เลิก "น้ำอัดลม" ง่ายนิดเดียว!
น้ำอัดลม ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนๆ หรือ "0" แคลอรี หรือเปล่า ล้วนแต่ให้โทษ แทบจะไม่มีคุณประโยชน์อะไรต่อร่างกาย แต่ทั้งๆ ที่รู้หลายคนก็ยังดื่มน้ำอัดลมเหมือนน้ำเปล่า บางคนถึงขั้นเสพติดต้องรับประทานทุกมื้ออาหาร ยิ่งถูกกระแสโฆษณาโหมกระหน่ำ ก็กลายเป็นเหยื่อการแข่งขันของตลาดน้ำดำโดยไม่รู้ตัว
แน่นอนว่าน้ำอัดลมไม่ร้ายเท่ากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไม่เคยทำให้เมาแล้วขับรถชนใคร แต่เมื่อความอ้วนมาเยือน ก็ถือเป็นเรื่องอันตรายที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว ดังนั้น หากอยากรู้วิธีว่าจะเลิกดื่มน้ำอัดลมได้อย่างไร อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีคำแนะนำดีๆ มาฝากกัน
อาจารย์สง่า บอกว่า การเลิกดื่มน้ำอัดลม มี 2 วิธีใหญ่ๆ คือ 1.หาสิ่งอื่นมาทดแทน หากเราไม่ดื่มน้ำอัดลมแล้วเราจะดื่มเครื่องดื่มอะไร อาจจะค่อยๆ เลิก หรือหักดิบก็ได้ แต่ถ้าจะค่อยๆ เลิก แนะนำให้เลือกดื่มน้ำผลไม้ หรือ น้ำสมุนไพร ที่มีน้ำตาลน้อยกว่า หรืออาจจะลดปริมาณการดื่มลง เช่น หากซื้อมา 1 ขวด ก็ให้แบ่งกันดื่ม 2 คน ไม่ซื้อน้ำอัดลมติดตู้เย็นที่บ้านเอาไว้ หรือ ดื่มน้ำเปล่าก่อนที่จะดื่มน้ำอัดลม สร้างนิสัยในการพกน้ำเปล่าติดตัวเพื่อดับกระหาย ทำอย่างนี้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ก็จะช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจนชินเป็นนิสัย
2. หาแรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจในการเลิกดื่มนำอัดลมให้เจอ เช่น ดูว่าข้อเสียของน้ำอัดลมมีอะไรบ้างระหว่างเลิกกับไม่เลิก การลดน้ำหนัก ไม่อยากอ้วน มีหุ่นที่ดี ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนหันมาเลิกดื่มน้ำอัดลม เพราะมองว่าน้ำอัดลมเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน ขณะที่เด็กบางคนฟันผุ เกิดอาการปวดฟันมากๆ ก็เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เด็กไม่อยากกินน้ำอัดลมอีก หรือบางรายกลัวว่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ไม่อยากถูกตัดขา หรือเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ อยู่ ก็เลิกน้ำอัดลมเพราะต้องการมีสุขภาพที่ดี อีกทั้งเป็นสิ่งที่แพทย์ห้ามไม่ให้กินอยู่แล้วอีกด้วย
"คนมักจะเข้าใจผิดไปเองว่า ดื่มน้ำอัดลม หรือ กาแฟ ช่วยดับกระหาย หรือ ทำให้อิ่ม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ส่วนที่ช่วยในการดับกระหายคือน้ำเปล่านั่นเอง ไม่ใช่ส่วนผสมอื่นใดที่เติมเข้าไปในน้ำอัดลม ไม่ว่าจะเป็นคาเฟอีน หรือ กรดฟอสฟอริก ที่สำคัญ เมื่อหิวกระหายหรือพลังงานหมด ที่ถูกต้องไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง แต่ให้เลือกดื่มน้ำเปล่า หรือนมจืดแทน "ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ อธิบาย
อาจารย์สง่า ยังบอกอีกว่า สำหรับคุณสมบัติของน้ำอัดลมที่พยายามโฆษณาว่า ช่วยให้สดชื่น สดใส ซาบซ่า ล้วนแต่เป็นเรื่องของความรู้สึก ที่เกิดจากอิทธิผลของโฆษณา อิทธิพลจากบรรดานายแบบ นางแบบมากกว่าจะเกิดเช่นนั้นจริงๆ ทางที่ดีอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรก "น้ำเปล่า" ดีที่สุด หากพกน้ำเปล่าติดตัวเพื่อดับกระหาย ก็จะช่วยให้ไม่รู้สึกอยากดื่มน้ำอัดลมได้อย่างมาก
เคล็ดลับของการเลิกดื่มน้ำอัดลมอาจจะไม่ต่างจากการเลิกเหล้า บุหรี่ เพราะอยู่ที่ "ใจ" ถ้าหักห้ามใจได้ ก็สำเร็จอย่างแน่นอน
เรื่องโดย วรรณภา บูชา Team Content www.thaihealth.or.th
โดย wannapa