บัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ล้นตลาดแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศ รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เนื่องจากตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศต้องการ ขณะที่บุคลากร ด้านครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ล้นตลาดแล้ว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุถึง ผลกระทบของการเปิดประชาคมอาเซียนต่อระบบการศึกษาไทย ว่า หลังจากนี้ การผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้วย
ซึ่งขณะนี้กำลังต้องการด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ส่วนด้านครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ มีจำนวนมากกว่าความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว จึงทำให้บัณฑิตที่จบในสาขาดังกล่าว สูญเสียโอกาสในการทำงาน
เนื่องจากแต่ละปี มีบัณฑิตด้านครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จบการศึกษา 4 - 5 หมื่นคน โดยปีการศึกษา 2555 มีการรับนักศึกษาใหม่ใน 2 สาขาดังกล่าวเกือบ 1 แสนคน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับยอดการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำให้เห็นว่า จำนวนดังกล่าวล้นความต้องการของตลาดแล้ว เช่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีล่าสุด ทั่วประเทศมีการเปิดบรรจุ 1,500 อัตรา มีผู้สมัครสอบเกือบ 2 แสนคน จึงทำให้มีบัณฑิตตกงานจำนวนมาก
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มี 7 สาขาวิชาชีพ สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ โดยให้ศึกษารายละเอียด เช่น ใบอนุญาตการทำงาน ภาษาถิ่น และกฎหมายแรงงานของประเทศนั้น
ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ยังระบุอีกว่า นอกจากความต้องการให้บัณฑิตมีงานทำตรงกับสาขาที่เรียนแล้ว รัฐบาล ยังเปิดกองทุนตั้งตัวได้ เพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตใหม่ ที่จบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้เปิดรับสมัคร ผ่านศูนย์บ่มเพาะ ใน 56 แห่งทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และไม่มีกำหนดการปิดรับสมัคร
by Wipa