ระบบการศึกษาเหลื่อมล้ำ ทำคุณภาพชีวิตตกต่ำ เศรษฐกิจโตช้า
แม้โอกาสทางการศึกษาจะสามารถช่วยยกระดับชีวิตของคนในประเทศได้ แต่หากการศึกษามีความเหลื่อมล้ำ ย่อมทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมในอนาคตได้มากเช่นกัน เพราะคนที่ได้รับการศึกษาน้อยก็จะขาดโอกาสในการเข้าถึงงานที่ดีมีรายได้สูง
ขณะที่คนรวยจะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยสูงมาก ทั้งยังส่งผลไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
จากข้อมูลผลสำรวจของเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม หรือ SIRNET ที่เผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ามีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น และยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า มีเด็กชั้น ม.3 เลิกเรียนกลางคันสูงขึ้น และมีนักเรียนชั้น ม.6 เพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญา นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังส่งผลไปถึงการสูญเสียงบประมาณด้านการแพทย์ และเกิดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนระบบการศึกษาไทยที่ยังเดินมาไม่ถูกทางนัก แม้รัฐบาลจะมีการทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาลงไปมากมายก็ตามและนำมาสู่การจัดโต๊ะกลมเสวนาในหัวข้อ จน-รวย ในโรงเรียน สู่ระบบการศึกษาที่มองเห็นความเหลื่อมล้ำ โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมพูดคุยหาทางออกร่วมกัน
"แบ๊งค์ งามอรุณโชติ" นักวิชาการเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNET) อธิบายถึงงานวิจัยด้านสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย จากการทำงานวิจัยร่วมกับ "ถิรภาพ ฟักทอง" ว่าภาพรวมปัจจุบันแม้ว่าคนรุ่นใหม่ใช้เวลาเรียนมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ แต่ช่องว่างระหว่างคนที่ได้รับการศึกษาสูงสุดกับต่ำสุดยังห่างกันมากเช่นเดิม ทั้งนี้ เด็กผู้ชายเรียนน้อยกว่าผู้หญิง เด็กภาคอีสานเรียนน้อยที่สุด เทียบกับภาคอื่น และเด็กในชนบทเรียนน้อยกว่าเด็กในเมือง ปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มประชากรไทยยังคงดำรงอยู่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข
"ผลสำรวจพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วประชากรเพศชายมักจะมีจำนวนปีการศึกษาน้อยกว่าประชากรเพศหญิงราว 1 ปีครึ่ง และครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและผู้ใช้แรงงานในภาคอุตฯจะมีระดับการศึกษาของสมาชิกในครัวเรือนต่ำกว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพในสายงานวิชาชีพ วิชาการ และนักบริหารอยู่ 3-4 ปีครึ่ง ซึ่งความเหลื่อมล้ำนั้นมีมากที่สุดสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง นอกจากนี้ คนทำงานที่มีอายุมากขึ้นจะเรียนต่อน้อยลง และมีค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่หากหัวหน้าครอบครัวมีการศึกษาสูงรายได้ครัวเรือนก็สูงขึ้นด้วย ทำให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมมีค่าลดลง"
นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ 20% ของงบประมาณรวม ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในขณะที่เด็กเล็กควรได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาที่มากกว่า เนื่องจากจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงในการต่อยอดทางการศึกษาและความคิด แต่เด็กเล็กกลับได้รับการสนับสนุนงบประมาณต่อปีเฉลี่ย 24,066 บาทต่อคน ขณะที่นักศึกษาได้รับเงินเฉลี่ย 34,416 บาทต่อคน ทั้งที่มีเด็กเพียงร้อยละ 54.8 มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
โดยเขาให้ข้อเสนอแนะเบื้องต้นว่า รัฐบาลควรเน้นหนักให้ความสำคัญกับเพศ พื้นที่ และกลุ่มอายุที่ปัจจุบันยังมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่าเทียมหรือด้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา รวมถึงสร้างระบบความรับผิดรับชอบที่ดี และกระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมกันในการจัดการการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ด้านผู้เข้าร่วมเสวนาอย่าง "สุริยนตร์ โสตถิทัต" ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ได้สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเหตุให้หลงเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า มีผลมาจากครอบครัว สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ
"เด็กส่วนใหญ่ที่กระทำผิดจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จึงอยากให้มีการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่อยู่นอกเขตเทศบาลมากขึ้น และอยากให้เปลี่ยนทัศนคติกับเด็กกระทำความผิดไม่ใช่กลุ่มเด็กเลวร้าย และควรให้การศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้นเพื่อลดอัตราการกระทำผิด"
ด้านประเด็นความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติศาสนา "ยงยุทธ เกตุเลขา" ตัวแทนจากกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ เล่าถึงกรณีโรงเรียนวัดหนองจอกที่เคยมีเหตุการณ์ห้ามนักเรียนแต่งกายตามหลักการทางศาสนาเข้าในโรงเรียน โดยโรงเรียนอ้างว่าเป็นการแต่งกายผิดระเบียบ และห้ามโรงเรียนสอนวิชาศาสนาอิสลามและยกเลิกพื้นที่ละหมาด
"เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงมีการดำเนินการผ่านกระบวนการทางยุติธรรม และสรุปออกมาชัดเจนว่ามีระเบียบที่อนุญาตให้
แต่งกายได้ทั่วประเทศ และแจ้งทาง ผอ.และครูว่าต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมให้เด็กได้เข้าเรียนตามปกติ กรณีนี้เป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษา"
"น.พ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย" ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ IHPP กล่าวถึงปัญหาสุขภาพและร่างกายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กพิการไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ คือปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยเรื่องกายภาพมากกว่าทางสมอง ซึ่งพบว่าในโรงเรียนไม่มีทางลาดหรือลิฟต์อำนวยความสะดวกให้กับเด็กพิการ มองว่าเป็นปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมมากกว่าความเหลื่อมล้ำ
"ปัญหาทางสุขภาพของเยาวชนไทยมาจากเรื่องทักษะชีวิต เกิดปัญหายาเสพติด ความรุนแรง ท้องไม่พร้อม อายุโดยเฉลี่ยของแม่ลดน้อยลง ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้พ่อแม่ต้องทิ้งลูกเพื่อออกมาทำงาน ที่พึ่งของคนรุ่นนี้คือโรงเรียน แต่ในโรงเรียนธงของการพัฒนาเป็นการแสวงหาผู้ชนะ การปรับเป้าหมายการเรียนรู้ให้มีทักษะชีวิตที่ดีมากกว่าความรู้ด้านวิชาการ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา"
โดยตัวแทนภาครัฐบาล "ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย คือ ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบายทางการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดี เพียงแต่ต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่างบประมาณดังกล่าวได้นำไปใช้ให้ถูกทางหรือไม่ รวมถึงในเรื่องกรอบความคิดเรื่องการแข่งขัน การเคลื่อนย้ายเด็กชนบทมาเรียนในเมือง พบความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่เป็นเรื่องใหญ่มาก และจะรับเอาประเด็นปัญหาเหล่านี้ไปนำเสนอเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
ทั้งหมดจึงเป็นการสะท้อนความเหลื่อมล้ำจากหลากหลายมุมที่ยังรอวันรับการแก้ไข เพื่อสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคม