นศ.มทร.ธัญบุรี คว้าแชมป์แกะสลักหิมะนานาชาติ
"การฝึกจนชำนาญ จะเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ศิลปะไม่ได้มีเทคนิคตายตัว เราสามารถปรับได้" น้ำเสียงมั่นใจของ 4 หนุ่ม คว้ารางวัลชนะเลิศ First Prize จากการแข่งขัน in the Fifth 2013 International Collegiate Snow sculpture Contest ณ มหาวิทยาลัย Harbin Engineering University (HEU) ณ มหาวิทยาลัย Harbin Engineering University (HEU) เมืองฮาร์บิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วย "อั๋น" นายจักรกฤษ ผิวจันทร์ "บีม" นายไพบูลย์ งามวงษ์ "โอ๊ด" นายสาธิต กระเทศ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นายสาธิต กระเทศ (อาทร์) และ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 58 ทีม จาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โปรแลนด์ จีน รัสเซีย มาเลเซีย ยูเคน อินโดนีเซีย และไทย
4 หนุ่ม เล่าว่า "สุพรรณหงส์" ผลงานที่รังสรรค์ด้วยการแกะหิมะ สูง 3.50 เมตร กว้าง 3 เมตร โดยบนตัวของสุพรรณหงส์ยังมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิน แนวความคิดในการรังสรรค์ผลงาน เนื่องจากสุพรรณหงส์มีรูปโฉมงดงาม เป็นพาหนะขององค์เทพ มีความงดงามดุจนางฟ้า ผู้ใดที่ได้ยลโฉมเป็นอันต้องหลงใหล และยังเป็นสัญลักษณ์ "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความสง่า โดดเด่นในตัวไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ รูปทรง ที่เชิด พ่ายปีก แอ่นสง่า พร้อมที่จะขยับอยู่ตลอดเวลา
โดยทางมหาวิทยาลัยจะเข้าร่วมในการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว แต่เนื่องจากติดปัญหาน้ำท่วม ปีนี้มีความพร้อมจึงตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด โดยส่งผลงานสเก็ตภาพไปพร้อมใบสมัคร ในการแข่งขันจะมีการตั้งโจทย์ ในผลงานต้องมีความเสี่ยง "ความหวาดเสี่ยว มีส่วนเว้าส่วนโค้ง ความบางที่สุด บวกกับความคิดสร้างสรรค์" และในการแกะสลักหิมะต้องแกะสลักหิมะออกจากก้อนไม่เกิน 30 %
ก่อนที่จะออกเดินทางสู่สนามการแข่งขันจริง มีการเตรียมตัวและวางแผนงาน "ประติมากรรม" จะสอนใน เรื่องของการปั้น แกะ หล่อ เชื่อม ซึ่งการแกะเป็นเรื่องที่มีความรู้พื้นฐาน แต่การแกะสลักหิมะไม่เคยแกะ ซึ่งทางทีมได้มีการเตรียมตัวโดยหาวัสดุที่มีความใกล้เคียงหิมะ ฝึกแกะโฟม แกะปูนทราย รายละเอียดเล็กน้อยที่มีความละเอียดมากฝึกแกะจากดินน้ำมัน ลักษณะพิเศษของหิมะ มีความนุ่มและอ่อนตัว มีความคล้ายโฟม แต่แตกต่างในเรื่องของมวลน้ำหนัก จากที่ได้เรียนประติมากรรมมา "การปั้น" คือการเพิ่มเข้าไปเท่าไรก็ได้ จากนั้นปั้นให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ "การแกะ" คือ การเอาออก เมื่อเอาออกแล้วเพิ่มไม่ได้ ซึ่งในการแกะต้องอาศัยความแม่นย้ำ "ทุกสิ่งที่แกะต้องไม่มีความผิดพลาด"
3 วันที่ได้ลงสนามจริง นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในผลงานมากที่สุด ระหว่างทำงานต้องคุยต้องเตือน มีอะไรต้องพูดต้องฟัง และนำคำแนะนำของเพื่อนทีมในมาใช้ "เครื่องมือที่ใช้ต้องใช้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อความสะดวกในการทำงานให้ทันกับเวลา แต่ต้องอาศัยเทคนิคที่ได้ฝึกมา" ตอนแรกที่ถึงสนามแข่งขันตื่นเต้นมาก แต่ทุกสิ่งทุกขั้นตอนได้มีการวางแผนงานไว้แล้ว เริ่มงานด้วยการขึ้นฟอร์มรูป ในลักษณะรูปทรงของเรขาคณิต จากนั่นเริ่มเกลาลงรายละเอียดเดินลายตามที่ได้สเก็ตภาพไว้ เพิ่มเติมเทคนิคพิเศษ "เทคนิคการต่อหิมะด้วยน้ำ" ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษที่ทีมคิดขึ้น สร้างความประหลาดใจให้กับทีมอื่น อุปสรรคในการทำผลงาน คงหนีไม่พ้น "ความเย็น" ซึ่งติดลบถึง 30 องศาเซลเซียส ในระหว่างที่แกะสลักหิมะจะคำนึงว่าต้องใช้หิมะให้คุ้มที่สุด และที่สำคัญมุมของแสงที่ตกกระทบ เมื่อส่องมาที่ผลงานของพวกเรา
ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการแกะสลักหิมะ ได้เจอเพื่อนต่างสถาบัน ที่มีใจรักในศิลปะแขนงด้วยกัน ได้เจอเทคนิคต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ ความสามัคคีในทีม การฝึกฝนฝีมือใหม่ๆ จากสนามแข่งจริงขอบคุณทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อธิการบดีที่ให้การสนับสนุน เห็นความสำคัญว่าศิลปะเป็นส่วนสำคัญของการเรียน ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เข้าร่วมแข่งขันในเวทีนานาชาติ ขอบคุณ ผศ.นฤพนธ์ บูรณะบัญญัติ ผศ.ดร.ไชยพจน์ หวลมานพ อาจารย์ดิษฐวัฒน์ อินนุพัฒน์ อาจารย์ที่คอยให้คำแนะนำและให้ดูแลตลอดการแข่งขัน และอาจารย์ทุกท่านในคณะศิลปกรรมศาสตร์ รุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ช่วยกันเตรียมงานก่อนเดินทางไปแข่งขัน
"คน เราต้องเป็นเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ต้องรอสิ่งมาเติมเต็มตลอดเวลา ถ้าทำตัวเหมือนน้ำที่เต็มแก้ว เมื่อมีน้ำเทลงมาก็ล้น อย่าไปคิดว่าตัวเองเก่ง ต้องคอยหาความรู้ให้ได้มากที่สุด ถ้ารักในสิ่งที่ทำ ต้องทำให้ถึงที่สุด การทำงานศิลปะต้องตั้งใจทำ แล้วทุกอย่างจะเข้ามาในชีวิต ในการศึกษาในแขนงที่เรารัก อย่าไปคิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ทุกคนมีความเก่งและมีความสามารถ เพียงอย่าย่อท้อต่อสิ่งที่เป็นอุปสรรค" ทั้ง 4 กล่าวทิ้งท้าย