรกล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ได้กำหนดปฏิทินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2556 ดังนี้ ระดับก่อนประถมฯรับสมัครวันที่ 31 มกราคม 2556-4 กุมภาพันธ์ จับสลาก วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 10 กุมภาพันธ์ มอบตัว วันที่ 17 กุมภาพันธ์, ชั้น ป.1 รับสมัครวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ จับสลาก ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 17 กุมภาพันธ์ มอบตัว วันที่ 24 กุมภาพันธ์, ชั้น ม.1 ประเภทความสามารถพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-15 มีนาคม จับสลากวันที่ 31 มีนาคม สอบวันที่ 16 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 18 มีนาคม ประเภทสอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม สอบวันที่ 23 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 27 มีนาคม ประเภทจับสลากในเขตพื้นที่บริการ รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม จับสลาก ประกาศผล และรายงานตัว วันที่ 31 มีนาคม ประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 27 มีนาคม โดยทุกประเภทมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 6 เมษายน

นายชินภัทรกล่าวว่า ส่วนชั้น ม.4 ประเภทนักเรียนที่จบชั้น ม.3 เดิมเข้าเรียนต่อโรงเรียนเดิม รายงานตัววันที่ 1 เมษายน มอบตัววันที่ 7 เมษายน ประเภทความสามารถพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-15 มีนาคม สอบวันที่ 16 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 18 มีนาคม ประเภทสอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม สอบวันที่ 24 มีนาคม ประกาศผลวันที่ 28 มีนาคม และรายงานตัววันที่ 1 เมษายน ประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 28 มีนาคม โดยทุกประเภทมอบตัวพร้อมกันวันที่ 7 เมษายน ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะชั้นมัธยมฯปลาย ประเภทความสามารถพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-15 มีนาคม สอบวันที่ 16 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 18 มีนาคม ประเภทสอบคัดเลือกและใช้คะแนนโอเน็ต รวมถึงประเภทเงื่อนไขพิเศษ รับสมัครวันที่ 14-18 มีนาคม สอบคัดเลือกวันที่ 24 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 28 มีนาคม โดยมอบตัวพร้อมกันวันที่ 7 เมษายน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook