สร้างค่านิยมไม่ดูถูกงาน มศว จ้างนักศึกษา "ล้างส้วม"
ขึ้นชื่อว่าห้องน้ำสาธารณะ หลายคนก็คงพอจะนึกถึงภาพและกลิ่นออกว่าคงจะไม่น่ารื่นรมย์สักเท่าไหร่
อาชีพล้างห้องน้ำจึงอาจเป็นอาชีพที่หากเลือกได้ ก็ไม่มีใครอยากจะทำ เพราะหลายคนมองว่า เป็นงานไม่มีเกียรติสักเท่าไหร่
เพื่อสร้างค่านิยม "ไม่ดูถูกงาน" มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดโครงการให้ทุนการศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ ภายใต้หัวข้อ "ล้างห้องน้ำ ชูค่านิยม ไม่ดูถูกงาน ลดตัวลดตน" ซึ่งเป็นโครงการ "ต่อยอด" จากการจัดหางานให้นิสิตทำระหว่างเรียน เพื่อให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ และช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว เช่น การช่วยงานในคณะหรือฝ่ายต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัย ทั้งห้องสมุด กองคลัง และศูนย์ประชาสัมพันธ์
งานนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ "ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ" เปิดตัวโครงการที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ จ.นครนายก พร้อมลงมือสาธิตการล้างห้องน้ำด้วยตนเอง ทั้งยังให้คำแนะนำเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดภายในห้องน้ำแก่นิสิตด้วย
ผศ.นพ.เฉลิมชัยบอกว่า มศว มีอัตลักษณ์ 9 ประการ หนึ่งในนั้นคือหนักเอาเบาสู้ งานล้างห้องน้ำนอกจากจะปลูกฝังค่านิยมไม่ดูถูกงานแล้ว ยังสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เด็กทำงานเพื่อส่วนรวม โดยมีแม่บ้านของทางมหาวิทยาลัยมาช่วยสอนการล้างห้องน้ำและให้นิสิตมาทำงานเสริม
"เด็กยุคใหม่อยากได้สิ่งที่สำเร็จง่ายๆ เร็วๆ อยากได้เงินก็ขอพ่อแม่ ส่งผลให้สังคมฟุ้งเฟ้อ แต่หากได้ทำงานก็จะเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น ซึ่งเด็กสมัยนี้มักจะภูมิใจเมื่อได้ทำงานที่คิดว่ายาก งานล้างห้องน้ำก็ถือเป็นงานที่ทำยากทางสภาพจิตใจ โครงการนี้จึงเป็นการกำหนดค่านิยมใหม่ที่จะไม่อายหากได้ทำอาชีพสุจริต โดยมีเป้าหมายต่อไปคือ การให้ทุกคณะมีนิสิตของคณะอาสาล้างห้องน้ำในคณะตนเอง" อธิการบดีกล่าว
หลังจากเปิดโครงการ ขณะนี้มีนิสิต 17 คน คอยปฏิบัติงานทั้งใน มศว ประสานมิตร และ มศว องครักษ์ โดยอัตราค่าตอบแทนของงานนี้ จะสูงกว่างานอื่น ชั่วโมงละ 70 บาท ขณะที่งานอื่นๆ ชั่วโมงละ 50 บาท ซึ่งต้องทำไม่เกินเดือนละ 40 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เสียการเรียน
น.ส.เทพปราทาน อมรเลิศไพบูลย์ ปี 2 จากวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ยอมรับว่าช่วงแรกๆ ที่ทำงานนี้ รู้สึกเขินที่มีคนมอง แต่ทำมาได้กว่า 2 เดือนแล้ว จึงคิดว่าเป็นงานที่สุจริตและยังได้รับทุนการศึกษาด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกภูมิใจมากกว่า
เช่นเดียวกับ 2 หนุ่ม ปี 4 จากคณะสังคมศาสตร์ นายณัฐพงษ์ อภิสุวรรณกุล และนายศตวรรษ มะคำหอม ที่มองว่า งานล้างห้องน้ำเป็นงานที่ควรส่งเสริมเพราะเป็นงานที่สุจริต
"ปกติผมไม่เคยล้างห้องน้ำ แม้แต่ที่บ้านก็ไม่เคย ทำครั้งแรกจึงรู้สึกเขินเพราะคนเห็นเยอะ แต่พอเริ่มปรับตัวได้ก็คิดว่าการล้างห้องน้ำนั้นไม่ใช่อาชีพที่น่ารังเกียจ แต่การทุจริตเป็นสิ่งที่น่าอายกว่า คนในสังคมประณามกว่าตั้งเยอะ" ณัฐพงษ์บอก
ศตวรรษกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนแรกก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาทำงานเช่นนี้ แต่ตอนนี้กลับรู้สึกขอบคุณ เพราะทำให้มองเห็นความสำคัญของงานที่คนไม่นิยมทำ แต่เป็นงานที่สำคัญมากๆ ไม่มีไม่ได้ ส่วนคนที่มองอาชีพนี้อย่างดูถูกก็ขอให้เปลี่ยนทัศนคติ เพราะถ้าไม่มีกลุ่มคนที่ทำความสะอาดหรือเก็บขยะ ทุกสถานที่ก็จะสกปรก กลุ่มคนเหล่านี้จึงควรได้รับคำชื่นชม
ส่วนนิสิตปี 1 คณะศึกษาศาสตร์ จากโครงการเพชรในตม ว่าที่ "คุณครู" ในอนาคต ต่างก็มีจิตอาสามาช่วยลงแรงทำความสะอาดห้องน้ำให้สะอาดน่าใช้เช่นกัน นายปริวัฒน์ จันทร์สมุด บอกว่า ตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้ เพื่อนๆ ที่เห็น ก็ถามข้อมูลเพราะอยากมาทำ จึงไม่ได้รู้สึกว่างานนี้เป็นเรื่องที่น่าอาย
"ในอนาคตเมื่อผมได้เป็นครูอย่างที่ตั้งใจ ก็จะเล่าเรื่องนี้ให้ลูกศิษย์ฟัง เพื่อปลูกฝังค่านิยมไม่ดูถูกอาชีพ ไม่เลือกงาน ผมคิดว่าสังคมไทยต้องเริ่มพัฒนาด้านจิตใจ สร้างค่านิยมใหม่เพื่อลดปัญหาเด็กเลือกงาน"
ด้านนายซาการียา บากา เสริมด้วยว่า การทำงานระหว่างเรียนยังช่วยให้มีรายได้เสริม ไม่ต้องรบกวนเงินของพ่อแม่ รวมทั้งสร้างให้มีวินัยเมื่อทำงานไปด้วย การเรียนก็ต้องไม่เสีย
"การประกอบอาชีพในสังคม ไม่มีอะไรที่สูงหรือต่ำ อยู่ที่ใจคิดมากกว่า ถ้าทำงานด้วยจิตใจที่ดีไม่ว่างานอะไรก็เป็นงานที่สูงส่งได้" ซาการียาทิ้งท้าย
เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังค่านิยมให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ภูมิใจในทุกอาชีพที่สุจริต
หน้า 25,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2555