การศึกษาไทยตกต่ำแล้วตกต่ำอีก โดยบริษัทเพียร์สัน

การศึกษาไทยตกต่ำแล้วตกต่ำอีก โดยบริษัทเพียร์สัน

การศึกษาไทยตกต่ำแล้วตกต่ำอีก โดยบริษัทเพียร์สัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย เพชร เหมือนพันธุ์

จากการจัดอันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ของบริษัทจัดอันดับการศึกษา เพียร์สัน ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37 ของโลก ถ้าเราอ่านเพียงแค่นี้ก็คงจะไม่รู้สึกตกใจ เพราะในโลกนี้มีอยู่เป็นร้อยๆ ประเทศ แต่ถ้าเราลองตระหนักลงไปอีกว่า แล้วประเทศที่เขาจัดระบบการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ได้ดีกว่า มีประเทศอะไรบ้าง เราอาจจะเริ่มรู้สึกตกใจเพราะประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงเราล้วนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่าเรา และถ้าเราลองศึกษาให้ลึกลงไปอีกเราต้องวิตกกังวลไปมากกว่าที่จะอยู่เฉยๆ ต่อไปได้ เรามาทบทวนผลการจัดอันดับของบริษัท เพียร์สันดูอีกครั้ง

อันดับที่ 1 ประเทศฟินแลนด์ ที่ 2 เกาหลีใต้ ที่ 3 ฮ่องกง ที่ 4 ญี่ปุ่น ที่ 5 สิงคโปร์ ที่ 6 อังกฤษ ที่ 7 เนเธอร์แลนด์ ที่ 8 นิวซีแลนด์ ที่ 9 สวิตเซอร์แลนด์ ที่ 10 แคนาดา ...... ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 37

อันดับที่ 2-5 อยู่ในทวีปเอเชีย และบางประเทศเคยยากจนกว่าประเทศไทยมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้เราตามเขาไม่ทันแล้ว และเราต้องตกใจมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า หลายประเทศที่มีผลการศึกษาดีกว่าประเทศไทยของเรานั้น ลงทุนงบประมาณทางการศึกษาต่ำกว่าประเทศไทย เมื่อเทียบกับรายการงบประมาณ จีดีพี ของประเทศ หากระบบการศึกษาของไทยเรามีเครื่องมือหมอ (ทางการศึกษา) ที่ดี มีประสิทธิภาพสูง เอามาเอกซเรย์ดู ว่ามีความผิดปกติตรงไหน มีอะไรเกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย เราอาจพบสาเหตุของตัวปัญหาที่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาโดยการทุ่มงบประมาณลงไป ลงไปลงไปๆๆๆ แต่อาการไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด

ท่านผู้อ่านที่เคารพ คนไทยส่วนมาก ส่วนใหญ่เฝ้าดูการศึกษาไทยด้วยความวิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกหลานกำลังเรียนอยู่ในระบบการศึกษาไทย มันตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนเรือไททานิก ที่กำลังจมน้ำลึกลงไปเรื่อยๆ หรือเสมือนอาการคนป่วยหนักที่หมอให้ยาอะไรไปก็ไม่มีอาการดีขึ้น มีแต่อาการทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ คนที่เป็นครู คนที่อยู่ในวงการศึกษา ก็เปรียบเสมือนลูกเรือก้มหน้าก้มตาซ่อมเรือ อุดรูรั่ว ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ยังไม่พบว่าอาการทรุดหนักทางคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น กัปตันเรือเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก รัฐมนตรีทางการศึกษาเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก บางคนไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ทางการศึกษาเลย มาบังคับหางเสือเรือให้แล่นตรง ดังนั้น นาวาทางการศึกษาไทยจึงตกอยู่ในวังวน ไร้ทิศทาง ต่างคนต่างขยัน ต่างคนต่างออกแรง แล้วจะหวังให้เรือการศึกษาไปถึงฝั่งได้อย่างไร

เพื่อนครูที่เคารพรัก ถึงท่านจะขยันจนสุดแรงเกิดอย่างไร หากกัปตันเรือกำหนดเป้าหมาย กำหนดทิศทางผิด หันหัวเรือเข้าต่อสู้กับกระแสคลื่นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่ถูกต้อง ก็เห็นทีว่าเราจะพากันตกต่ำลงไปเรื่อยๆๆๆ จนถึงก้นมหาสมุทร

กัปตันเรือจะแก้ปัญหาได้ จะต้องมองปัญหาออก ที่มองอนาคตออก มองเห็นปัญหาผ่านเครื่องเอกซเรย์ ทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ คนที่มีสิทธิเลือกกัปตันให้กับประเทศก็คือ นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสูงสุดในการแก้ปัญหา และท่านต้องตระหนักรู้ว่าการศึกษาคือเครื่องมือที่พัฒนาประเทศที่แท้จริง หากมีความประสงค์จะกู้วิกฤตทางการศึกษาให้ได้อย่างรวดเร็วจริงจังคือ หากัปตันที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางการศึกษา มายกเครื่อง (overhaul) เปลี่ยนแปลงระบบบางอย่างที่ล้าหลังออกไป นำระบบที่ทันสมัยแบบใหม่เข้ามา ดูตัวอย่างประเทศที่เขาประสบผลสำเร็จมาเป็นต้นแบบ ก็จะแก้ไขได้

มีครูผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งบอกรัฐบาลของเขาว่า "การปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้องอยู่ในห้องเรียน อยู่ในระหว่างครูกับนักเรียน" ผมเป็นครูมาตลอดชีวิต เป็นครูสอนเด็กในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ.2513 ถึง พ.ศ.2521 เวลา 9 ปี เป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา 2522-2545 เป็นเวลา 24 ปี เป็น ผอ.สามัญศึกษาจังหวัด พ.ศ.2546 อยู่ 1 ปี เป็นผู้ตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ 2 ปี เป็น ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รับผิดชอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือระดับปฐมวัย ถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2527-2552 อยู่ 5 ปี ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ได้รู้ ได้เห็น ได้จัดการ ได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบ ได้เห็นความสำเร็จ ได้เห็นความล้มเหลวมาตลอด จึงมีความเป็นห่วงต่อคุณภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้วันนี้จะเกษียณอายุราชการออกไปแล้ว แต่ความเป็นครูได้ฝังอยู่ในสายเลือด เป็นครูตลอดชีวิต "ครูแก่ไม่เคยตาย Old Soldier Never Die" ผมจึงได้พบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในระบบการศึกษาไทย แต่ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ เพราะเราเป็นเพียงไม้ปล้องกลาง ย่อมเป็นไปตามต้นไม้หรือปลายไม้จะลากไป แม้ประสบการณ์บางครั้งจะบอกให้รู้ว่ากัปตันเหเรือออกนอกเส้นทางแล้วเดินผิดทางแล้วก็ไม่มีอำนาจพอที่จะไปพลิกกลับหางเสือดึงหัวเรือเข้าสู่เส้นทางได้ ร้องตะโกนก็ไม่ถึงหูกัปตัน ผมรู้ว่าหัวเรือการศึกษาได้ออกนอกเส้นทางมาตั้งแต่ปี 2521 ปีที่ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา 2521 ประกาศใช้ปี 2522 และมาจมลึกไปถึงปี ประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มีผลเมื่อปฏิรูปการศึกษา 2544 เป็นเวลาถึง 20 ปี แม้นักการเมืองนักการศึกษาในกระทรวงศึกษาไทยได้พยายามอีกครั้งเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษารอบสอง เมื่อ พ.ศ.2551 จนมาถึงวันนี้ เรายังมืดมน มองยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

คุณภาพผลผลิต คุณภาพคนไทยที่ผ่านเบ้าหลอมทางการศึกษา มีศักยภาพตกต่ำลงเรื่อยๆ อัดฉีดงบประมาณเข้าไปมากเท่าใดก็ไม่มีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้น ถ้าคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่แข็งพอก็อย่าได้หวังว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะดีเลิศ สร้างต้นกล้าที่ไม่แข็งแรงแล้วจะหวังต้นไม้ใหญ่ให้ผลผลิตสูงได้อย่างไร

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า เด็กไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่านหนังสือไม่เป็น ไม่มีนิสัยรักการอ่าน อ่านหนังสือไม่จบเล่ม ไม่รู้ว่ามีหนังสือน่าอ่านดีๆ ในประเทศไทย หรือหนังสือดีๆ น่าอ่านในโลก แล้วเด็กไทยจะเก่งเข้าสู่ตลาดการแข่งขันได้อย่างไร เด็กไทยจำนวนมากยังขาดนิสัยที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ขาดนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิด ขาดการแสวงหาความรู้ด้วยการอ่าน ขาดการใฝ่รู้ใฝ่เรียน ดังนั้น เด็กไทยที่ไม่มีความอยาก มีสมองที่ว่างเปล่าเดินเข้าไปในห้องสมุด เมื่อเดินกลับออกมาสมองของเขาจึงไม่ได้บรรจุสิ่งใดเข้าไปในสมองเลยเพราะเขาไม่ได้อ่านอะไรเลย ไม่ได้มีเป้าหมายในการเดินเข้าไปในห้องสมุด ไม่ได้มีความอยากรู้อยากเห็น ไม่มีความหิวกระหายที่จะศึกษาค้นคว้า จนเกิดเป็นนิสัยถาวร นิสัยไม่อยากรู้อยากเรียนก็จะตามไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา

ตอไม้ที่ตายแล้วถึงครูจะขยันรดน้ำอย่างไรตอนั้นก็จะไม่งอกเงยเหมือนเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษ เรียนจบจากชั้นเรียนกลับถึงบ้านก็ไม่ได้สนใจไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เราจึงสูญเสียเวลารดน้ำไป 6 ปี จบ ป.6 ไป 12 ปี จบ ม.6 ไป 16 ปี จบปริญญาตรี แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เราจึงสูญเสียเวลารดน้ำตอไม้ให้งอกเงยนะ

เด็กไทยเขียนหนังสือไม่เป็น เริ่มต้นจากเขียนหนังสือไม่ถูก อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยปกติเด็กจะอ่านออกเขียนได้เมื่อเรียนอยู่ระดับชั้น ป.2 ถ้าหลุดไปจาก ป.2 แล้วยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถือว่าเด็กเรียนช้า หรือเด็กผิดปกติ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะพบเด็กผิดปกติอยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามากกว่านี้ถือว่ามีความผิดพลาดในการจัดการศึกษา เด็กทั่วโลกจะมีปัญหามีเด็กผิดปกติใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ภาษาจิตวิทยาเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเด็กพิการ 9 ประเภท ซึ่งแบ่งเด็กพิการออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มองเห็นได้ด้วยสายตา เช่น หูหนวก ตาบอด ร่างกายพิการ ฯ และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตา เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กแอลดี เด็กบกพร่องทางสายตา ทางการพูด ทางการได้ยิน ฯ ซึ่งต้องอาศัยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาช่วยดู ช่วยตรวจสอบ แม้แต่ครูเองก็ดูไม่ออกไม่ว่าเด็กที่เรียนช้าเหล่านี้คือเด็กพิการอีกประเภทหนึ่ง ครูบางคนจึงไปพาลเอากับเด็กว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กโง่ เด็กเกเร ฯ

การเขียนหนังสือเป็นทักษะที่ยากยิ่งกว่าทักษะการอ่าน คนที่เขียนหนังสือเป็น เขียนหนังสือได้ดีต้องผ่านการฝึกฝน ต้องมีนิสัยรักการเขียน และต้องเป็นผู้ที่อ่านมามาก การที่จะสามารถเขียนหนังสือได้น่าอ่านได้อย่างมีเหตุมีผล ได้เนื้อหา ได้ใจความตรงตามที่ตนเองต้องการ คนคนนั้นจะต้องเป็นนักอ่านมามาก รู้วิธีการที่นำเสนอได้ดีมีระบบ เป็นขั้นเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับได้เหมาสม ทักษะการเขียนต้องผ่านการฝึกฝน เด็กไทยส่วนมากเขียนหนังสือไม่เป็น ประเทศชาติจึงขาดนักประพันธ์ระดับโลกอย่างน่าเสียดาย

การสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ใช่สิ่งที่ครูสอนกันบอกกันในห้องเรียนได้ การสร้างนิสัยอย่างนี้ต้องอาศัยกิจกรรมที่เหมาะสม สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เกิดความอยากความหิวกระหาย ให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดได้เองหลังจากออกจากห้องเรียนไป ครูต้องจุดแบตเตอรี่ในหัวใจเด็กให้ได้ ให้เขาสามารถเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ ได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องรอครู ทุกหนแห่งคือห้องเรียน แล้วครูจะได้ไม่เหนื่อย โดยธรรมชาติ เด็กไทยก็เหมือนเด็กทั่วโลกคือมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลองอยากทำสิ่งใหม่ แต่พอผ่านระบบการศึกษาที่ผิดพลาด พฤติกรรมความอยากมันหายไป มันเพราะอะไร เพราะรอครูจัดให้หรือ เพราะรอพ่อแม่จัดให้หรือ เพราะรอนายจ้างสั่งหรือ ให้คิดเองให้ทำเองทำไม่เป็นคิดไม่เป็นหรือ

ผู้เขียนเคยไปอบรมในสถาบันพระปกเกล้าซึ่งถือว่าเป็นสถานบันการศึกษาชั้นสูง สองครั้ง สองหลักสูตร หลักสูตรแรกใช้เวลาอบรม 1 เดือน ใช้งบประมาณมาก ใช้วิทยากรระดับสูงจำนวนมาก นั่งเรียนตลอดเวลาเช้าเย็น กลางคืน เรียนหนัก ได้ฟังนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ บรรยายตลอด เราได้ฟัง เราได้ดู เราได้รู้ เราได้เห็น แต่เราไม่ได้อะไรมาเลย จบแล้วไม่นานก็ลืม เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็ไม่มีความสนิทสนม

ในสถาบันเดียวกันนี้ ผมได้เข้าไปเรียนอีกในหลักสูตร หนึ่ง ใช้เวลา 10 วัน กับนักศึกษาอีกคนละกลุ่ม วิทยากรไม่หลากหลายเท่าหลักสูตรแรกการจัดหลักสูตรก็ไม่แน่น ไม่มากมายเท่าหลักสูตรแรก เราฟังบรรยายภาคเช้า ภาคบ่ายทำกิจกรรมจากบทเรียนเมื่อเช้า ตอนเย็นเข้ากลุ่มสร้างความคุ้นเคยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เรียน แล้วนำเสนอหน้าห้องเรียน 5 วันแรกเรียนเช้า บ่ายกิจกรรม พบกลุ่ม ออกแบบงาน 5 วันหลัง นำบทเรียนที่เรียนจาก 5 วันแรกมานำเสนอ แสดงบทบาทสมมุติ มีกิจกรรมให้ผู้เรียนร่วมวางแผน ตัดสินใจ ผู้สอนมีกิจกรรมร่วมกัน นำเสนอบทบาทสมมุติ ให้เวลาแต่ละกลุ่มเตรียมงาน วางแผน นำเสนอ ตลอดระยะเวลา 10 วัน เป็นวันเวลาแห่งการเรียนที่มีความหมาย ทุกคนมีความสุข ทุกคนกระตือรือร้น คนที่เฉื่อยชาแต่แรกกลายเป็นคนกระฉับกระเฉง เรียนหลักสูตร 10 วัน จบมาแล้ว 10 ปี เรายังจำไม่ลืม จำกันได้ เรายังจำภาพประทับใจวันนั้นได้ ทุกคนที่เรียนด้วยกันมีความผูกพันกัน เปรียบเทียบหลักสูตร 10 วัน กับหลักสูตร 1 เดือน ในสถาบันเดียวกับ เราได้รับความรู้ประสบการณ์จากหลักสูตร 10 วันมากมายกว่า หลักสูตร 1 เดือน แม้หลักสูตร 1 เดือน จะจัดให้เต็มที่ หาวิทยากรที่ดีระดับประเทศมาให้ แต่เราก็แทบจะไม่ได้อะไร เราจำกันแทบไม่ได้เลย เราไม่มีความประทับใจในกันและกันเลย มันคือความล้มเหลวที่แม้ผู้จัดจะประสงค์ดีต้องการให้ผู้เรียนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในที่สุดผู้เรียนแทบไม่ได้รับอะไรเลย ผิดกับหลักสูตร 10 วัน เราได้แทบทุกอย่าง ได้มากกว่าที่ผู้จัดอบรมจะให้เรา เราได้เพื่อนเราได้มิตร เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้ความสนิทสนม ได้รับความไว้วางใจ มองดูการศึกษาไทยทุกวันนี้มันเหมือนหลักสูตร 1 เดือน ที่ผู้จัดอยากให้ผู้เรียนได้รับ แต่ผู้เรียนแทบไม่ได้อะไรเลย แต่หลักสูตร 10 วัน เราผู้เรียนรู้สึกว่าเวลามันสั้น แต่เราประทับใจไม่รู้ลืม นี้คือสิ่งที่เหลืออยู่ของผู้เรียน ทบทวนการจัดการศึกษาไทยได้แล้วหรือยังครับ หรือเราจะรอให้เรือมันจมจนถึงก้นทะเลก่อน แล้วจึงค่อยไปกู้ภายหลัง เรือไททานิก ใช้เวลาเป็น 100 ปี การศึกษาไทยในยุคเทคโนโลยีต้องใช้เวลาขนาดนั้นเชียวหรือ อยากถามประเทศไทย

หน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 19 ธันวาคม 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook