ผลวิจัยชี้การเดินทางในอวกาศเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

ผลวิจัยชี้การเดินทางในอวกาศเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

ผลวิจัยชี้การเดินทางในอวกาศเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วอชิงตัน 1 ม.ค.- ผลการวิจัยล่าสุดของสหรัฐระบุว่า การเดินทางไกลไปท่องอวกาศรวมถึงภารกิจไปดาวอังคารอาจทำให้นักบินอวกาศได้รับรังสีคอสมิกในระดับที่เป็นอันตรายต่อสมองและเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อมเร็วขึ้นกว่าปกติ

การวิจัยครั้งนี้ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) เป็นการทดลองฉายรังสีปริมาณแตกต่างกันในหนู รวมถึงระดับรังสีที่เทียบเท่ากับระดับที่นักบินอวกาศจะได้รับระหว่างภารกิจเดินทางไปดาวอังคาร และดูว่าหนูจะสามารถจดจำสิ่งของหรือสถานที่ได้อย่างไร

ผลการทดลองพบว่า หนูที่ได้รับรังสีมีแนวโน้มจดจำสิ่งของและสถานที่ไม่ได้มากกว่าหนูตัวอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความบกพร่องทางระบบประสาทเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้การตรวจสอบสมองของหนูยังชี้ให้เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิตและการสะสมของเบต้าอะมัยลอยด์ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

รังสีคอสมิกในอวกาศจึงเป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศ เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาด้านกระบวนการรับรู้ และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองซึ่งเกี่ยวของกับโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ผลการวิจัยที่ผ่านมาระบุว่าการได้รับรังสีคอสมิกในอวกาศทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

นาซากำลังวางแผนส่งมนุษย์ไปดาวเคราะห์น้อยในปี 2564 และดาวอังคารในปี 2578 ซึ่งการเดินทางไปกลับดาวอังคารอาจต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook