การหล่อหลอมเด็กยุคใหม่ ที่ครอบครัวต้องปรับ ร.ร.ต้องเปลี่ยน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในระยะหลังนักการศึกษาทั่วโลกได้พูดถึงการเลี้ยงดูลูกในศตวรรษที่ 21 ที่พ่อแม่ต้องปรับตัว ในบางประเทศมีโรงเรียนสอนพ่อแม่ มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและให้คำแนะนำความเป็นไปของครอบครัว เนื่องจากการเลี้ยงดูเด็กในโลกยุคใหม่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้อาจยังใหม่สำหรับคนไทย เพราะหากย้อนกลับไปดูระบบการศึกษาไทยที่เป็นแหล่งหล่อหลอมคนร่วมกับครอบครัว ดูเหมือนว่าจะสวนทางกับทิศทางของโลก
เหตุใดคะแนน PISA (โครงการประเมินผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับนานาชาติ) เด็กไทยยังรั้งท้ายในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ผลโอเน็ตตกต่ำ ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาเงินสะพัดกว่าปีละ 6,039 ล้านบาท (สภาพัฒน์) ระบบการศึกษาและสังคมยังยึดติดกับค่านิยมการแข่งขันเรียนเพื่อหาที่ 1 และเขี่ยที่โหล่
รวมถึงระบบแพ้คัดออกที่ทำให้คนต่างอยากเป็นผู้ชนะ จนเกิดการเหลื่อมล้ำการศึกษาในสังคมไทย
สิ่ง ที่ต้องเปลี่ยนคือการปรับกระบวนการเรียนการสอนรวมถึงการเลี้ยงดูเพื่อให้ เด็กพร้อมสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงทั้ง เศรษฐกิจ สังคมที่รายล้อมไปด้วยสิ่งใหม่และความเจริญของเทคโนโลยี อันจะส่งผลกระทบถึงตัวมนุษย์อย่างรวดเร็ว
ผู้ปกครองและโรงเรียนจะ เตรียมเด็กเหล่านี้ให้มีกระบวนการคิดวิเคราะห์และอยู่รอดในโลกที่เคลื่อนไหว เร็ว และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างไร ?
ปรับโหมดการสอนรู้สู่ ศต.ที่ 21
ใน การสัมมนาหัวข้อการพัฒนาผู้นำในเด็ก จัดโดย หน่วยพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็ก Newgen บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป "เมก้า ศรีเสธิ" ผู้เชี่ยวชาญด้าน Parent Coach กล่าวถึงการเป็นพ่อแม่ของเด็กในศตวรรษที่ 21 ว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กเติบโตขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยี จึงเป็นความท้าทายของพ่อแม่ในยุคนี้ที่จะสร้างศักยภาพให้ตนเอง เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
"พ่อแม่ยุคนี้จะต้องรู้จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง และมีทัศนคติที่ชัดเจนต่อทิศทางในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งการโค้ชพ่อแม่จะช่วยผลักดันและค้นหาวิธีที่สร้างสรรค์และเหมาะสมสำหรับ ครอบครัวที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ดี และปัญหาอีกด้านคือวัฒนธรรมของคนไทยที่ผู้ใหญ่จะเป็นผู้สอนเด็กทุกอย่างและ ควบคุมพฤติกรรมมากเกินไปทำให้ความเป็นผู้นำถูกจำกัดไว้ ขั้นแรกต้องเปลี่ยนแปลงความคิดก่อนว่าเด็กทุกคนสามารถสอนได้"
สำหรับ ปรับเปลี่ยนการศึกษาในระบบ "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนกลไกสำคัญที่การศึกษาไทยว่า ยังขาดในการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้จากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21 นั่นคือการพลิกโฉมวงการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินการและการลงมือปฏิบัติที่ต้องสร้างกระบวนการ เปลี่ยนแปลงในความเชื่อ และการก้าวผ่านทัศนคติ
ต่าง ๆ โดยอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ ในการผลักดันการศึกษาที่ต้องมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกัน ทั้งคนที่รับผิดชอบโดยตรง และสังคมโดยรอบ
"ในเวลา 5-6 เดือนข้างหน้านี้ TDRI จะนำเสนอโรดแมปคร่าว ๆ ว่า กระทรวงศึกษาธิการควรจะมีธงอย่างไรใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ทักษะที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 และหลักสูตรและตำราที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงรูปแบบหรือเครื่องมือในการประเมินวัดผลในระดับชาติต่อไป"
เตรียมครอบครัวรับเออีซี
กลับ มาที่การเตรียมคนในระยะเวลาอันใกล้ อย่างการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 แม้จะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือทั้งในเศรษฐกิจหรือสังคม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้แล้วในทุกวันนี้ในย่านธุรกิจ สถานที่
ท่อง เที่ยวหรือสถาบันการศึกษา ที่จะพบว่าเรากำลังอยู่ร่วมกับชาวต่างชาติ ความแตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม และในฐานะเจ้าบ้านเราจะสื่อสารและอยู่ร่วมกับความแตกต่างนี้ได้อย่างไร ในขณะที่ผลสำรวจนักศึกษาไทยต่อความตื่นตัวในเรื่องการเปิดเออีซียังพบว่ามี การรับรู้อยู่ในอันดับรั้งท้าย การเตรียมพร้อมที่ดีควรเริ่มจากการวางแผนโดยครอบครัว
"พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร" เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา "756 วัน เตรียมพ่อไทยไปอาเซียน" จัดโดยสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เมื่อไม่นานนี้ว่า การที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่เออีซี ครอบครัวต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบทบาทของพ่อนับว่าสำคัญ เพราะผู้ชายมีสัญชาตญาณกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าผู้หญิง โดยมี 5 เรื่องใหญ่ที่อาเซียนท้าทายครอบครัวไทย
"ความท้าทายที่ว่าคือ ความพร้อมเรื่องภาษา ครอบครัวไทยต้องฝึกภาษาให้ลูกและตัวเองด้วย ต่อมาคือการเรียนของลูกที่เปลี่ยนไป ทั้งเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียน หลักสูตรและเนื้อหาการเรียน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เปิดกว้างขึ้น เรื่องที่สามคือการสอนให้เด็กมีใจเปิดกว้างและเป็นมิตร เคารพในความหลากหลายและพร้อมจะเป็นครอบครัวเดียวกัน"
"เรื่องต่อมา คือ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอาจกระทบชีวิตครอบครัวทำให้มีเวลาอยู่ร่วมกันน้อยลง ทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ยังอยู่คงเดิม และเรื่องสุดท้ายโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจเป็นโรคใหม่ ๆ ที่คนไทยไม่เคยเป็นหรือไม่เคยเจออาการอย่างนี้มาก่อน ทั้งหมดล้วนมีคำตอบเดียวกันคือ ครอบครัวต้องพร้อมจะเรียนรู้เพื่อก้าวสู่สังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไป"
แนะ ร.ร.สอนเน้นการอยู่ร่วมกัน
การ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษายุคปัจจุบัน เพราะสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคสมัยนี้ ผู้เรียนต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่บนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นในสังคมให้มีความสุข
ในโอกาสที่ เจ.พี. มอร์แกน ร่วมกับองค์การยูเนสโก จัดงานการประชุมนานาชาติ UNESCO-APEID ครั้งที่ 16 เรื่องหัวใจของการศึกษา : เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน "การเปลี่ยนแปลงการศึกษา สร้างชุมชนผ่านความร่วมมือแนวกลยุทธ์ : ในมุมมองของ เจ.พี. มอร์แกน"
"คุณหญิงกษมา วรวรรณ" อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการเรียนรู้เพียง 3 เสาหลักเท่านั้น คือ การเรียนรู้เพื่อการรับรู้ การเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติ และการเรียนรู้ที่จะเป็น โดยลืมเน้น "เสาหลักการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน" เพราะในศตวรรษที่ 21 ทุกประเทศต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและค่านิยม เพื่อเสริมสร้างให้ทุกคนมีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน เกิดการแลกเปลี่ยนสันติภาพและดำรงอยู่ซึ่งความสามัคคี ทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยที่จะเข้าสู่ ประชาคมอาเซียนในปี 2558
"เสาหลักการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ประกอบด้วย 3 หัวใจสำคัญที่สามารถฝึกให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ สูงสุดได้ คือ 1.เรียนรู้ที่จะอยู่กับตนเอง 2.เรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้อื่น และ 3.เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ทั้งหมดจะเป็นหัวใจสำคัญที่การศึกษาไทยยุคปัจจุบันควรนำมาประยุกต์ใช้ในการ เรียนการสอน ที่ปัจจุบันสอนเน้นเฉพาะภาคทฤษฎีในหนังสือ แต่ยังไม่เน้นภาคปฏิบัติและสอนทักษะการใช้ชีวิตเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยน แปลงของโลกเท่าที่ควร"
การเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนทั้งหมดจะเห็นเป็น จริงได้ อาจต้องอาศัยระยะเวลาในการขับเคลื่อน แต่หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือการมองเห็นปัญหาและจับมือทำงานร่วมกัน โดยเริ่มได้ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในภาพกว้างรวมถึงสังคม